ทรูรวมดีแทค ก้าวต่อไปบนโลกใบใหม่หลังรวมเป็นบริษัทเดียวกัน (วิเคราะห์)

นับเป็นวันที่สองของบริษัทใหม่ที่ชื่อ ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หลังทรูและดีแทคควบรวมอย่างเป็นทางการ

เหตุผลเลือกที่ชื่อบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น เป็นชื่อบริษัทแทนชื่ออื่น ๆ มนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานกรรมการเจ้าหน้าที่บริหาร ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้เหตุผลว่า เพราะทรูมีแบรนด์สินค้าและบริการที่เป็นดิจิทัล นวัตกรรม และมี Portfolio ที่ครอบคลุมธุรกิจมือถือ

แม้จะมีการควบรวมบริษัทเป็น ทรู คอร์ปอเรชั่น แต่แบรนด์ทรู และดีแทค ยังคงอยู่ และในส่วนเครือข่ายมือถือยังแยกแบรนด์ทำตลาด อย่างน้อยเป็นเวลา 3 ปี นับจากวันที่ 1 มีนาคม 2566 วันแรกของการจดทะเบียนบริษัทใหม่

และมี มนัสส์ มานะวุฒิเวช จากฝั่งทรู เป็นประธานกรรมการเจ้าหน้าที่บริหาร และชารัด เมห์โรทรา จากฝั่งดีแทคเป็นรองเจ้าหน้าที่บริการ

การแยกกันทำตลาดของแบรนด์ทรูและดีแทคเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี เป็นหนึ่งในข้อกำหนดของ กสทช.

และหลังจาก 3 ปีหลังควบรวมบริษัทเป็นทางการแบรนด์ทรู และดีแทคอาจจะทำตลาดแยกแบรนด์กันต่อไป หรือจะมีการเปลี่ยนแปลงได้

สำหรับการทำตลาดของแบรนด์ทรูและดีแทค นับจากวันที่ 1 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป จะเป็นการตลาด “ร่วมกันเดิน แยกกันตี”  

กลยุทธ์ ร่วมกันเดิน แยกกันตี ของแบรนด์ทรู และดีแทค เป็นการนำเครือข่ายและบริการที่ทั้งคู่มีมาใช้ร่วมกัน เพื่อให้บริการลูกค้าทรู กับดีแทค

ในปัจจุบันแบรนด์ทรูและดีแทคมีลูกค้าเครือข่ายมือถือรวมกัน 55 ล้านคน

แบ่งเป็นทรู 33.8 ล้านราย และดีแทค 21.2 ล้านราย

และมีเครือข่ายคลื่นความถี่รวมกัน 8 คลื่นความถี่ ประกอบด้วย 700MHz, 850MHz, 900MHz, 1800MHz, 2100MHz, 2300MHz, 2600MHz และ 26GHz

แบรนด์ทรูและดีแทคจะโรมมิ่งเครือข่ายบางคลื่นความถี่ใช้ร่วมกันเพื่อลดช่องว่างของเครือข่ายที่ให้บริการ

ลูกค้าดีแทคจะสามารถโรมมิ่งใช้เครือข่าย 5G ในคลื่นความถี่ 2600 MHz ที่ทรูมี

ลูกค้าทรูจะสามารถโรมมิ่งใช้งาน 4G และ 5G คลื่นความถี่ 700 MHz ที่ดีแทคมีการเปิดให้บริการ และจะขยายให้ครอบคลุม 77 จังหวัด กลางเดือนมีนาคม 2566 ได้

และยังมีเป้าหมายการร่วมกันสร้างเครือข่ายบริการ 5G ให้ครอบคลุม 98% ของพื้นที่ใช้งานในประเทศไทย ภายในปี 2569

ในด้านของสินค้าที่ให้บริการ แบรนด์ดีแทค สามารถนำสินค้าในเครือทรู เช่น บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต คอนเทนต์ และบริการดิจิทัลอื่น ๆ มาให้บริการกับลูกค้าดีแทค ในรูปแบบแคมเปญโปรโมชั่นต่าง ๆ ได้

และในส่วนของแบรนด์ทรูสามารถหยิบสินค้าและบริการที่ดีแทคมีมาให้บริการกับลูกค้าทรูได้ด้วยเช่นกัน


สำหรับสาขาให้บริการลูกค้าทรูและดีแทคสามารถใช้บริการผ่านศูนย์บริการต่าง ๆ ร่วมกัน ทั้งทรูและดีแทคช้อป รวมถึงจุดให้บริการต่าง ๆ ที่ทั้งคู่มีอยู่ในมือ เช่น เซเว่นอีเลฟเว่น เทสโก้ แม็คโคร และอื่น ๆ

และการให้บริการผ่านดิจิทัล สาขาของทรูและดีแทค มนัสส์ กล่าวว่ายังไม่มีการปรับเปลี่ยนหรือยุบสาขาแต่อย่างใด  การปรับเปลี่ยนจะดูที่ความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก

นอกเหนือจากการนำพลังของทั้งสองแบรนด์ มาเอื้อประโยชน์ในการแข่งขันและบริการแล้ว 

ภายใต้บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ยังวางเป้าหมาย พาตัวเป็นเทคคอมปานี ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาธุรกิจ ผ่านการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ปลดล็อกศักยภาพผ่านความสามารถด้านเทคโนโลยี ให้เกิดพลังขนาดใหญ่ สามารถแข่งขันในระดับนานาชาติ

ซึ่งเทเลนอร์ผู้ถือหุ้นในดีแทคก่อนควบรวม มีองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี และเข้าถึงพันธมิตรระดับโลกได้

พร้อมกับบริการที่หลากหลาย จับต้องง่าย ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

และเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถดึงดูดทรัพยากรคน และเงินทุน

นอกจากนี้ ยังลงทุน 200 ล้านดอลลาร์ สร้างสตาร์ทอัปใหม่ ๆ ผลักดันทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ที่สูงขึ้น จาก Digital Transformation อีกด้วย

การที่ ทรูรวมดีแทค จะมีพนักงานรวมกัน 20,000 คน และใช้อาคารทรูทาวเวอร์ รัชดาเป็นสำนักงานใหญ่ พนักงานดีแทคเดิมบางส่วนจะเข้าไปทำงานอยู่ที่อาคารทรู ทาวเวอร์

ส่วนสำนักงานดีแทคที่อาคารจามจุรีสแควร์ จะเป็นสำนักงานสาขา ให้พนักงานดีแทคส่วนที่เหลือทำงานอยู่นั่นต่อโดยไม่มีการย้ายไปรวมกันทั้งหมดแต่อย่างใด เนื่องจากพื้นที่ไม่เพียงพอกับการรองรับพนักงานทั้งหมด

อย่างไรก็ดี นับเป็นก้าวแรกที่เราจะได้เห็นการผลึกกำลังของทั้งสองแบรนด์หลังรวมเป็นบริษัทเดียว เพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขันในทุก ๆ ด้าน

ส่วนก้าวต่อไปจะเป็นอย่างไร คงต้องดูกันยาว ๆ

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน