เมื่อวันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นเสนอชื่อ Kazuo Ueda (คาซูโอะ อุเอดะ) วัย 71 ปี นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และอดีตสมาชิกคณะกรรมการนโยบายของธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้ว่าการธนาคารกลางคนต่อไป

นอกจากนี้ ยังเสนอชื่อ Shinichi Uchida วัย 60 ปี กรรมการบริหารของ Bank of Japan BOJ และ Ryozo Himino วัย 62 ปี อดีตหัวหน้าหน่วยงานบริการทางการเงิน ให้ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการ ซึ่งการเสนอชื่อดังกล่าวจะมีการเสนอชื่อต่อรัฐสภาต่อไป

นาย Ueda จะได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบนโยบายการเงินที่ง่ายเป็นพิเศษซึ่งดำเนินการโดย Haruhiko Kuroda อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นคนก่อน การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลต่ออารมณ์ของตลาดการลงทุนของญี่ปุ่นอย่างแน่นอน โดยนักลงทุนจับตามองว่าผู้ว่าคนใหม่จะมีแนวทางการดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างไร

คาดว่านาย Udeda จะเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการสภาล่างและสภาสูงในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ ซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติจะเปิดประเด็นซักถามถึงแผนนโยบายของเขาหลังการเข้ารับตำแหน่ง

โดยปกติแล้ววาระการดำรงตำแหน่งของผู้ว่าการธนาคารกลางของญี่ปุ่นและรองผู้ว่าจะอยู่ที่ 5 ปี ซึ่งวาระการดำรงตำแหน่งของนาย Haruhiko Kuroda ผู้ว่าคนปัจจุบันจะสิ้นสุดลงในวันที่ 8 เมษายน 2023 ในขณะที่วาระปัจจุบันของรองผู้ว่าในคณะบริหารชุดปัจจุบันจะสิ้นสุดลงในวันที่ 19 มีนาคมนี้

อุเอดะจะเป็นผู้ว่าการ BOJ หลังสงครามโลกคนแรกที่มีพื้นฐานทางวิชาการ ซึ่งภายหลังจากทำงานเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยโตเกียว เขาได้เข้าดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมการนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางแห่งประเทศญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี 1998 จนถึงปี 2005

นาย Ueda ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหลังจากสำนักข่าว Nikkei และสื่ออื่น ๆ รายงานแผนของรัฐบาลที่จะเสนอชื่อเขา โดยนาย Ueda คิดว่านโยบายปัจจุบันของ BOJ นั้น “เหมาะสมแล้ว” และเสริมว่าธนาคารกลางจำเป็นต้องใช้นโยบายทางการเงินแบบ “ผ่อนปรน” ต่อไป

ทางด้านนาย  Katsuya Okada เลขาธิการพรรครัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน เรียกร้องให้มีการทบทวนนโยบายการเงินแบบผ่อนปรนเป็นพิเศษของ BOJ

ทัศนะของว่าที่ผู้ว่าแบงก์ชาติญี่ปุ่นคนใหม่ต่อนโยบายการเงินของประเทศ

ในบทความของ Nikkei ที่เผยแพร่เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2022 นาย Ueda เคยให้สัมภาษณ์ว่า “การเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยประเทศต้องเจอกับอัตราเงินเฟ้อเกิน 2% ชั่วคราว จะส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ ทั้งยังจะขัดขวางการบรรลุเป้าหมายในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงระยะกลางถึงยาว”

ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นอยู่ที่ 4% แตะระดับสูงสุดในรอบ 41 ปี เนื่องจากราคาพลังงานและอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น โดยตัวเลขดังกล่าววิ่งทะลุอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายของ BOJ ที่ตั้งเป้าเอาไว้ที่ 2% เป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน

ในช่วงเดือนธันวาคมปี 2022 ธนาคารกลางของญี่ปุ่นได้เพิ่มอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวจาก 0.25% เป็น 0.5% และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะชะลอตัวลงประมาณกลางปีงบประมาณ 2023 ซึ่งจะเริ่มต้นขึ้นในเดือนเมษายน โดยคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวลงมาจาก 4% เหลือ 1.6%

ในขณะที่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่แท้จริงของญี่ปุ่นเติบโตเพียงแค่ 1.1% ในปีที่ผ่านมา โดยตัวเลขของไตรมาสที่ 4 ของปี 2022 GDP เติบโตขึ้น 0.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2022

การประชุมนโยบายการเงินครั้งสุดท้ายของนาย Kuroda มีขึ้นในวันที่ 9-10 มีนาคม 2023 และหากกระบวนการในการแต่งตั้งนาย Ueda เป็นผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นสำเร็จเสร็จสิ้น การรวมตัวกันครั้งแรกของเขากับคณะกรรมการทั้งหมดจะมีขึ้นในวันที่ 27-28 เมษายน 2023 นี้

