MI Group คาดการณ์ว่า มูลค่าโฆษณา 85,790 ล้านบาท เติบโต 4.7% เป็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 หลังจากที่ตลาดนี้ร่วงหล่นไปในปี 2020 จากผลกระทบของโควิด-19

แต่มูลค่าตลาดที่กลับมาเติบโตนี้ มูลค่ายังไม่เทียบเท่าปี 2019 ปีก่อนโควิด-19

ในปี 2019 มูลค่าตลาดโฆษณา มูลค่า 90,212 ล้านบาท เติบโต 1.3%

ปี 2020 ลดลง 16.7% เหลือ 75,168 ล้านบาท

ปี 2021 เติบโต 1.3% 76,165 ล้านบาท

ปี 2022 เติบโต 7.6% 81,939 ล้านบาท

การเติบโตในปี 2022 ส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จากการเปิดประเทศ และปรับโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น แม้การเติบโตนี้ยังเติบโตบนปัจจัยลบอย่างต่อเนื่อง ทั้ง สินค้าที่แพง

ขึ้น อัตราค่าครองชีพที่สูง หนี้ครัวเรือนสูง และ GDP ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ในช่วงต้นปี

 

ส่วนเดือนแรกของปี 2023 ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท มีเดียอินเทลลิเจนซ์ จำกัด หรือ MI Group ให้ข้อมูลว่าตลาดโฆษณามีมูลค่า 2,089 ล้านบาท ลดลง 3.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา

ส่วนเดือนกุมภาพันธ์คาดการณ์ว่าจะมีการเติบโตที่ลดลงเช่นกัน

การลดลงของมูลค่าตลาดโฆษณามาจากปัจจัยลบต่อเนื่องในไตรมาส4/2565 จากปัจจัยด้านลบต่างๆ ที่กล่าวไปข้างต้น

 

แม้ในวันนี้ตลาดโฆษณาจะเผชิญกับความท้าทายด้านปัจจัยลบต่างๆ แต่ยังสามารถเติบโตได้จากปัจจัยบวกต่างๆ ได้แก่

1.การเติบโตของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หลั่งไหลเข้ามาในประเทศอย่างไม่ขาดสาย และภวัตเชื่อว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้อาจจะมีมากกว่า 30 ล้านคน สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้

การเติบโตของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เป็นหนึ่งในนัยยะสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในเซ็กเตอร์ที่เกี่ยวข้อง จากผู้บริโภคที่กลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างถาวร ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ โรงแรมและการท่องเที่ยว

เช่นการเติบโตของนักท่องเที่ยว ทำให้โรงแรมต้องจ้างพนักงานประจำเพิ่มเพื่อให้บริการ เป็นต้น

 

2.แม้โควิด-19 ยังคงอยู่ แต่ผู้คนมองวิกฤตนี้ได้จบลงแล้ว และเริ่มมีการจัดงานอีเวนต์ กิจกรรมต่างๆ ต่อเนื่อง

 

3.การเลือกตั้งชัดเจนขึ้น การออกทำกิจกรรมต่างๆ ของนักการเมือง และฐานเสียงจะเข้มข้นขึ้น ซึ่งเป็นตัวแปรที่สำคัญที่ช่วยนำเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างมหาศาล และคาดการณ์ว่าจะมีเม็ดเงินผ่านเศรษฐกิจเลือกตั้งถึง 10,000 ล้านบาท

ซึ่งเศรษฐกิจเลือกตั้ง 10,000 ล้านบาทนี้จะอยู่ในกิจกรรมหาเสียงต่างๆ ที่กระตุ้นให้เกิดเงินหมุนเวียนเข้าสู่กระเป๋าผู้บริโภค ให้มีกำลังจับจ่ายสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะสินค้าคอนซูเมอร์โปรดักท์เพิ่มขึ้น

 

ส่วนงบโฆษณาที่ใช้ไปกับการหาเสียงเลือกตั้ง ภวัตคาดการณ์ว่าจะมีเม็ดเงินไม่ถึง 100 ล้านบาท และเม็ดเงินส่วนใหญ่ใช้ไปกับสื่อโซเชียลมีเดีย และการ Boost Post สื่อสารผ่านคอนเทนต์ต่างๆ ถึงนโยบายที่ลงลึกได้มากกว่า และสามารถสื่อสารได้อย่างรวดเร็ว เพื่อสร้าง Engagement ไปยังแฟนคลับพรรคและนักการเมือง ให้เกิดการพูดถึง และดันต่อไปยังสื่ออื่นๆ เลือกที่จะหยิบยกไปนำเสนอให้ฟรีๆ ในรูปแบบ Earned Media โดยไม่ต้องเสียเงินโฆษณา

