เหลือเวลาอีกเพียง 2 สัปดาห์ก่อนที่การเลือกตั้งกลางเทอมของอเมริกาจะมาถึง ด้วยปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์อาจทำให้ชาวอเมริกันเทคะแนนเสียงไปให้กับพรรคฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลชุดปัจจุบันอย่างพรรคเดโมแครตของนายโจ ไบเดน
ถึงแม้ว่าการเลือกตั้งในรอบนี้จะไม่ได้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง (เพราะ โจ ไบเดน ยังอยู่ไม่ครบวาระ) แต่ก็ถือเป็นการเลือกตั้งที่สำคัญไม่แพ้กัน เพราะการที่พรรคเดโมแครตของเขาจะได้ครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาหรือไม่นั้นจะส่งผลโดยตรงต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาลของไบเดนในอีก 2 ปีที่เหลือ
เรื่องราวของเศรษฐกิจภายในร่มเงาของ โจ ไบเดน ที่เขาต้องฟันฝ่าปัญหาโรคระบาดร้ายแรงอย่างโควิด-19 ปัญหาพิพาทกับจีน รวมไปถึงการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราเงินเฟ้อที่มากกว่า 8% นับเป็นสถิติที่สูงที่สุดในรอบกว่า 40 ปี ทำให้ชาวอเมริกันเดือดร้อน และเป็นเวลาหลายทศวรรษที่อัตราเงินเฟ้อไม่เคยลุกขึ้นมาคำรามและทำร้ายเศรษฐกิจได้เฉกเช่นดังปัจจุบัน มาวันนี้วันที่ต้นทุนในการใช้ชีวิตของพวกเขาสูงขึ้นอย่างมากและสิทธิ์ในการเลือกตั้งก็อยู่ในมือประชาชนชาวอเมริกันที่กำลังโกรธเคืองแนวทางแก้ปัญหาของรัฐบาล
นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของ โจ ไบเดน ในช่วงต้นปี 2021 เป็นตัวจุดชนวนให้อัตราเงินเฟ้อปะทุขึ้น ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์รัสเซียบุกยูเครน ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์จำเป็นพุ่งสูงขึ้นไปอีก เรื่องนี้ผู้สันทัดกรณีต่างวิเคราะห์ว่า ชาวอเมริกันผู้มีสิทธิเลือกตั้งอาจไม่เลือกให้เขาเป็นประธานาธิบดีต่ออีกสมัยก็เป็นได้
ตามรายงานของ Pew Research Center บริษัทวิจัยเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ระบุว่า ชาวอเมริกัน 4 ใน 5 ให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจ “เป็นอย่างมาก” และมีผลต่อการตัดสินใจว่าจะลงคะแนนเสียงให้ใคร และอีก 3 ใน 4 ระบุว่า มีความกังวลเป็นอย่างมากเกี่ยวกับราคาอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภค ดังนั้นโจทย์ที่นาย ไบเดน ต้องแก้ก็คือการที่จะต้องทำอย่างไรให้ชาวอเมริกันมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจมากกว่านี้
ผลลัพธ์ของ Bidenomics ในช่วงเวลาเกือบ 2 ปี นั้นไม่ได้มีแค่เรื่องเงินเฟ้อเท่านั้นที่รัฐบาลต้องเผชิญและแก้ไข แต่สิ่งที่พวกเขากำลังจะต้องเผชิญนั้นมีแต่เรื่องใหญ่ ๆ ให้ตามแก้ ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นมามีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของ “จีน” ที่เริ่มแผ่อำนาจในเชิงเศรษฐกิจไปยึดครองประเทศอื่นมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียใต้
นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศยังสร้างปัญหาให้กับการเกษตรและสภาวะอากาศของโลก ซึ่งเฉพาะในปีที่ผ่านมานายไบเดนได้ลงนามในร่างกฎหมายสำคัญ 3 ฉบับซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบโครงสร้างพื้นฐาน เซมิคอนดักเตอร์ และสิ่งแวดล้อม รวม ๆ แล้วรัฐบาลของนายโจ ไบเดน มีแผนจะใช้เงินกว่า 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
