ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ รุกเปิด 10-12 โครงการใหม่ ปี 2566 มูลค่า 7-8 พันล้านบาท ตั้งเป้ายอดขาย 8.6 พันล้านบาท ยอดรับรู้รายได้ 6.8 พันล้านบาท รับภาพรวมตลาดอสังหาฯ แนวราบ ขยายตัวทั้งปี 2566 ราว 3-5% 

นายไชยยันต์ ชาครกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) (LALIN) (Mr.Chaiyan Chakarakul, Chairman of Executive Board, Lalin Property Plc.) เผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลก-ไทย ปี 2565 เป็นปีที่ความเสี่ยงจากสถานการณ์โควิด-19 ค่อยๆ คลี่คลาย ทำให้หลายประเทศเริ่มทยอยดำเนินนโยบายผ่อนคลายต่างๆ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยกลับมาดำเนินได้ตามปกติ  

แต่โลกยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ การแย่งชิงความเป็นผู้นำโลกของประเทศมหาอำนาจ ตลอดจนสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่เริ่มมาตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี   

นอกจากนี้ ยังเป็นปีที่เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นทั่วโลก ซึ่งสูงที่สุดในรอบหลายสิบปี จนทำให้หลายประเทศต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ

โดย FED ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถึง 7 ครั้ง รวม 4.25% มาอยู่ที่ระดับ 4.25%-4.50% ณ สิ้นปี 2565 ซึ่งเป็นการขึ้นที่เร็ว และแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อน 

รวมถึงธนาคารกลางของหลายๆ ประเทศ ต้องดำเนินนโยบายในรูปแบบเดียวกัน เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ อันนำไปสู่ความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นทั่วโลก จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ Recession

ด้านของ เศรษฐกิจไทย ปี 2565 ได้รับแรงส่งจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ภายหลังการเปิดประเทศช่วงกลางปี การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน และส่วนหนึ่ง จากมาตรการกระตุ้นต่าง ๆ ของภาครัฐ ทั้งการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีในช่วงครึ่งแรกของปี ก่อนเริ่มชะลอลงในช่วงครึ่งปีหลัง 

สำหรับปี 2566 คาดว่าเศรษฐกิจโดยรวมของไทย จะขยายตัวได้ราว 3.6-4.0% อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง ทั้งความไม่แน่นอนภายในประเทศ และต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงที่จะเกิด Recession ของเศรษฐกิจยุโรป และสหรัฐอเมริกา 

ความเสี่ยงที่เกิดจากเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ ในขณะที่กำลังซื้อภายในประเทศที่ยังอ่อนแอ ภาระหนี้ครัวเรือน และภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง ท่ามกลางแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของภาระดอกเบี้ย

ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์  ซึ่งเป็นความท้าทายในการดำเนินธุรกิจในปี 2566 อย่างไรก็ดี ภาคอสังหาริมทรัพย์ ก็มีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ ลดค่าธรรมเนียมการโอน และค่าธรรมเนียมจำนอง สำหรับที่อยู่อาศัยที่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ถึงสิ้นปี 2566 รวมถึงการฟื้นตัวของลูกค้าที่ทำงานในกลุ่มท่องเที่ยว ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกจำกัดการเข้าถึงสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ 

เจาะจงไปยัง ตลาดอสังหาริมทรัพย์แนวราบของประเทศไทย พบว่าการแข่งขันในปี 2566 จะเป็นปีที่ผู้เล่นในตลาด แข่งขันกันดุเดือนกว่าปี 2565 ที่ผ่านมา

ขณะที่ภาพรวมการจดทะเบียน หรือการโอนกรรมสิทธิ์ ตลาดอสังหาริมทรัพย์แนวราบของไทย ปี 2565 เมื่อเทียบกับปี 2562 (ก่อนโควิด-19 ระบาด) และ ปี 2564 (หลังโควิด-19 ระบาด) อ้างอิงข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) พบดังนี้

