วันนี้ดรีมเวิลด์ รอดแล้ว
เสียงหัวเราะ เสียงกรี๊ดดด..ด้วยความสนุกจากเครื่องเล่น ดังมาอย่างต่อเนื่อง ต่างจากความเงียบเหงาไร้เสียงผู้คนเมื่อปีที่ผ่านมาอย่างสิ้นเชิง
ถึงแม้วิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทำให้พัณณิน กิติพราภรณ์ ยื้อโรงละครสยามนิรมิต กรุงเทพ ที่สร้างชื่อเสียงของความเป็นโชว์ไทยที่สวยงาม ทันสมัย ที่ชาวต่างชาติชื่นชมมานาน ไว้ไม่ได้
แต่ภาพรอยยิ้มของลูกค้าที่เกิดขึ้น ทำให้เธอมีพลังที่จะขับเคลื่อนความสุขของผู้คนในโครงการที่เหลือต่อไป
ทั้ง ๆ ที่การทำสวนสนุกเป็นศาสตร์ของการทำธุรกิจที่ยากมาก ๆ
พัณณิน กิติพราภรณ์ เจ้าของและกรรมการผู้จัดการสวนสนุกดรีมเวิลด์ หรือ “คุณตุ๊กตา” บอกกับ Marketeer ว่า การตัดสินใจลงมาทำธุรกิจสวนสนุก เพราะความมั่นใจว่าตัวเองมาจากครอบครัวที่ทำธุรกิจความบันเทิงและมีความรู้อยู่บ้างระดับหนึ่งแล้ว
เธอเป็นลูกสาวของไมตรี กิติพราภรณ์ อดีตเจ้าของโรงภาพยนตร์ชื่อดังหลายแห่ง เช่น พาราเมาท์-ฮอลลีวู้ด-โคลีเซียม
แต่ตลอดระยะเวลา 40 กว่าปีผ่านไป ต้องยอมรับว่าความรู้ที่มีไม่พอ ยังน้อยกว่าความเป็นจริงมากนัก หลายครั้งของการทำธุรกิจถึงได้เหนื่อย และยากจริง ๆ
“เเต่รอยยิ้มของลูกค้าคือความสุขที่ทำให้เรามีพลังสู้ต่อ เป็นกำไรที่ไม่ใช่เม็ดเงิน คิดง่าย ๆ ถ้าสวนสนุกทำไม่ยาก และได้กำไรมหาศาล ป่านนี้เมืองไทยคงมีหลายแห่ง เห็นมีแต่ข่าวบอกว่ามีบางรายจะเข้ามาทำ หรือดิสนีย์แลนด์จะมา เเต่ถึงตอนนี้รายใหญ่มีเพียงสวนสยามและดรีมเวิลด์เท่านั้น จนคนทำอายุ 70 ปี 80 กว่าปีกันแล้วก็ยังไม่มีใครมา”
เมื่ออาจารย์มหาวิทยาลัยมาบริหารธุรกิจสวนสนุกของตระกูล
“ไม่เคยฝันว่าตัวเองโตขึ้นจะเป็นอะไร เพราะเราโตมาจากครอบครัวที่ทำโรงภาพยนตร์ ทำธุรกิจบันเทิงก็คิดแค่ว่าเราเป็นลูก ก็จะต้องมาช่วยพ่อแม่ ไม่เคยมีความฝันของตนเอง มีแต่ความรับผิดชอบว่าต้องช่วยครอบครัว”
จบระดับมัธยมที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย หลังจากนั้นก็บินไปศึกษาต่อต่างประเทศ ใช้เวลา 3 ปีกว่าจบปริญญาตรีด้านธุรกิจ แต่เปลี่ยนที่เรียนถึง 6 มหาวิทยาลัย Transfer Credit ไปเรื่อย ๆ เหตุผลเพราะอยากไปดูโน่นนี่ เช่น โรงเรียนอยู่ฝั่งตะวันออกนิวยอร์ก แต่ไม่เคยไปฝั่งตะวันตกแคลิฟอร์เนีย ก็อยากไป
อยากเรียนภาษาฝรั่งเศส ก็ไปฝรั่งเศส อยากหัดเล่นสกี ก็ไปลงเรียน ก็เลยผจญภัยไปเรื่อย ๆ แล้วก็ไปจบปริญญาโทที่ University of California, Berkeley ประเทศสหรัฐอเมริกา