เมื่อนโยบายออกมาแบบนี้ ก็ชัดเจนว่าประธานาธิบดีคนปัจจุบันของอเมริกาตั้งใจที่จะผลักดันนโยบายด้านอุตสาหกรรมอย่างเต็มกำลัง ดังนั้นผลลัพธ์ที่ได้จะไม่เหมือนกับรัฐบาลอเมริกาในยุคที่ผ่าน ๆ มา นับตั้งแต่สภาคองเกรสให้น้ำหนักเรื่องเศรษฐกิจไปที่ผู้ผลิตรถยนต์และผู้ผลิตชิปของอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1980 อีกทั้งมีแววว่ารัฐบาลจะจัดสรรเงินอุดหนุนกว่า 180,000 ล้านดอลลาร์และเครดิตภาษีเพื่ออุดหนุนให้กับบริษัทในท้องถิ่นในอีก 5 ปีข้างหน้า
Bidenomics ได้รับการยกย่องในแง่ความตั้งใจและจุดมุ่งหมายที่อยากจะไปให้ถึง แต่แนวคิดการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศอาจทำให้อเมริกามีโอกาสริบหรี่ที่จะบรรลุเป้าหมายทางด้านเศรษฐกิจ ราวกับว่าเมื่อกำหนดจุดหมายปลายทางที่อยากจะไปได้ถูกต้องแล้ว แต่อเมริกากลับมัดขาของตัวเองไว้ก่อนจะออกเดินทางด้วยซ้ำ และสิ่งที่ต้องจ่ายสำหรับการทางเดินสู่เป้าหมายในครั้งนี้ก็แลกมากับภาระของประชาชนชาวอเมริกันและพันธมิตรของประเทศ
อเมริกานั้นต้องการรักษาความเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยีการผลิตชิปขั้นสูงเหนือจีน อุตสาหกรรมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์กำลังเติบโตขึ้นเมื่อความต้องการในด้านการทหารเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ และอาจกลายเป็นส่วนสำคัญเมื่อ AI เปลี่ยนรูปแบบของการทำสงคราม
ความกังวลอีกเรื่องคือการที่อเมริกาต้องพึ่งพาจีนในด้านพลังงานสีเขียวที่สำคัญ ๆ เช่น แบตเตอรี่ และในวันใดวันหนึ่งเรื่องนี้อาจทำให้สี จิ้นผิง สามารถยึดครองเศรษฐกิจของอเมริกาได้มากกว่าการที่ยุโรปต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติของรัสเซีย ซึ่งเหตุการณ์ในยุโรปสามารถพิสูจน์ให้เราเห็นได้ว่า อำนาจของวลาดิมีร์ ปูตินนั้นแข็งแกร่งเพียงใด
นายไบเดนต้องการจะปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่เคยถูกหมางเมินมานานอย่างอุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงการลดการปล่อยคาร์บอน เขาจะบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ได้ก็ด้วยเงินที่รัฐสนับสนุนผู้ผลิตและใช้แคมเปญกระตุ้นการรับรู้ของผู้คนอย่าง “Buy America” ที่ต้องการให้คนในประเทศและทั่วโลกหันมาใช้ของที่ Made in America ซึ่งพรรคเดโมแครตอาจหวังว่าการสนับสนุนการผลิตในประเทศและงานระดับกลางจะได้รับคะแนนเสียงในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง
แต่ปัญหาก็คือ การปกป้องผลประโยชน์ของชาติอาจเป็นดาบสองคม และกลายเป็นยาพิษที่ทำให้ทั้งองค์กรอ่อนแอ มันทำร้ายทั้งมิตรและศัตรู ทำลายพันธมิตรที่ซื่อสัตย์ของอเมริกา และสนับสนุนให้ผู้อื่นตอบโต้ด้วยความเมตตา
สหภาพยุโรปและเกาหลีใต้บ่นว่าคนที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าจะไม่ได้รับประโยชน์จากเงินอุดหนุนชุดใหม่ของอเมริกา ซึ่งจะสนับสนุนรถยนต์ที่ประกอบในอเมริกาเท่านั้น และอาจละเมิดกฎขององค์การการค้าโลก และสหภาพยุโรปกำลังเตรียมเงินอุดหนุนชิปของตัวเองซึ่งก็จะเข้าสูตรการที่ยุโรปแข่งขันกันเองกับอเมริกา
ความพยายามของอเมริกาที่จะทำให้ประเทศในแถบเอเชียหลุดพ้นจากร่มเงาอิทธิพลของจีน ผ่านกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก ซึ่งเป็นความคิดริเริ่มทางการค้าล่าสุดในภูมิภาคนี้ ก็ถูกล้มเลิกไปด้วยนโยบายกลับบ้าน คือทุกบริษัทที่เคยไปตั้งฐานการผลิตยังทวีปอื่น ๆ โดยเฉพาะเอเชีย จะได้รับการสนับสนุนทางการเงินทุนและภาษี เพื่อจูงใจให้บริษัทเหล่านั้นกลับมาตั้งฐานการผลิตยังประเทศบ้านเกิด และก่อให้เกิดการจ้างงาน อันคาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจของอเมริกาเดินหน้าต่อไปได้
อ้างอิง
https://www.economist.com/leaders/2022/10/27/the-risks-of-bidenomics-go-beyond-inflation
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