ตลาดอสังหาริมทรัพย์แนวราบของไทย ปี 2565 VS ก่อน-หลังโควิดระบาด 
การโอนกรรมสิทธิ์ 3 เซกเมนต์ใหญ่สุด หน่วย/ปี 2565 หน่วย/ปี 2562 (ก่อนโควิด-19 ระบาด) % เติบโตปี 2565 เทียบ 2562 (ก่อนโควิด-19 ระบาด) หน่วย/ปี 2564 (หลังโควิด-19 ระบาด) % เติบโตปี 2565 เทียบ 2564 (หลังโควิด-19 ระบาด)
บ้านเดี่ยว 9,143 12,169 -25% 8,429 8%
บ้านแฝด 2,830 2,559 11% 2,493 14%
ทาวน์เฮ้าส์ 7,891 16,358 -52% 10,770 -27%
ภาพรวมตลาดอสังหาฯ แนวราบ ทุกประเภท   20,876 32,308 -35% 22,654 -8%
ที่มา : ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ รวบรวมจาก REIC 

นายชูรัชฏ์ ชาครกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) (LALIN) (Mr. Churat Chakarakul, Managing Director, Lalin Plc.) เผยว่า ปี 2566 บริษัทมีแนวคิดการดำเนินธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน คำนึงถึงการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance : ESG)   

ส่วนแผนการตลาด ปี 2566 บริษัทจะใช้กลยุทธ์ที่มุ่งเน้น Customer Centric ผ่านกลยุทธ์ทั้ง Lifestyle Marketing และ Experience Marketing โดยต่อยอดการทำตลาดผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น  

เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคได้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น และมีประสิทธิภาพขึ้น โดยนำ Big Data มาใช้ในการวิเคราะห์หา Customer Insights

ทั้งยังให้ความสำคัญกับตลาดที่อยู่อาศัยในกลุ่ม Real Demand โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ทั้งในรูปแบบของ New Design และ Smart Function ของตัวบ้าน   

หลังช่วงปี 2565 บริษัทเป็นรายแรกที่นำรูปแบบความงดงามของสถาปัตยกรรมฝรั่งเศสที่เรียบหรู มาออกแบบบ้านสไตล์ฝรั่งเศสแบบ French Colonial Style บนทำเลศักยภาพ ในราคาที่คุ้มค่า และจับต้องได้

ส่วนสถานะการเงิน บริษัทมีความแข็งแกร่งอย่างมาก โดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) เพียง 0.55 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวมของอุตสาหกรรม ซึ่งอยู่ที่ 1.4-1.5 เท่า  

ด้าน งบประมาณในการซื้อที่ดิน ปี 2566 บริษัทได้จัดเตรียมงบไว้ประมาณ 1,500-1,600 ล้านบาท และพร้อมปรับเพิ่มให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อรองรับการขยายธุรกิจตามแผนงาน

ทั้งปี 2566 ตั้งเป้าเปิดตัวโครงการใหม่ เพิ่ม 10-12 โครงการ มูลค่ารวม 7,000-8,000 ล้านบาท และตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 8,600 ล้านบาท ยอดรับรู้รายได้ที่ 6,850 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการขยายตัว 10% สูงกว่าภาพรวมตลาดอสังหาฯ แนวราบ ที่คาดว่าจะขยายตัวราว 3-5%

มีไทม์ไลน์เปิดตัวโครงการใหม่ทุกเดือน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ เป็นต้นไป เน้นทำตลาดอสังหาฯ แนวราบ ราคา 2-9 ล้านบาทขึ้นไป และมุ่งเป้าที่ลูกค้ากลุ่ม Real Demand โดยเฉพาะคนไทย

โดยทำเลที่ตั้งของโครงการ จะยังอยู่ในโซนกรุงเทพฯ-ปริมณฑลเป็นหลัก แต่บริษัทก็ยังมองหาโอกาสในภาคจังหวัดท่องเที่ยวอยู่เสมอ รวมถึงเขตจังหวัด EEC ซึ่งน่าจะเกิดการจ้างงานตามมาอีกมาก หลังจากนี้



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online