กลับมาเมืองไทยในวัย 20-23 ปี ยังไม่ได้ช่วยที่บ้านทำธุรกิจทันที แต่ไปเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สอนอยู่ไม่นานก็มาช่วยคุณพ่อที่ตัดสินใจทำโครงการแดนเนรมิต ในที่ดินเช่าจำนวน 33 ไร่เยื้องกับศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว
งานหลักของเธอในช่วงนั้นคือ รับผิดชอบในการช่วยหาเครื่องเล่นใหม่ ๆ เข้ามา
“เราต้องเดาว่า จะเลือกเครื่องเล่นอะไรดี ลูกค้าจะชอบไม่ชอบแบบไหน เราไม่มีทางรู้ ต้องใช้ Gut feeling ล้วน ๆ โชคดีที่บ้านเราทำโรงหนัง ตอนเด็ก ๆ เลยดูหนังเยอะ แล้วก็เห็นว่าหนังแบบนี้คนไทยชอบ หนังแบบนี้ได้ตังค์ หนังแบบนี้ไม่ได้ตังค์ เหมือนเรียนรู้พฤติกรรมคนมาเรื่อย ๆ แต่บางครั้งก็ไม่รู้หรอกว่า รู้จริง ไม่จริง ก็เรียนรู้กันไปปรับกันไป ตัดสินใจผิดมาก็เยอะค่ะ”
แดนเนรมิตเปิดตัวให้บริการครั้งแรกในปี 2519
ในช่วงเวลานั้นกรุงเทพฯ มีสวนสนุกขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียวคือ แฮปปี้แลนด์ ย่านบางกะปิ ที่เปิดตัวเมื่อปี 2516 (ปิดตัวไปเมื่อปี 2522) ส่วนสวนสยามเปิดตัวเมื่อปี 2523 (ของเล่นบางอย่างรับซื้อมาจากแฮปปี้แลนด์ที่ปิดตัวไป)
ส่วนสวนสัตว์ซาฟารีเวิลด์ที่อาจจะไม่ได้เป็นคู่แข่งโดยตรงเปิดตัวเมื่อปี 2531
แดนเนรมิตซึ่งมาทีหลังในพื้นที่ใหญ่กว่า ของเล่นเยอะกว่า น่าตื่นตาตื่นใจ เลยประสบความสำเร็จอย่างมาก ถึงแม้จะอยู่ในย่านลาดพร้าวที่เมื่อ 50 ปีก่อนค่อนข้างเงียบเหงา แทบจะยังไม่มีรถเมล์วิ่งผ่าน (เซ็นทรัล ลาดพร้าว เปิดบริการเมื่อปี 2524)
ประกอบกับวิธีคิดทางการตลาดที่ใช้กลยุทธ์แบบมีโปรโมชันตลอด รวมทั้งมีการดึงวงดนตรีชื่อดัง และมีจัดประกวดต่าง ๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง
เรือไวกิ้ง รถไฟเหาะตีลังกา บ้านผี หรือ ปราสาทเจ้าหญิงนิทรา กลายเป็นดินแดนแสนสนุก ที่เด็ก ๆ อยากเข้ามาเยือนสักครั้งหนึ่ง
ดินแดนแห่งนี้ปิดตัวไปเมื่อปี 2543 จากการหมดสัญญาเช่าในพื้นที่
ดรีมเวิลด์ คือความฝันครั้งแรก แต่คือบทพิสูจน์ว่าความรู้ที่มีไม่เคยพอ
จากความสำเร็จของแดนเนรมิต คราวนี้พัณณินเริ่มมีความฝันที่จะเห็นสวนสนุกที่ใหญ่กว่าเดิม และรอยยิ้มของผู้คนที่มากขึ้น
ดรีมเวิลด์เปิดบริการเมื่อปี 2536 บนพื้นที่กว้างใหญ่ถึง 160 ไร่ บน กม. 7 รังสิตนครนายก (คลอง 3) จังหวัดปทุมธานี ในยุคนั้นการเดินทางไปโครงการค่อนข้างยาก ถ้าใช้รถสาธารณะต้องต่อกันหลายทอดทีเดียว
“หลายคนอาจจะมองว่าเราทำธุรกิจไม่ฉลาด ถ้าคิดจะรวยเรื่องอสังหาฯ อาจจะเขยิบไปไกลอีกสัก 2 คลอง ด้วยเงินเท่ากันก็จะได้ที่ดินมากขึ้น แล้วต่อไปอาจตัดแบ่งที่ดินขาย เเค่นั้นก็รวยเเล้ว แต่เราคิดว่าถ้าลูกค้าเดินทางไกลขึ้น ลำบากขึ้นเราก็คงไม่มีความสุข คือโฟกัสที่ทำสวนสนุกจริง ๆ ไม่ได้คิดว่าจะต้องพัฒนาที่ดินข้างเคียงไปด้วย”
