คมสันต์ ลี CEO Flash Group ในวันที่ความฝันเริ่มเดินช้าลงแล้ว

2022 เป็นปีที่ไม่เหมือนอย่างที่คิดไว้ และทำให้เป้าหมายที่วางไว้ล่าช้าไปจากเดิม

คมสันต์ ลี  CEO Flash Group กล่าว

เป้าหมายที่คมสันต์ ลี วางไว้คือ พา Flash Express ขึ้นเป็น 1 ใน 3 ของอาเซียน ผ่านเครือข่ายให้บริการ 10 ประเทศ ภายในปี 2025 

ซึ่งตามเป้าหมายเดิมปีนี้  Flash Express จะต้องขยายไปยัง 2 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์และเวียดนาม เติมจิ๊กซอว์ให้กับโครงข่ายธุรกิจโลจิสติกส์ จากเดิมที่ให้บริการในไทย ลาว ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย

แต่ในปีนี้คมสันต์กล่าวว่า Flash Express จำเป็นต้องเลือกขยายเพียง 1 ประเทศ ไม่สิงคโปร์ก็เวียดนาม

 

เหตุผลที่ Flash Express จำเป็นต้องก้าวขาให้ช้าลงมาจาก

ในปี 2021 เป็นปีที่ Flash Express มีรายได้กว่า 16,700 ล้านบาท และมีกำไร 6 ล้านบาท ถือเป็นกำไรครั้งแรกของธุรกิจ ซึ่งเกิดจากอีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างก้าวกระโดดถึง 200%

ในช่วงเวลานั้นคมสันต์มองว่า ถึงเวลาที่จะขยายตัวเองไปยังประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน ผ่าน Flash Express และบริการอื่น ๆ ในเครือ

แต่ภาพความเป็นจริงในปี 2022 อีคอมเมิร์ซในประเทศไทยอยู่ในสภาวะชะลอตัว

จากผู้ใช้งานอีคอมเมิร์ซที่เริ่มอิ่มตัว ส่วนคนที่ยังไม่คิดจะใช้อีคอมเมิร์ซต้องใช้เวลาในการผลักดันให้เกิดการใช้งาน

ประกอบกับสถานการณ์ตลาดทุนโลก หุ้นบริษัทมหาชนในธุรกิจอีคอมเมิร์ซตกลงมากกว่า 60% ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซแตกตื่นกับการหดตัวของมูลค่าหุ้น และเลือกที่จะลดต้นทุน ลดเงินอุดหนุนทำตลาดผ่านแคมเปญ และเงินโฆษณาลงมหาศาล จึงไม่เกิดการกระตุ้นตลาด Transaction จากการซื้อจึงหายไป

ที่มาพร้อมกับต้นทุนบริการที่เพิ่มขึ้นมหาศาล

ต้นทุนนี้ประกอบด้วยต้นทุนค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น จากเจ้าหน้าที่แฟลชติดโควิด-19 และต้องจ้างพนักงานเพิ่มอีก 7,000 คน เพื่อทดแทนเพื่อนร่วมงานที่ติดโควิด-19 ถือเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมหาศาล จากการจ่ายเงินจ้างพนักงาน 2 ต่อ เพื่อได้งานตัวเดียวกัน

และโควิด-19 ทำให้แฟลชมีต้นทุนของหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ และทำความสะอาดฆ่าเชื้อในสถานประกอบการทุกที่

ราคาน้ำมัน จากลิตรละ 20 บาท เป็น 30-40 บาท ต้นทุนน้ำมันของแฟลชตกเดือนละ 300-400 ล้านบาท

ในวันนี้รายได้ของ Flash Express ในปี 2022 ยังคงไม่สรุปผลอย่างเป็นทางการ แต่คมสันต์คาดการณ์ว่าจะมีรายได้ไม่ต่างจากปี 2021 และขาดทุนมากกว่า 20 ล้านบาท จากเหตุผลที่กล่าวมา