ทำไมญี่ปุ่นถึงเลือกนาย Ueda แทนที่จะเป็นนาย Amamiya

รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตัดสินใจเสนอชื่ออาจารย์เศรษฐศาสตร์และอดีตสมาชิกคณะกรรมการนโยบายธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น Kazuo Ueda เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากผู้ว่าแบงก์ชาติคนปัจจุบันอย่างนาย Haruhiko Kuroda (ฮารุฮิโกะ คุโรดะ)

สิ่งที่หลายฝ่ายประหลาดใจก็คือ ทำไมตัวเต็งผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่อย่างนาย Masayoshi Amamiya ซึ่งปัจจุบันเป็นรองผู้ว่าการในยุคของนาย Kuroda ถึงได้ปฏิเสธการขึ้นดำรงตำแหน่ง

นาย Amamiya มีฉายาว่า “The Prince หรือ เจ้าชาย” เป็นผู้ออกแบบมาตรการผ่อนคลายทางการเงินให้กับ BOJ ซึ่งใช้กันมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ และได้รับการคาดหมายว่าจะขึ้นมาดำรงตำแหน่งต่อจากนาย Kuroda อย่างแน่นอน ซึ่งจริง ๆ แล้วรัฐบาลก็ได้มีการเสนอให้เขาขึ้นดำรงตำแหน่งจริง โดยการเจรจานั้นค่อนข้างที่จะยืดเยื้อและกินเวลานานพอสมควรตามคำบอกเล่าของแหล่งข่าว

แต่ท้ายที่สุดแล้ว Amamiya ก็ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว ทำให้รัฐบาลต้องเลือกนาย Ueda ขึ้นมาแทน ให้ทันเส้นตายในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ เนื่องจากเส้นตายสำหรับการเสนอชื่อผู้ที่ได้รับคัดเลือกเข้าสู่สภานั้นใกล้เข้ามาแล้ว

คำถามที่ตามมาก็คือทำไม นาย Amamiya ถึงปฏิเสธข้อเสนอ และทำไมรัฐบาลถึงตัดสินใจเลือกนาย Udeda?

จากข้อมูลของแหล่งข่าว เหตุผลที่นาย Amamiya ให้รัฐบาลในการที่เขาปฏิเสธที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งสูงสุดของฝ่ายการเงินนั่นก็คือ

เขาเห็นว่าผู้นำ BOJ คนต่อไปจะต้องทบทวนและแก้ไขมาตรการผ่อนคลายทางการเงินที่ดำเนินมาหลายปี ซึ่งเป็นนโยบายที่เขา (นาย Amamiya) แนะนำและรับผิดชอบในการดำเนินการ ดังนั้น เขาไม่คิดว่าเขาจะสามารถดำเนินการ การทบทวนและแก้ไขนโยบายดังกล่าวได้อย่างเป็นกลางและยุติธรรม

เป็นความจริงที่ว่าเขามีบทบาทสำคัญในการร่างนโยบายเชิงการทดลองของ BOJ หลายนโยบายก่อนหน้านี้ เริ่มด้วยการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือการทำ QE (Quantitative Easing) ในปี 2001 และในปี 2010 ได้เริ่มมีการใช้นโยบายการผ่อนคลายแบบครอบคลุม  (Comprehensive Easing)

ตามมาด้วยนโยบาย  “Different Dimension” ซึ่งใช้กับนโยบายทางการเงินแบบการผ่อนคลายเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ในปี 2013

ถัดมาในปี 2016 เขาได้แนะนำให้ประเทศใช้นโยบายทางการเงินแบบ “ดอกเบี้ยติดลบ” ซึ่งถ้าเราดูจากนโยบายทางการเงินที่นาย Amamiya เป็นคนคิดขึ้นแล้วล่ะก็จะเห็นรูปแบบที่คล้ายคลึงกันในหลายนโยบายนั่นแปลว่าถ้าเขาขึ้นมาเป็นผู้ว่าแบงก์ชาติจริง ๆ ประเทศญี่ปุ่นก็คงจะดำเนินนโยบายทางการเงินไม่แตกต่างไปจากเดิมเท่าไรนัก

รัฐบาลพยายามเกลี้ยกล่อมให้เขาเข้ารับตำแหน่ง โดยบอกว่าเขาจะเป็นตัวเลือกที่ชัดเจนในการทบทวนและแก้ไขนโยบาย เพราะเขารู้ทุกอย่างเกี่ยวกับการผ่อนคลายทางการเงิน ความสัมพันธ์อันลึกซึ้งของเขากับรัฐบาลและคนวงในของตลาดหุ้นยังทำให้เขาเป็นบุคคลที่เหมาะสมที่สุดในการสื่อสารกับพวกนักลงทุนเมื่อร่างกลยุทธ์การยกเลิกนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายสุดขีด หรือ Ultraloose ของ BOJ ถึงคราวต้องสิ้นสุดลง

อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ไม่เพียงพอที่จะโน้มน้าวใจนาย Amamiya เนื่องจากความเชื่อที่ว่าการเลื่อนตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหรือการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลาง (เพราะอยู่ในองค์กรมานาน) นั้นไม่ใช่มาตรฐานที่ในระดับโลกใช้กันอีกต่อไป