ในช่วงเวลานั้นคลอง 3 พัณณินก็มีความคิดว่าไกลมากแล้ว แต่ก็มั่นใจว่าความกว้างขวางสวยงามของพื้นที่ ที่มีเครื่องเล่นใหม่ ๆ จะเป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดคนเข้ามาได้ และน่าจะใช้เวลาอยู่ได้นานขึ้น
เธอคิดผิด
การคมนาคมที่ไม่สะดวก ต้นไม้ที่เพิ่งปลูกและยังไม่โตพอที่จะสร้างความร่มรื่นสวยงาม ทำให้ดรีมเวิลด์ขาดทุนไม่ต่ำกว่า 5 ปี ต้องใช้สายป่านทางด้านการเงินจากผู้เป็นพ่อเข้ามาพยุงโครงการ รวมทั้งใช้แรงโปรโมต และการทำตลาดอยู่พักใหญ่จึงเริ่มจะอยู่ตัว
และทำให้ผู้หญิงคนนี้ฝันต่อ คราวนี้เธออยากสร้างโชว์ไทยให้ชาวโลกตะลึงในความวิจิตรสวยงาม และความทรงคุณค่าทางวัฒนธรรมไทย ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในการนำเสนอเพื่อให้เป็นโชว์วัฒนธรรมที่ดูโมเดิร์น แต่คงไว้ซึ่งความถูกต้อง
“คราวนี้เหนื่อยหนักเลยค่า (เธอลากเสียง) เพราะเป็นของใหม่อีกศาสตร์หนึ่งเลย”
ก่อนจะสร้างคิดอยู่ประมาณ 1 ปี กว่าจะสร้างอีก 2-3 ปี แก้เเบบกันเกือบ 1 ปี ออกมาไม่ใช่อีกก็ต้องแก้กันอีก เพื่อให้สมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่เหมือนดรีมเวิลด์ที่เปิดไปค่อย ๆ เติมไปได้ คือเราทำโจทย์ให้มันยากเอง อยากให้คนไทยได้ดู ตื่นเต้น รู้คุณค่าของที่มีอยู่แล้ว ในขณะเดียวกันก็ท้าทายให้คนต่างชาติดูแล้วประทับใจด้วย
“ตอนแรกคิดว่ารู้ 70-80% เดี๋ยวไปหาใหม่อีก 20-30% โห พอทำไป เพิ่งจะรู้ที่ว่ารู้ ๆ แค่ 20% เองต้องไปหาอีก 80% หลายครั้ง หลายจุดทำไปแล้วไม่ใช่ ไม่ถูกต้อง มีคนที่มีความรู้มาติง ก็ต้องอดทน ใจเย็น ๆ ค่อย ๆ แก้กันไปมากมายหลายจุด ทุกแห่งมีที่มามีเรื่องเล่าหมด ทำไมต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่หนักและเครียดมาก”
ลองแล้วลองอีกกว่าทุกอย่างจะลงตัว ต้นทุนก็เพิ่มไปเรื่อย ๆ
ในที่สุดสยามนิรมิต ในพื้นที่เช่า 24 ไร่ ตรงข้ามศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ที่ทุ่มทุนประมาณ 1.5 พันล้านบาท ได้เปิดการแสดงครั้งแรกเมื่อปี 2548 โดยได้รับการบันทึกจากกินเนสบุ๊ก ออฟ เวิลด์ เรคคอร์ด ว่าเวทีมีขนาดสูงและใหญ่ที่สุดในโลก
เสียงชื่นชมจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก การยอมรับที่เกิดขึ้นจากคนไทยด้วยกัน คือความสำเร็จที่เกิดขึ้น ทำให้เธอมั่นใจไปซื้อที่ดินเองเพื่อเปิดสยามนิรมิตใหม่ที่จังหวัดภูเก็ตอีกแห่งหนึ่ง
วิกฤตโควิด-19 ทำให้เบื้องหลังคนทำสวนสนุกต้องทุกข์อย่างหนัก
ในช่วงเวลานั้นธุรกิจของเธอทั้งดรีมเวิลด์ สยามนิรมิต 2 แห่ง และสวนสนุกขนาดเล็กในห้างสรรพสินค้าที่ก่อนโควิดมีเกือบ 200 แห่งต้องปิดตัวลง
