สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในเวียดนาม ที่ได้ชื่อว่าเป็นดงโรงงานแห่งใหม่ในเอเชีย ยังคงไม่สู้ดีนัก โดยล่าสุดบีบให้คนวัยทำงานต้องเพิ่มช่องทางสร้างรายได้
Infocus Mekong Research บริษัทสำรวจข้อมูลทางเศรษฐกิจในเวียดนามรวมไปถึงประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง เผยผลสำรวจล่าสุดจากกลุ่มตัวอย่างในเวียดนามเมื่อมกราคมที่ผ่านมา โดยปรากฏว่า สัดส่วนกลุ่มตัวอย่างที่หางานเสริมอยู่ที่ 34% เพิ่มจาก 20% จากการสำรวจครั้งก่อนเมื่อช่วงกรกฎาคม
นอกจากนี้ สัดส่วนกลุ่มตัวอย่างที่มองสถานการณ์เศรษฐกิจในทางลบก็อยู่ที่ 27% ขยับขึ้นมาจาก 18% จากการสำรวจครั้งก่อน
ผลการสำรวจดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากยอดผลิตและการส่งออกในเวียดนามที่ลดลง หลังวิกฤตเศรษฐกิจทำให้กลุ่มประเทศตะวันตก ลูกค้ากลุ่มใหญ่ของโรงงานในเวียดนามลดการสั่งซื้อสินค้า โดย Infocus Mekong Research ระบุว่าดัชนีการผลิตทางอุตสาหกรรมของมกราคมที่ผ่านมาลดลงถึง 14.6% จาก 7 เดือนก่อน
ตัวเลขที่สะท้อนถึงสถานการณ์เศรษฐกิจย่ำแย่ของเวียดนามในกลุ่มคนวัยทำงาน ยังไม่หมดแค่นั้น โดยจากการสำรวจครั้งล่าสุดของ Infocus Mekong Research ระบุว่า 60% ของกลุ่มตัวอย่าง กังวลกับปัญหาราคาสินค้าที่แพงขึ้น มากกว่าปัญหามลพิษหรือการว่างงาน
ตัวเลขทั้งหมดเหล่านี้ ย้ำว่า ชาวเวียดนามโดยเฉพาะกลุ่มพนักงานโรงงาน ได้รับผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจโลกโดยเมื่อธันวาคมที่ผ่านมา โรงงานรับจ้างผลิต (OEM) 1,200 แห่งของเวียดนาม ต้องปลดพนักงานรวมกันเป็นจำนวนมากถึง 40,000 คน
ส่วนอีก 500,000 คนที่โชคดีไม่ตกงาน ก็ถูกลดชั่วโมงการทำงาน แต่เมื่อยังมีค่าใช้จ่ายจำเป็นต่าง ๆ ทั้งค่ากินค่าอยู่และค่าน้ำค่าไฟที่ต้องจ่ายด้วยราคาที่แพงขึ้น จึงบีบให้ต้องหางานเสริมเพิ่ม
ประเด็นที่ต้องติดตามต่อจากนี้ ไม่ได้มีแต่ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกต่อเวียดนามเท่านั้น เพราะการกวาดล้างการทุจริตในเวียดนามยังคงดำเนินต่อไป จนทำให้เมื่อไม่ช่วงกลางมกราคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดี Nguyen Xuan Phuc ที่เพิ่งครองตำแหน่งได้ไม่ถึง 2 ปี ต้องลาออกไป
ดังนั้นจึงหมายความว่า ความเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลและสถานการณ์การเมืองในประเทศ ก็จะส่งผลและสร้างความกังวลให้ชาวเวียดนามมากยิ่งขึ้น/nikkei
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



