เดินทางเข้าสู่ปลายปี ซีซั่นแห่งการเฉลิมฉลองพักผ่อน เป็นช่วงเวลาทองสำหรับสินค้าของฝาก ที่ผู้คนจะจับจ่ายใช้สอยกันอย่างคึกคัก
เมื่อพูดถึงของฝาก แบรนด์ที่ไม่ว่าใคร ๆ ก็ต้องรู้จัก อย่าง “เจ้าสัว” สินค้าของดีประจำจังหวัด ที่เรามักเเวะซื้อในปั๊มน้ำมันระหว่างการเดินทาง
แต่น้อยคนจะรู้ว่าแบรนด์ “เจ้าสัว” อันมีภาพลักษณ์ดูดี โลโก้เป็นที่จดจำ เคยรีแบรนด์มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง อีกทั้งกว่าจะเกิดเป็นเจ้าสัวขึ้นมาได้ ต้องอาศัยการไม่ยอมเเพ้ของผู้ชายที่ชื่อ เพิ่ม โมรินทร์
- จุดเริ่มต้นของ “เจ้าสัว”
เจ้าสัว คือแบรนด์ที่มีขนมข้าวตังเป็นตัวชูโรง และมีจุดเริ่มต้นมาจากเมนูที่ไม่แตกต่างจากแบรนด์ของฝากแปรรูปทั่วไปนัก
จุดเริ่มต้นของแบรนด์เจ้าสัว เกิดจาก คุณเพิ่ม เเซ่เตีย (ภายหลังเปลี่ยนนามนามสกุลเป็น เพิ่ม โมรินทร์) แต่เดิมเปิดร้านขายของชำในกรุงเทพฯ แต่สุดท้ายร้านไม่สามารถไปต่อได้ และยังมีหนี้สินก้อนโตไว้อีก
จนต้องย้ายถิ่นฐานไปตั้งรกรากที่โคราช แล้วเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยการทำผลิตภัณฑ์แปรรูปจากหมู ซึ่งขณะนั้นก็ได้เล็งเห็นว่าชาวบ้านนิยมเลี้ยงหมู จึงเกิดความคิดนำเนื้อหมูมาแปรรูปเป็นหมูหยอง
เเต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้ต้องพับธุรกิจ แล้วเปลี่ยนไปขายน้ำหวานแทน แต่จนเเล้วจนรอดธุรกิจใหม่ของเขาก็ดูจะไม่เวิร์ก จนต้องยุติกิจการไปอีกรอบ
- ล้มเเล้วลุกเลย
ด้วยความเป็นคนไม่ยอมเเพ้ สไตล์คนจีนเสื่อผืนหมอนใบ ที่เข้ามาเเสวงหาโอกาสในแผ่นดินไทย คุณเพิ่มสู้หลังชนฝาอีกครั้ง ด้วยการไปยืมเงินลงทุนมาทำธุรกิจแปรรูปอาหารจากเนื้อสัตว์อีกรอบ คราวนี้เขาทำผลิตภัณฑ์ออกมาทั้งกุนเชียง หมูหยอง และหมูแผ่น เเละนั่นเป็นจุดเริ่มต้นก้าวแรกที่จะทำให้ชื่อของเจ้าสัวกลายมาเป็นที่รู้จักอย่างในปัจจุบัน
ปี 2501 เริ่มผลิตกุนเชียง หมูหยอง หมูแผ่น ส่งขายกรุงเทพฯ และปรับกลยุทธ์มาขายในโคราชแทน โดยตั้งร้านขายของฝากชื่อ “เตีย หงี่ เฮียง” และจดทะเบียนการค้าเป็น “ห้างหุ้นส่วน จำกัด เตียหงี่เฮียง” ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ซึ่งเริ่มขยับขยายด้วยการนำสินค้าไปวางขายตามแหล่งท่องเที่ยวมากขึ้นด้วย
และในปี 2520 ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตรา “สามดาว ขวานคู่” ภายใต้สโลแกน “เตียหงี่เฮียง สุดยอดของฝากจากโคราช รับประทานเองก็ถูกปาก เป็นของฝากก็ถูกใจ” ก่อนจะเปลี่ยนครื่องหมายการค้าเป็น “เจ้าสัว” ในปี 2541
- เจอวิกฤตต้มยำกุ้งก็ยังขายดี
สินค้าของเจ้าสัวขายดิบขายดี แม้แต่ในปีที่ไทยเผชิญวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่ “ข้าวตังเจ้าสัว” กลับโตสวนกระเเส เรียกว่าเป็นสินค้าแจ้งเกิดของเจ้าสัวเลยก็ว่าได้ นอกจากจะได้รับความนิยมในประเทศเเล้ว ยังถูกปากชาวต่างชาติอีกด้วย ซึ่งทำให้ข้าวตังเจ้าสัวได้ส่งออกไปขายยังฮ่องกง