พร้อม ๆ กับต้องรับผิดชอบพนักงานเกือบ 2,000 คน บางส่วนจำเป็นต้องให้ออก จ่ายค่าชดเชยกันไปตามกฎหมาย แต่บางส่วนต้องเก็บรักษาไว้เพื่อรอเวลาวันที่จะเปิดใหม่
ในช่วงเวลานั้นดรีมเวิลด์ยังต้องจ่ายค่าบำรุงรักษาเครื่องเล่นสูงมาก ถึงไม่มีคนเล่นเเต่ต้องเปิดทดลองเครื่องอยู่บ่อยครั้ง เเต่ละครั้งคือค่าใช้จ่ายจำนวนมาก
“เฉพาะเมืองหิมะค่าไฟเดือนหนึ่งหลายแสนเพื่อเก็บหิมะเอาไว้ ถ้าปล่อยให้ละลายไปก่อนแล้วค่อยมาทำใหม่ก็หลายล้านบาท”
วันที่ Marketeer นัดสัมภาษณ์ ดรีมเวิลด์ หัวใจหลักในการทำรายได้ เปิดมาได้ครบ 1 ปีพอดี หลังจากปิดต่อเนื่องมานาน บรรยากาศที่คึกคัก รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ เสียงกรี๊ดด้วยความสนุกจากเครื่องเล่นได้ยินตลอดเป็นระยะ
วันนี้ ดรีมเวิลด์ รอดแล้วจากจำนวนลูกค้าที่เข้ามาแม้นักท่องเที่ยวต่างชาติยังน้อยกว่าก่อนช่วงโควิดที่มีสัดส่วนเกือบ 20%
แต่ความร้ายแรงของโควิดทำให้เธอยื้อชีวิตของสยามนิรมิตกรุงเทพไว้ไม่ได้ จำใจต้องปิดโรงละครแห่งนี้อย่างถาวร เมื่อเดือนกันยายน 2564
“คือเหมือนจิตวิญญาณเราอยู่ที่นั่น แต่ก็ปลอบใจตัวเองว่าโอเคน่าเรายังมีสยามนิรมิตที่ภูเก็ต ถ้าไม่มีภูเก็ต คงเสียใจมากกว่านี้ เพราะว่าเราอายุปูนนี้แล้วคงไม่ลุกขึ้นมาสร้างกันใหม่ แล้วกว่าจะสร้างได้ มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำโชว์ที่ให้คนอื่นยอมรับว่าเป็นโชว์ที่ดีที่สุดในโลกโชว์หนึ่ง”
อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เธอยอมรับและนิ่งตั้งสติได้คือ
“ไม่ใช่ความผิดเรา ไม่ได้เกิดจากการที่เราบริหารงานผิดพลาด เลยไม่โวยวาย ไม่โทษใคร อีกอย่างคิดว่าเรายังรับไหว แต่ก็ต้องห่วงลูกน้องเป็นประเด็นแรกเลย ที่เริ่มเครียดจริง ๆ คือเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ซึ่งที่อื่นทยอยเปิดได้แล้ว ของเราเมื่อไหร่จะได้เปิดเสียที”
“แล้วตอนก่อนโควิดทุกคนฝันหวานเกี่ยวกับตัวเลขนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มดีมาก ก็เตรียมลงทุนเพิ่ม สร้างร้านอาหารเพิ่ม ซื้อรถเพิ่ม ซื้อโน่นนี่เพิ่ม พอจะเปิด อ้าว แล้วกัน บางอย่างยังไม่ได้ใช้เลย”
กำไรจะได้อยู่แล้วแต่ปรากฏว่าจนปิดตัวไปแทบจะยังไม่เห็นกำไร
“เก้าอี้ซื้อตัวละ 1,800 บาท เป็นเก้าอี้ที่นั่งสบายที่สุดในบรรดาโรงละครในประเทศไทย ขายได้ตัวละ 200 บาท ก่อนนั้นมีคนมาขอซื้อตัวละ 700 บาท พอถึงเวลาจริง ๆ โดนเท ไม่เอาแล้ว”
ถามว่าเสียดายอะไรที่สุดในโรงละครสยามนิรมิต กรุงเทพ
เธอบอกว่า บอกไม่ได้หรอก ทุกจุดมีเรื่องเล่า มีที่มาที่ไป มีความทรงจำมากมาย