ส่วนการโฆษณาผ่านสื่อเช่นทีวี ภวัตมองว่าจะมีการใช้น้อยลง เพราะไม่ต้องการเพียงแค่สร้าง Awareness ให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งรู้ว่าเป็นผู้สมัครหมายเลขใด อยู่พรรคไหนเท่านั้น

 

อย่างไรก็ดี จากการฟื้นตัวของเม็ดเงินโฆษณา 2023 เป็นการฟื้นตัวอยู่บนเซ็กเมนต์ที่เติบโต และถูกดึงในเซ็กเมนต์ที่มีการใช้จ่ายลดลง

 

เซ็กเมนต์ที่มีการเติบโตภวัตวิเคราะห์ว่ามาจาก

1.ยานยนต์ การเติบโตนี้มาจากกระแสรถ EV ที่ปีนี้คาดการณ์ว่าจะมียอดขายที่มากขึ้น,รถยนต์เชิงพาณิชย์ อย่างเช่นรถกระบะที่มีการเติบโตจากกิจการต่างๆ ที่เปิดให้บริการรองรับนักท่องเที่ยว และรถมอเตอร์ไซค์ที่เติบโตจากคนมีงานทำและซื้อรถมอเตอร์ไซค์เพื่อการเดินทาง

ในปีนี้ MI Group คาดการณ์ว่าเซ็กเมนต์ยานยนต์จะมีมูลค่าถึง 5,800 ล้านบาท เติบโตจากปีที่ผ่านมาที่มีมูลค่าไม่ถึง 5,000 ล้านบาท

 

2.งานอีเวนต์ กิจกรรม คอนเสิร์ต งานแสดงสินค้า ที่กลับมาจัดในรูปแบบออนกราวด์ มีการเติบโตด้านเม็ดเงินโฆษณาในปีที่ผ่านมาไม่ถึง 500 ล้านบาท เป็น 1,800 ล้านบาทในปีนี้

 

3.E-Commerce โดยเฉพาะ E-Marketplace จากวิถีชีวิตผู้บริโภคที่เปลี่ยน สู่การซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น กลุ่มเดินทางท่องเที่ยว จองตั๋วเดินทาง รถยนต์มือสอง และดีลส่วนลดพิเศษ ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่เดินทางออกมาใช้ชีวิต แต่มีเม็ดเงินในกระเป๋าที่จำกัด ในกลุ่มนี้คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่า 1,800 ล้านบาท

 

4.อาหาร เครื่องดื่ม และบริการ โดยมีการเติบโตสูงในกลุ่มสุขภาพความงาม มูลค่า 9,800 ล้านบาท

 

5.ผลิตภัณฑ์ความสวยความงาม คาดการณ์เม็ดเงินในปีนี้ 9,300 ล้านบาท

 

สำหรับหมวดที่เป็นดาวร่วงที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาน้อยลงได้แก่

หมวดสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคล ที่เคยคึกคักใน1-2ปีที่ผ่านมา จากผู้บริโภคที่ฝืดเคืองด้านการเงินจำนวนมาก

ในปีนี้การกู้ยิมเงินสินเชื่อ ทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นถึง 90% และเป็นปัจจัยที่ลูกค้าที่เป็นหนี้ส่วนบุคคลมีหนี้เต็มวงเงิน และมีความสามารถในการชำระหนี้ต่ำ เกิดหนี้เสียถึง 4.4% จนไม่สามารถกู้เพิ่มได้ และไม่สามารถนำเงินที่มีมาใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายได้เหมือนเดิม

 

อย่างไรก็ดีภาพโฆษณาในปีนี้ แม้จะมีการเติบโต แต่เป็นการเติบโตที่ไม่หวือหวา โดยเฉพาะในปีนี้ช่วงหน้าร้อน แม้มีการลงเม็ดเงินใช้จ่ายโฆษณาที่คึกคัก จากแบรนด์ที่มีช่วงไฮซีซันช่วงหน้าร้อน แต่เป็นความคึกคักที่หวือหวา เหมือนบางปี และมีการทุ่มเงินเพื่อโปรโมทสินค้าหนักๆ เฉพาะสินค้าที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ สู่ตลาดเท่านั้น



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน