ศาลสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สั่งให้ Penguin Random House (PRH) สำนักพิมพ์ใหญ่สุดในโลกและ Simon & Schuster ซึ่งเป็นคู่แข่งกัน ยุติการเดินหน้าข้อตกลงควบรวมกิจการมูลค่า 2,200 ล้านดอลลาร์ (ราว 83,600 ล้านบาท)
หลังพิจารณาตามข้อมูลของกระทรวงยุติธรรม (DoJ) แล้วว่า จะเป็นการผูกขาดอันส่งผลต่อตลาดหนังสือโดยรวมและต่อเนื่องไปอย่างเป็นระบบ
ทาง DoJ ประเมินว่า หากปล่อยให้ดีลลุล่วงสำนักพิมพ์ใหญ่ในสหรัฐฯ จะลดลงมาเหลือ 4 แห่ง และการรวมกันของ PRH กับ Simon & Schuster จะครองส่วนแบ่งตลาดมากถึง 49% และส่วนอันดับ 3 ก็ถือครองสัดส่วนอยู่ก็น้อยกว่า คิดเป็นไม่ถึงครึ่งหนึ่งของส่วนที่เหลือ
พร้อมกันนี้ยังจะทำให้สำนักพิมพ์ใหญ่ที่เกิดใหม่แห่งนี้มีอำนาจต่อรองในการคว้าสิทธิ์ผลงานของนักเขียนดัง ๆ เหนือสำนักพิมพ์ที่เล็กกว่าหรือสำนักพิมพ์อิสระ ผ่านการประมูลค่าตอบแทนล่วงหน้าให้นักเขียนกลุ่มนี้ ซึ่งได้ค่าตอบแทนล่วงหน้า 250,000 ดอลลาร์ (ราว 9.5 ล้านบาท) ขึ้นไป
นี่ยังทำให้ PRH กับ Simon & Schuster สามารถกำหนดตลาด และทำการตลาดล่วงหน้าได้ ขณะเดียวกันก็ทำให้ตลาดหนังสือลดความหลากหลายลงไป นักเขียนหน้าใหม่แจ้งเกิดยากขึ้น และตลาดหนังสือโดยเฉพาะนิยายต่าง ๆ ไม่เป็นตามแนวเรื่องที่ผู้อ่านอยากอ่านอีกด้วย
คำตัดสินดังกล่าวยังถือว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ชุดปัจจุบันของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ประสบความสำเร็จในการสกัดกั้นการผูกขาดตลาด การทุ่มตลาด และลดอิทธิพลในการกำหนดตลาด
ในกรณีของ PRH กับ Simon & Schuster คือการกำหนดเกณฑ์ค่าตอบแทนล่วงหน้าเพื่อโน้มน้าวให้นักเขียนดัง ๆ มาตีพิมพ์ผลงาน
สตีเฟ่น คิงส์ นักเขียนดังผู้แต่งนิยายสยองขวัญ-ระทึกขวัญเล่มดังมากมาย เช่น It กับ The Shining และยังเป็นแรงบันดาลใจให้เกิด Stranger Things ซีรีส์ดังระดับปรากฏการณ์ของ Netflix ให้ทัศนะว่า การควบรวมกิจการจะบ่อนทำลายตลาดหนังสือกับการแข่งขันกันสร้างผลงานของนักเขียน
และไม่ต่างจากการที่คู่สามี-ภรรยา แย่งสิทธิ์ในบ้านหลังเดียวกัน ดังนั้นเขาจึงเห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลครั้งนี้
สตีเฟ่น คิง
แม้ศาลมีคำตัดสินแล้ว และ สตีเฟ่น คิง ก็เห็นด้วย แต่ผู้บริหารของ PRH กับ Simon & Schuster ก็ค้านไปอีกทางว่า การควบรวมกิจการแบบนี้ไม่เกิดขึ้นบ่อย และจะส่งผลดีต่อตลาดโดยรวม เพราะทำให้นักเขียนมีเงินสำรองระหว่างเขียน และไม่ต้องกังวลเรื่องรายได้ จึงน่าจะผลักดันผลงานออกมาได้มากขึ้น
สำหรับกรณีการควบรวมกิจการครั้งนี้มีการสู้คดีกันมาตั้งแต่ปี 2021 ท่ามกลางความพยายามของสำนักพิมพ์ในการเพิ่มอำนาจต่อรองกับส่วนธุรกิจขายหนังสือผ่านช่องทางออนไลน์ของ Amazon
ส่วน PRH เป็นบริษัทในเครือ Bertelsmann ของเยอรมนี ที่เกิดจากการรวมตัวของ Penguin กับ Random House เมื่อปี 2013 อันเป็นที่มาของชื่ออักษรย่อทั้งสามตัว PRH นั่นเอง
ขณะที่ Simon & Schuster เป็นบริษัทใต้ชายคา Paramount ยักษ์อุตสาหกรรมบันเทิงและวงการโทรทัศน์ของสหรัฐฯ หรือ ViacomCBS ในปัจจุบัน
ผลการตัดสินดังกล่าวทำให้สำนักพิมพ์ในสหรัฐฯ ยังประกอบไปด้วย 5 สำนักพิมพ์ใหญ่ (Big 5) ได้แก่ PRH, Simon & Schuster, HarperCollins, Hachette Book Group และ Macmillan ซึ่งเมื่อนำสัดส่วนตลาดที่ Big 5 ถือครองอยู่มารวมกันจะคิดเป็น 90% ของตลาด
ดังนั้นจากนี้จึงต้องจับตาดูว่าจะเกิดดีลควบรวมกิจการหรือซื้อกิจการในกลุ่ม Big 5 ผ่านสูตรใดอีกหรือไม่/theguardian
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