ยกตัวอย่างเช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้แต่งตั้งนักวิชาการเช่น Ben Bernanke ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ และ Janet Yellen นักเศรษฐศาสตร์ด้านแรงงานเป็นประธาน Fed

ส่วนนาย Mario Draghi อดีตประธานธนาคารกลางยุโรปนั้นเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่สำเร็จการศึกษาที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) เมื่อผู้ว่าการธนาคารกลางประชุมกัน พวกเขาไม่เพียงแค่หารือเกี่ยวกับนโยบายการเงินเท่านั้น แต่ยังต้องวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจมหภาคที่ซับซ้อนอีกด้วย

สถานการณ์ในเอเชียก็ไม่ต่างกัน Yi Gang ผู้ว่าการธนาคารประชาชนจีนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศเกาหลี Rhee Chang Yong  สำเร็จการศึกษาเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และทำงานเป็นหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย ดังนั้นการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ภายในของ BOJ รวมไปถึงคนของกระทรวงการคลังมาเป็นผู้ว่าการธนาคารกลางของประเทศที่เป็นเศรษฐกิจหลักของโลกในปัจจุบันอาจเป็นเรื่องที่ดูขัดแย้งกัน

และในที่สุดรัฐบาลญี่ปุ่นก็ตัดสินเลือกนาย Ueda ซึ่งเบื้องหลังการตัดสินใจครั้งนี้ก็คือคำขอร้องของนาย Amamiya ที่ว่า ผู้ว่าการคนต่อไปควรจะต้องเป็นนักเศรษฐศาสตร์ระดับโลก

นาย Ueda สำเร็จการศึกษาที่ MIT ภายใต้การดูแลของ Stanley Fischer ที่เป็นอดีตรองประธาน Fed และเป็นกระดูกสันหลังทางทฤษฎีของธนาคารกลางทั่วโลก ซึ่ง Ben Bernanke และ Mario Draghi ก็เป็นศิษย์ก้นกุฏิของเขาด้วยเช่นกัน

นาย Amamiya ต้องการที่จะเห็นการหลอมรวมกันระหว่างธนาคารกลางและสถาบันการศึกษา เนื่องจากการต่อสู้กับภาวะเงินฝืดของ BOJ ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 ก็เป็นการต่อสู้กับนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักในสหรัฐอเมริกาและที่อื่น ๆ เช่นกัน

ในช่วงปี 2000 BOJ ถูกโจมตีจากนักวิชาการ ซึ่งรวมไปถึงนาย Bernanke และ Paul Krugman นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ที่บอกว่าญี่ปุ่นไม่สามารถยุติภาวะเงินฝืดได้ เนื่องจาก BOJ ไม่ได้กำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อหรืออัดฉีดเงินทุนจำนวนมหาศาลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเลย ซึ่งในตอนนั้นนักการเมืองญี่ปุ่นเริ่มวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ BOJ เช่นกัน สิ่งนี้สร้างปัญหาให้กับนาย Amamiya และผู้กำหนดนโยบายคนอื่น ๆ เป็นอย่างมาก

Jerome Powell ประธาน Fed คนปัจจุบันและประธาน ECB อย่างนาย Christine Lagarde ต่างเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ไม่ใช่เศรษฐศาสตร์ อิทธิพลของนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักลดน้อยถอยลงเนื่องจากพวกเขาไม่สามารถคาดการณ์วิกฤตการเงินโลกในปี 2008 ทำให้พวกเขาหมดความน่าเชื่อถือ

หลังจากที่นาย Ueda เข้ารับตำแหน่งเชื่อว่าทั่วโลกต้องจับตามองการขึ้นนโยบายทางการเงินใหม่ของญี่ปุ่นอย่างแน่นอนเพราะญี่ปุ่นเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่ใช้นโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายมาก ๆ เพื่อทำให้เศรษฐกิจของประเทศยังคงเติบโตต่อไปได้ แม้จะต้องแลกกับการที่เงินลงทุนจากต่างประเทศจะไหลออกจากประเทศเนื่องจากผลตอบแทนทางด้านการลงทุนที่ต่ำ

ซึ่งถ้าญี่ปุ่นใช้นโยบายทางการเงินแบบตึงตัวขึ้นมาจริง ๆ แล้วเศรษฐกิจของประเทศจะเข้าสู่สภาวะ Recession เหมือนกับที่ประเทศอื่น ๆ ในโลกกำลังเผชิญอยู่หรือไม่ก็เป็นเรื่องที่น่าติดตาม

 

อ้างอิง

https://www.economist.com/finance-and-economics/2023/02/14/the-bank-of-japans-new-governor-ueda-kazuo-marks-a-break-with-tradition

 

https://asia.nikkei.com/Economy/Bank-of-Japan/Japan-nominates-Kazuo-Ueda-as-next-BOJ-governor

 

https://asia.nikkei.com/Economy/Bank-of-Japan/Why-Japan-picked-Ueda-as-BOJ-head-instead-of-Amamiya

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online