จำนวนประชากรโลก แตะ 8,000 ล้านคน อีกนานจึงทะลุหมื่นล้านคน

สถานการณ์ด้านประชากรของโลกได้ดำเนินมาถึงหมุดหมายสำคัญอีกครั้ง โดยสหประชาชาติ UN ประเมินว่าวันนี้ (15 พฤศจิกายน 2022) คือวันที่โลกมีประชากรถึง 8,000 ล้านคน เพิ่มจาก 7,000 ล้านคนเมื่อปี 2010 ซึ่งถือว่ามาไกลมากจาก เพียง 2,500 ล้านคนเมื่อยุค 50

ทว่าการเพิ่มดังกล่าว ซึ่งสหประชาชาติประกาศให้เป็นวันแห่ง 8,000 ล้าน (Day of 8 Billion)  ก็มาพร้อมตัวเลขสำคัญที่ลดลง

ปีนี้อัตราการเกิดของประชากรโลกโดยเฉลี่ยลดลง โดยผู้หญิง 1 คนให้กำเนิดเด็ก 2 คน หรือบวก-ลบกว่านั้นอีกเล็กน้อย ลดลงอย่างมากจากอัตราการเกิด ผู้หญิง 1 คนต่อเด็ก 5 คนเมื่อยุค 50

การเกิดที่ลดลงนี้มาจากหลายสาเหตุประกอบกัน เริ่มจากระดับการศึกษาที่สูงขึ้น และการวางแผนครอบครัว แต่ขณะเดียวกันก็เกิดจากสวัสดิการสังคมที่ยังไม่ทั่วถึง และสภาพเศรษฐกิจที่ทำให้ผู้หญิงต้องอยู่ในตลาดแรงงานแทนการให้กำเนิดบุตรและอยู่บ้านเลี้ยงลูกอย่างเดียวเหมือนในอดีต

ข้อมูลจากสหประชาชาติยังระบุด้วยว่า ปีนี้คนอายุยืนขึ้น โดยอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 71 ปี 7 เดือน และปี 2023 จะอายุยืนขึ้นอีก เพิ่มเป็น 73 ปี 4 เดือน ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากคุณภาพชีวิตที่ดีและพัฒนาการของเทคโนโลยีการแพทย์นั่นเอง

ทว่า นี่ก็ส่งผลให้ประชากรสูงวัยอายุ 65 ปีขึ้นไปเพิ่มเป็น 9.8% ต่อสัดส่วนประชากรโลกทั้งหมด เพิ่มจาก 7.7% เมื่อปี 2010 โดยกลุ่มประเทศรายได้สูงมีมากถึง 19.2% ต่อสัดส่วนประชากร ซึ่งกระทบต่อเนื่องให้รัฐบาลต้องจัดงบดูแลผู้สูงอายุ และธุรกิจดูแลผู้สูงอายุเฟื่องฟู

ส่วนประเทศที่ประชากรมากสุดในโลก ยังคงเป็นจีน โดยปีนี้ จีนมีประชากรอยู่ที่ราว 1,400 ล้านคน มากกว่าอินเดีย ซึ่งตามมาในอันดับ 2 อยู่เล็กน้อย ส่วนอันดับที่เหลือในกลุ่ม Top 5 คือ สหรัฐฯ อินโดนีเซีย และปากีสถาน

แต่นับจากปีหน้า อินเดียจะแซงจีนขึ้นเป็นประเทศประชากรมากสุดในโลก เนื่องจากอินเดียยังคงมีอัตราการเกิดที่สูง สวนทางกับจีนที่อัตราการเกิดลดลง แม้รัฐบาลพยายามกระตุ้นคู่สมรสให้มีบุตรเพื่อเพิ่มคนวัยทำงานเพื่อพัฒนาประเทศ

สหประชาชาติคาดว่าในอนาคตอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกจะยิ่งช้าลงอีกและใช้เวลานานขึ้นกว่าจะเพิ่มขึ้นถึงหลักพันล้านคนในรอบหน้า โดยปี 2037 หรืออีก 15 ปีจากนี้ ถึงจะเพิ่มเป็น 9,000 คน ซึ่งนานกว่าจาก 7,000 ล้านคนเป็น 8,000 ล้านคน ที่ใช้เวลา 12 ปี 

และต้องรอถึงปี 2058 หรืออีก 36 ปีจากปัจจุบันกว่าที่ จำนวนประชากรโลก จะเพิ่มเป็น 10,000 ล้านคน และเมื่อถึงเวลานั้น 5 อันดับประเทศที่มีประชากรมากสุดคือ อินเดีย จีน สหรัฐฯ ไนจีเรีย และปากีสถาน

และเมื่อถึงเวลาดังกล่าวประชากรอินเดียจะเพิ่มเป็นราว 1,600 ล้านคน และจีนจะลดลงมาอยู่ที่ราว 1,300 ล้านคน

ประเด็นที่ต้องจับตามองจากนี้คือ ธุรกิจที่เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ การเคลื่อนย้ายของแรงงานจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง โดยเฉพาะจากประเทศรายได้ต่ำไปยังประเทศที่มีรายได้สูงที่ประชากรสูงอายุมากจนคนวัยทำงานน้อยลง ๆ เช่นที่กำลังเป็นปัญหาอย่างมากในญี่ปุ่นขณะนี้

ดังนั้นแต่ละประเทศจึงต้องวางแผนและดำเนินนโยบายเพื่อรับมือกับปัญหาด้านประชากรไปพร้อม ๆ กับรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

อีกประเด็นที่น่าติดตามในอนาคตคือ การขับเคี่ยวกันระหว่างสองยักษ์เอเชียอย่างอินเดียกับจีน เพราะ ณ เวลานั้นจีนคงเป็นมหาอำนาจโลกอย่างเต็มตัว ด้วยความถึงพร้อมในทุก ๆ ด้าน ยกเว้นเรื่องประชากร

แต่อินเดียก็อาจกลายเป็นโรงงานโลกแห่งใหม่ต่อยอดจากการเป็นสำนักงานโลก (จากการเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยธุรกิจ Outsource) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่สามารถป้อนคนวัยทำงานเข้าระบบและสายการผลิตได้ถึงปีละ 12 ล้านคน

สำหรับไทย ตามคาดการณ์ของสหประชาชาติ ระบุว่าปี 2029 ประชากรจะลดลง/nikkei

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online