เครื่องเล่นซื้อมาราคาเป็น 100 ล้าน เวลาขายชั่งกิโลขายเป็นเศษเหล็ก
อย่างที่เธอเคยพูดไปว่าการเลือกเครื่องเล่น การเดาใจลูกค้าเป็นเรื่องยาก และต้องแทงหวยให้ถูกตั้งแต่แรก ถ้าผิดตั้งแต่แรกก็จบ ไม่มีโอกาสกลับตัวแล้วเพราะราคาเครื่องเล่นแพงมาก
ปัญหาต่อไปคือการบริหารจัดการสวนสนุก ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ยากมาก ต้องบริหารจัดการบุคลากรหลายฝ่ายเพียงแค่วิศวกรก็มีตั้งหลายสาขา
และที่สำคัญทรัพย์สินต่าง ๆ ในโครงการถ้าเสียหาย หรือเลิกกิจการ ขายไม่ได้ราคาเลย
“ยังจำได้เลยมีเครื่องเล่น ซื้อมาราคาเป็น 100 ล้านนะ เเต่เวลาขายนี่คือชั่งกิโลขายเป็นเศษเหล็ก โอ้โห น้ำตาตกนะคะ”
โชคดีที่สวนสนุกเป็นธุรกิจที่ไม่ได้มีเทรนด์อะไรใหม่ ๆ มากมาย และยังไม่ต้องเจอปัญหาเรื่อง Technology Disruption มากนัก
“คุณอาจใช้เทคโนโลยีวีอาร์เล่นรถไฟเหาะอยู่กับบ้านก็ได้ แต่เชื่อว่าไม่สนุกเท่าเล่นของจริง ซึ่งเราอาจจะคิดผิดก็ได้ เป็นเรื่องที่ต้องคอยติดตามคิดค้นกันต่อไป แต่ถ้าต้องอินเทรนด์ตลอดเวลา คงเหนื่อย ที่ต้องเดาเทรนด์ เพราะทุกวันนี้เทรนด์สั้นลง ๆ แต่เครื่องเล่นที่เราเลือกมาเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วก็ยังโอเค เพียงแต่เราต้องบำรุงรักษาให้ดีตลอดเวลา”
อย่างรถไฟเหาะ ก็ไม่ใช่ของใหม่ แต่เป็นอะไรที่ตอบโจทย์ตั้งแต่รุ่นพ่อแม่มาถึงรุ่นลูกก็ยังสนุกได้อยู่
ดรีมเวิลด์เป็นสวนสนุกขนาดใหญ่ที่รับคนได้ประมาณ 1 หมื่นคนต่อวัน ปัจจุบันบางวันมีคนเข้ามาประมาณ 5 พันคน สามารถทำการตลาดได้อีกมาก
ในขณะที่วัยของลูกค้าเริ่มเปลี่ยนไป กลุ่มอายุกว้างขึ้น จากเด็กเล็ก ๆ กลายเป็นวัยรุ่นและพนักงานออฟฟิศที่เข้ามาเล่นเครื่องเล่นที่หวาดเสียวมาก ๆ มากขึ้น
“ดรีมเวิลด์อาจจะไม่มีปัญหา แต่สยามนิรมิตภูเก็ตที่เพิ่งเปิดไปเมื่อเดือนตุลาที่ผ่านมายังห่วงอยู่ ลูกค้ายังไม่พอ ต่างชาติยังน้อย ก็เป็นอะไรที่ต้องต่อสู้กันต่อไป ทำสวนสนุก ทำโชว์ ทำโรงละครมันยากมาก ๆ ๆ เหมือนต้องปีนเขาอยู่ตลอดเวลา วันนี้ อายุ 71 ปีแล้วยังต้องปีนเขาอยู่เลย”
เธอจบประโยคนี้ด้วยเสียงหัวเราะ ก่อนที่จะคุยกับช่างภาพ Marketeer ว่า ถ้าจะให้ถ่ายบนเครื่องเล่นขอไปเล่นเรือไวกิ้ง เครื่องเล่นที่เธอชอบ และบอกว่าเวลามันโยนขึ้นไปสูงกว่า 10 เมตรนั้นและเหวี่ยงกลับลงมานั้น หวาดเสียวมาก ๆ
เป็นประสบการณ์ความสนุกที่ไม่ควรฟังแค่เรื่องเล่า แต่ควรลองด้วยตัวเอง และนี่คือเสน่ห์ของสวนสนุก ที่ใคร ๆอยากเข้ามาลองเล่นสักครั้ง
เเต่คงหาคนมาลองทำเป็นเจ้าของเองไม่ง่ายนัก
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