ส่วนตลาดต่างประเทศที่เข้าไปให้บริการในหลายประเทศยังประสบกับความท้าทาย เช่น

ประเทศลาว ยังเป็นตลาดที่เหนื่อย จากเงินลงทุนเป็นเงินบาท แต่รายได้ที่ได้รับจากบริการลูกค้าเป็นเงินกีบ ซึ่งมีความผันผวนจากประเทศลาวเจอวิกฤตทางเศรษฐกิจ ทั้งหนี้สิน ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนจากเงินกีบเป็นบาทหายไปประมาณ 40% และราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นมา 1 เท่า เป็นอัตราเพิ่มสูงกว่าประเทศไทยที่เพิ่ม 30-40%

แต่ในวันนี้ลาวยังไม่ได้เป็นประเทศที่ใหญ่มากสำหรับแฟลช ผลกระทบนี้จึงไม่มีผลกับภาพรวมเท่าไรนัก

ส่วนมาเลเซีย เจอความท้าทายเรื่องของคนที่ไหลออกไปทำงานที่สิงคโปร์หลังสิงคโปร์เปิดประเทศ ด้วยค่าแรงสิงคโปร์ที่สูงกว่ามาเลเซีย 60% ในตำแหน่งงานเดียวกัน เวลาทำงานเท่ากัน มาเลเซีย จึงได้รับความท้าทายในเรื่องรายได้ และทรัพยากรบุคคล

คมสันต์กล่าวว่าในปัจจุบันแฟลชมาเลเซียกลับมาสู่ภาวะปกติ จากการร่วมลงมือลงแรงของเพื่อนร่วมงานทุกคน จนสามารถขับเคลื่อนบริการการผ่านเพื่อนร่วมงาน 7,000 คนในสิ้นปี 2022 ให้บริการในพื้นที่เกือบครอบคลุมมาเลเซียทั้งหมด

และคาดการณ์ว่าในสิ้นปี 2023 จะเป็น Top3 อย่างมั่นคงในตลาดมาเลเซียได้ จากปัจจุบันที่แฟลชเป็น Top 3 ที่มีคู่แข่งหายใจรดต้นคอ

สำหรับฟิลิปปินส์ ถือเป็นประเทศที่เป็นดาวเด่น ในปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ 11,000 คน ให้บริการในพื้นที่มากกว่า 90% เป็น Top 3 ในตลาด และคมสันต์เชื่อว่าภายในสิ้นปี 2023 จะเป็น Top 2 ของตลาด และมีผลประกอบการในฟิลิปปินส์เป็นกำไร

เนื่องจากฟิลิปปินส์เป็นตลาดที่เติบโตอันดับหนึ่งในอาเซียน การเติบโตนี้มาจาก 3 ปัจจัยหลักคือ

– ประชากรในประเทศเกือบ 100 ล้านคน

– ในช่วงโควิด-19 ผลักดันอีคอมเมิร์ซและโทรคมนาคมในประเทศมีประสิทธิภาพในการให้บริการกว่าในอดีต ดึงดูดผู้บริโภคเข้ามาจับจ่ายผ่านช่องทางนี้มากขึ้น

– ผู้บริโภคฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่ไม่ค่อยออมเงิน และนิยมใช้เงินกับการจับจ่าย  

ทั้งหมดนี้เป็นส่วนสำคัญที่อีคอมเมิร์ซในฟิลิปปินส์เติบโตอย่างมหาศาล และเป็นโอกาสของบริการโลจิสติกส์ที่สำคัญ เห็นได้จากช้อปปี้และลาซาด้าในฟิลิปปินส์มีการเติบโตสูงสุดในภูมิภาคเช่นกัน

 

นอกเหนือจาก Flash Express ที่เดินช้าลง ธุรกิจอื่น ๆ ในเครือ Flash Group ก็เดินข้าลงเช่นกัน

จากเดิมที่คมสันต์วางแผนว่าจะขยายธุรกิจใน Flash Group เข้าไป 10 ประเทศภายในปี 2023