และนั่นทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดด จนบริษัทฯ ได้สร้างศูนย์จำหน่ายสินค้า “ศูนย์เจ้าสัว” บริเวณริมถนนมิตรภาพขึ้น
- เผชิญวิกฤตระลอกใหญ่เมื่อโควิดมาเยือน
แต่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา วิกฤตโควิดมาเยือน เจ้าสัวก็โดนผลกระทบอย่างรุนแรงไม่ต่างจากธุรกิจอื่น ๆ ช็อปในปั๊ม ปตท. จากเดิมที่มีอยู่ 100 ถูกปิดเหลือ 80 สาขา และที่สำคัญกำไรร่วงมากถึง -56.6%
ซึ่งในเวลานั้นเจ้าสัวอยู่ในมือของทายาทรุ่นที่สาม คุณณภัทร โมรินทร์ กลายเป็นโจทย์ท้าทายอย่างมากในการทำให้แบรนด์ไปต่อได้
ในตอนนั้นเจ้าสัวจึงปรับเปลี่ยนภาพจำใหม่ จากสินค้าของฝากเป็นขนมขบเคี้ยวที่สามารถหยิบรับประทานง่าย รับประทานได้ตลอดเวลา โดยปรับแพ็กเกจจิ้งให้ทันสมัยและหรูหรามากขึ้น ทั้งข้าวตังกล่อง หมูแผ่นกล่อง กุนเชียงกล่อง หมูหยองกล่อง และธัญทิพย์ซอง
รวมถึงขยายตลาดสู่ Traditional trade และ Modern Trade มากขึ้น และดูจะมาถูกทิศทาง เพราะในปี 2564 รายได้เพิ่มกลับมา 17%
อ่านเพิ่ม: “เจ้าสัว” จากร้านขายของฝากที่โคราช สู่แบรนด์ข้าวตังรายได้พันล้าน
อ่านเพิ่ม: “เจ้าสัว ข้าวตังมินิ” ลุยตลาดขนมขบเคี้ยว สลัดภาพจำเป็นของฝาก
อย่างไรก็ตาม ตลาดขนมของฝากยังไม่กว้างใหญ่พอให้เติบโต แบรนด์จึงเริ่มมองหาตลาดใหม่
อย่างตลาดขนมขบเคี้ยวที่มีมูลค่าราว 4 หมื่นล้านบาท โดยจะแบ่งลุยตลาดเป็นขนมประเภทเนื้อสัตว์แปรรูปและขนมประเภทแครกเกอร์จากข้าว
ปัจจุบันเจ้าสัวมีสินค้าอยู่ราว 300 SKU ด้านการส่งขายต่างประเทศ ประกอบด้วย ฮ่องกง จีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และยุโรป
- ทราบหรือไม่ เจ้าสัว รีเเบรนด์มาแล้วถึง 4 รอบด้วยกัน
- ปี 2520 จำหน่ายสินค้าภายใต้แบรนด์ “สามดาว ขวานคู่” กับสโลแกน “เตียหงี่เฮียง สุดยอดของฝากจากโคราช รับประทานเองก็ถูกปาก เป็นของฝากก็ถูกใจ”
- ปี 2526 เปลี่ยนโลโก้เป็นรูปป้ายแขวนแบบจีน ที่มีตัวอักษรจีน คำว่า “เตีย-หงี่-เฮียง”
- ปี 2539 เปลี่ยนโลโก้เป็นคำว่า “เจ้าสัว” และ “เตีย หงี่ เฮียง” ประกบข้างใต้
- ปี 2552 เปลี่ยนโลโก้เป็นคำว่า “เจ้าสัว” อย่างเดียว ปรับบรรจุภัณฑ์ใหม่ให้ทันสมัยมากขึ้น พร้อมกับตั้งสโลแกนใหม่ “คุณค่าในทุกโอกาส”
เจ้าสัว ฝ่าวิกฤตอย่างไร ยอดขาย กำไรเพิ่มทุกปี |
รายได้ | กำไร | |
2562 | 853 | 100 |
2563 | 934 | 43 |
2564 | 1,036 | 92 |
มูลค่าตลาดขนมขบเคี้ยว (ตัวเลข ณ ปี 64) 45,338 ล้านบาท |
ข้อมูล: เจ้าสัว, Marketeer รวบรวม
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