ด้วยการเลือกธุรกิจที่เหมาะสมกับแต่ละประเทศ

ซึ่งในปัจจุบันยังไม่สามารถขยายไปยังบรูไนได้

แม้ยังไปไม่ถึงตามที่คาดหวัง แต่ธุรกิจต่าง ๆ ใน Flash Group มีการเปลี่ยนแปลง สร้างการเติบโตในอนาคตเช่นกัน

เช่น

ธุรกิจ บริการคลังสินค้าแบบครบวงจร Flash Fulfillment  เริ่มให้บริการในต่างประเทศปี 2022 ที่เวียดนาม ปัจจุบันยังให้บริการในกลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการ Flash ในไทยที่ขยายธุรกิจไปยังเวียดนามเป็นหลัก

มีการเปิดบริการที่อินโดนีเซีย มีกลุ่มลูกค้าหลักชาวต่างชาติที่เข้าไปทำธุรกิจในอินโดนีเซียและไม่อยากเช่าคลังสินค้าเอง และบริการพนักงานเอง Flash Fulfillment เข้าไปตอบโจทย์บริหารคลังสินค้าให้กับลูกค้ากลุ่มนี้

ส่วนมาเลเซียและฟิลิปปินส์เติบโตไปตาม Flash Express

สำหรับประเทศไทย Flash Fulfillment ขยายฐานลูกค้าจากเดิมลูกค้าออนไลน์ ไปเป็นลูกค้าแบรนด์ เช่น ยูนิลีเวอร์ เนสท์เล่ และอื่น ๆ ที่ต้องการมืออาชีพที่ให้บริการ

พร้อมกับแยกธุรกิจบริการคลังสินค้าให้กับพ่อค้าแม่ค้าที่ขายสินค้าผ่านไลฟ์สด ซึ่งธุรกิจไลฟ์สดขายสินค้าเป็นธุรกิจที่มาแรงมากในปี 2022 และเติบโตอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน

กลุ่มธุรกิจ Flash Money และ Flash Pay ใช้บริการภายในอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี 2022 กับลูกค้ากลุ่ม B2B

โดย Flash Pay ในปีที่ผ่านมา Transaction กว่า 1,000 ล้านบาท

Flash Money ให้บริการกับคู่ค้า ที่ส่งสินค้าผ่าน Flash Express และคู่ค้ากลุ่ม 3PL (Third Party Logistics Service Provider) ทั้งสองกลุ่มนี้ปีที่ผ่านมาปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้า 2 กลุ่มนี้ 500 ล้านบาท และปี 2023 คาดการณ์เปิดให้บริการกับบุคคลทั่วไปได้ ถ้าการให้บริการลูกค้าสองกลุ่มที่กล่าวมาสรุปเป็นตัวเลขไปในทิศทางที่ดี

และการเปิดบริการ F Commerce เป็นธุรกิจที่เป็นดาวเด่นที่สุดของแฟลช กรุ๊ป จากบริษัทลูกกว่า 10 บริษัท

ธุรกิจ F Commerce เริ่มให้บริการในปี 2022 จากบริการยิงโฆษณาในช่องทางออนไลน์ และบริการแบรนด์ให้กับผู้จ้าง

และเป็นธุรกิจตัวกลางเชื่อมโยงเซเลบ สินค้า และแพลตฟอร์มเข้าด้วยกัน เพื่อขายสินค้าในรูปแบบไลฟ์สด

บิซิเนสโมเดลไลฟ์สด แฟลชลงทุนเปิดอาคารที่ใช้สำหรับไลฟ์สดโดยเฉพาะ อย่างเช่นที่อินโดนีเซียมี 2 อาคาร และคิดว่าสิ้นปีจะมี 10 อาคาร ส่วนไทยกำลังสร้างอาคารที่เป็นไลฟ์สดเซ็นเตอร์

มีการเซ็นสัญญากับเซเลบต่าง ๆ มาช่วยไลฟ์สดขายสินค้า ที่แฟลชเป็นตัวแทนขายสินค้าของแบรนด์ลงในแพลตฟอร์มต่าง ๆ โดยเฉพาะ TikTok ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่แฟลชเป็นพาร์ตเนอร์ 1 ใน 3 รายทั่วโลก ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจใน TikTok ครบทุกประเภท อย่างเช่นตัวแทนเซเลบ เทรนเนอร์เซ็นเตอร์ ยิงโฆษณา โลจิสติกส์ คลังสินค้า การเงิน เป็นต้น

ความน่าสนใจของบิซิเนสโมเดลนี้คือเซเลบจะได้ค่าคอมมิชชั่นจากแฟลชเมื่อมีการสั่งซื้อสินค้าผ่านไลฟ์สด

และแบรนด์สินค้าสามารถระบุเซเลบที่สนใจให้มาช่วยไลฟ์สดขายสินค้าให้กับแบรนด์ตัวเองได้เพื่อลงในแพลตฟอร์มที่ต้องการ

บริการไลฟ์สดของแฟลช F Commerce เป็นบริการที่ประสบความสำเร็จในอินโดนีเซียในฐานะผู้นำอันดับหนึ่งในธุรกิจนี้ ส่วนไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม เป็น Top 3

และเชื่อว่าภายในปี 2023 จะเป็นเบอร์หนึ่งในภูมิภาคได้

สำหรับปี 2022 คมสันต์มองว่าเป็นปีที่ไม่มีผู้ประกอบโลจิสติกส์รายใดมองว่าง่าย และขึ้นอยู่กับกำลังภายในของแต่ละบริษัทสามารถซ่อมบ้านได้เร็วกว่า อย่าง Flash Group มีการเปลี่ยนแปลงภายในค่อนข้างมาก ตั้งแต่เส้นทางเดินรถ การเช่าสถานประกอบการ จนถึงโครงสร้างภายใน ที่มีการเปลี่ยนผู้บริหารออกไปเกือบ 20%

เพราะ คมสันต์ ลี มองว่าตอนที่ตลาดโตต้องการผู้บริหารที่เป็นผู้สร้าง ส่วนตลาดนิ่งต้องการผู้บริหารที่เป็นผู้ซ่อม ซึ่งผู้สร้างกับผู้ซ่อมอยู่ด้วยกันจะแย่ เพราะผู้สร้างต้องการไป ผู้ซ่อมต้องการดึง และสุดท้ายบ้านก็พัง

ปี 2022 จึงเป็นปีที่ให้ผู้บริหารที่เป็นผู้สร้างไปสร้างยังตลาดต่างประเทศที่เปิดใหม่ ส่วนผู้บริหารที่เป็นผู้ซ่อม ซ่อมธุรกิจเดิมที่มีอยู่ให้แข็งแรง

ส่วนปี 2023 ท้าทายคือสร้างคน หาและปั้นคนระดับ Manager จากลูกหม้อที่มีอยู่ ส่งไปยังพื้นที่ต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจาก Flash ไม่สามารถขยายไปยังประเทศตามคาดหวัง รวมถึงประเทศอื่น ๆ ที่ศักยภาพ เช่น ลาตินอเมริกา และซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นสองประเทศที่ผู้ให้บริการโลจิสติกส์อื่น ๆ เห็นความสำคัญและเข้าไปเปิดตลาดได้ เนื่องจากขาดกำลังคนในส่วนบริหาร

และต่อจากนี้ไป คมสันต์ยังต้องการสร้างรายได้จากต่างประเทศรวมกันมากกว่าไทย 3-4 เท่า เพื่อให้ขาธุรกิจต่าง ๆ มีความมั่นคงในธุรกิจอย่างยั่งยืน จากปัจจุบันที่ยังคงพึ่งพา Flash Group ประเทศไทยเป็นหลัก

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน