เป็นอีกครั้งที่ Marketeer ได้มีโอกาสร่วมงานประกาศผล “Bai Po Business Awards by Sasin” ซึ่งเป็นครั้งที่ 18 แล้ว นับเป็นรางวัลเกียรติยศแห่งความภาคภูมิใจของ SME ไทย ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดขึ้น ด้วยเล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริม SME ไทยให้แข็งแกร่ง พร้อมผลักดันให้เข้มแข็งและสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนภายใต้การแข่งขันที่รุนแรงในยุคดิจิทัลดิสรัปชั่น
สำหรับครั้งนี้คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายแขนง ได้ทำการคัดเลือก 6 ผู้ประกอบการไทยที่ประสบความสำเร็จในมิติที่มีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ ประกอบด้วย บริษัท พี.วี.ที.แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด บริษัท ฟู้ด อีควิปเม้นท์ จำกัด บริษัท ศิริบัญชา จำกัด บริษัท เอกราชอุตสาหกรรมกระดาษ จำกัด บริษัท เอ็มมีเน้นซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
และอีกหนึ่งผู้ประกอบการคือ บริษัท บีซีแอล 2002 จำกัด ได้รับรางวัลในมิติ องค์กรที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainable Business Practice) องค์กรที่มีการสร้างสรรค์นวัตกรรม (Innovative Enterprise) และการสร้างธุรกิจด้วยพลังแห่งการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) ซึ่งคุณ ไชยยศ รุ่งเจริญชัย กรรมการ บริษัท บีซีแอล 2002 จำกัด ให้เกียรติมาร่วมพูดคุยกับ Marketeer ถึงกลยุทธ์การขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความสำเร็จในครั้งนี้
ทายาทรุ่น 3 กับความท้าทายทั้งในและนอกองค์กร
“เริ่มต้นจากธุรกิจโรงงานสิ่งทอ (OEM) ของครอบครัวเริ่มเผชิญกับปริมาณคู่แข่งในตลาดที่มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผมในฐานะทายาทรุ่นที่ 3 จึงก้าวเข้ามาช่วยพลิกฟื้นกิจการของครอบครัว โดยตัดสินใจก่อตั้ง บริษัท บีซีแอล 2002 จำกัด ขึ้นในปี 2545 และต่อมาได้มีโอกาสไปดูงานแสดงสินค้าที่ต่างประเทศและได้รับแรงบันดาลใจในการที่จะพัฒนาสินค้าไปสู่การผลิตสิ่งทอทางการแพทย์ พร้อมมองหาเทคโนโลยีที่จะมาสร้างความแตกต่าง และเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเดิมที่มีอยู่”
คุณไชยยศย้อนถึงจุดเริ่มต้น การก่อตั้ง บริษัท บีซีแอล 2002 จำกัด ซึ่งต่อมาได้ก่อตั้งเป็นบริษัทในเครือภายใต้ชื่อ “บริษัท เพอร์มา คอร์ปอเรชั่น จำกัด” เพื่อมุ่งเน้นศึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้าน Anti-Bacterial จนสำเร็จมาเป็น เส้นใยเพอร์มา “PERMA” ที่ผสาน Nano Zinc ฝังแน่นเข้าไปในเส้นใย และกระจายตัวลงไปในระดับอนุภาคของเส้นใยอย่างสม่ำเสมอ สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและไวรัสบางชนิดได้อย่างคงทนถาวร เมื่อนำไปซักล้างจะไม่มีการหลุดลอกออกไปกับน้ำ ปลอดภัยทั้งในด้านการดูแลสุขภาพของผู้สวมใส่ และการดูแลสิ่งแวดล้อมโลกไปพร้อม ๆ กัน อีกทั้งยังมีคุณสมบัติช่วยป้องกันรังสี UV ได้มากกว่า 40 UPF (Ultraviolet Protection Factor) จึงช่วยปกป้องผิวจากแสงแดดได้ดีมากขึ้น
“ที่ผ่านมา ธุรกิจของครอบครัวมีสัดส่วนลูกค้ากลุ่ม B2B เป็นหลัก เฉลี่ยประมาณ 95% ของกลุ่มลูกค้าทั้งหมด เช่น โรงงานทอผ้า โรงงานเส้นด้าย โรงงานย้อมผ้า ต่อมามีการขยายตลาดในกลุ่ม B2C มากขึ้นผ่านช่องทาง E-commerce และเว็บไซต์ของบริษัท โดยเริ่มต้นจากการรุกตลาด B2C ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
ซึ่งพอมาเป็น เพอร์มา คอร์ปอเรชั่นฯ ลงไปถึงผู้บริโภคโดยตรง และมาทำสิ่งทอที่เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ เมื่อเป็นเรื่องของนวัตกรรมแบบนี้ ความท้าทายจะมีในทุกจุด ตั้งแต่การสร้าง Branding ไปจนถึงการทำความเข้าใจกับคนในองค์กร เพื่อให้เข้าถึงนวัตกรรมนี้นับเป็นงานที่ยากและท้าทายมาก อย่างไรก็ตาม ต้องขอบคุณคุณแม่ พี่น้อง รวมถึงทีมงานทุกคนในองค์กรที่ช่วยสนับสนุนให้เดินหน้าข้ามผ่านทุกอุปสรรค จนเราเชื่อมั่นว่าสิ่งนี้มันใช่”
คุณไชยยศย้อนให้ฟังอีกว่า ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ธุรกิจบางส่วนได้รับผลกระทบอย่างหนัก บริษัทจึงได้ปรับไลน์การผลิตสินค้าให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภค โดยร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญผลิตหน้ากากผ้ามาทดแทนหน้ากากอนามัยในภาวะขาดแคลนและราคาสูง สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และแบบทั่วไป ซึ่งสามารถยับยั้งแบคทีเรีย ไม่มีกลิ่นเหม็นอับของน้ำลายและสารคัดหลั่ง พร้อมกรองและป้องกันรังสียูวี ระบายความชื้น เบาสบาย ถ่ายเทอากาศได้ดี และป้องกันฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ได้อีกด้วย โดยมีอายุการใช้งานนานกว่า 3 เดือน สามารถส่งออกหน้ากากผ้าได้กว่า 20 ประเทศทั่วโลก
“ช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก บางส่วนของธุรกิจเราได้รับผลกระทบรุนแรงจากยอดขาย 100% เหลือ 0% เลยก็มี แต่ในทางกลับกันสิ่งทอนวัตกรรม PERMA โตขึ้นอย่างมาก จนทำให้สามารถหล่อเลี้ยงบริษัทในภาพใหญ่ได้ทั้งหมด จนทุกวันนี้ ในส่วนที่เคยติดลบก็กลับมาปกติ ขณะที่สิ่งทอนวัตกรรมก็ยังคงโตขึ้นไปเรื่อย ๆ ทำให้เรามีฐานที่ค่อนข้างดี ล่าสุด ในปี 2565 บริษัท บีซีแอล 2002 จำกัด มียอดขาย 240 ล้านบาท”
เส้นใย “PERMA” นวัตกรรม Anti-Bacterial
รายแรก รายเดียวในไทย ที่ผ่านการทดสอบ Cytotoxicity
จากคุณสมบัติอันโดดเด่นและหลากหลายของเส้นใย “PERMA” ทำให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 13485 ซึ่งเป็นระบบการจัดการคุณภาพของอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก และเป็น Anti-Bacterial Product รายแรกและรายเดียวในประเทศไทยที่ผ่านการทดสอบความปลอดภัย Cytotoxicity ว่าไม่มีสารที่ก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อเซลล์ในร่างกายมนุษย์ ตามมาตรฐาน ISO 10993-5
ซึ่ง บีซีแอล 2002 ได้ต่อยอดมีผลิตภัณฑ์นวัตกรรม Anti-Bacterial ครอบคลุมใน 3 กลุ่ม ประกอบด้วย
- กลุ่มสิ่งทอทางการแพทย์ ได้แก่ ชุดคนไข้ ชุดแพทย์และพยาบาลที่มีความปลอดภัย ลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ตามมาตรฐานชีวอนามัย รวมถึงถุงเท้าสำหรับขาเทียม หน้ากากผ้าป้องกันแบคทีเรีย ผ้าปูที่นอนในโรงพยาบาลที่ป้องกันการเป็นแผลกดทับ กางเกงชั้นในที่ช่วยลดการติดเชื้อในช่องคลอด ผ้าพันแผลลดการติดเชื้อในผู้ป่วยเบาหวานและทำให้เชื้อแบคทีเรียไม่เติบโตบนแผล เป็นต้น โดยผลิตภัณฑ์ทั้งหมดได้ผ่านการทดสอบในโรงพยาบาลชั้นนำ พบว่าผู้ป่วยเบาหวานแผลหายเร็วขึ้น ลดการสูญเสียอวัยวะได้
- กลุ่มสิ่งทอทั่วไป (Self-hygienic) เช่น เสื้อผ้า ชุดนอน ถุงเท้ากีฬา ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้ากันเปื้อน ผ้าเช็ดตัว ชุดชั้นใน เพื่อขยายสินค้าไปสู่กลุ่มผู้ใช้ทั่วไป ยกระดับสุขภาพอนามัยในครัวเรือน รวมทั้งนำไปใช้ในโรงพยาบาลต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาได้ดีขึ้น ซึ่งสินค้าเหล่านี้หากนำเข้าจากต่างประเทศจะมีราคาสูงมาก แต่สินค้าของบีซีแอล 2002 มีราคาต่ำกว่าต่างประเทศ 2-3 เท่าตัว ช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ป่วยคนไทยได้เป็นจำนวนมาก
- กลุ่มพลาสติกที่มีคุณสมบัติ Anti-Bacterial ได้แก่ กระบอกน้ำ กล่องใส่อาหาร พลาสติก wrap ห่ออาหาร ที่ยืดอายุการเก็บรักษาอาหารได้เพิ่มขึ้นถึง 30% ซึ่งคาดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคในอนาคต
“Key Success ของเราคือ ‘ผลิตภัณฑ์’ เราวิจัยและพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง มีการทดสอบและงานวิจัยมาซัปพอร์ตเยอะมาก ๆ จนถึงทุกวันนี้เรามีความเชื่อมั่นอย่างมาก และยังส่งต่อความมั่นใจทั้งหมดไปยังคนในองค์กร เพื่อต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ
ซึ่งเส้นใย PERMA สามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ได้อีกหลากหลายมาก โดยสามารถนำอนุภาค ‘นาโนซิงค์’ ที่มีคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียผสมผสานเข้าไปอยู่ในเส้นใยสิ่งทอด้วยเทคนิคเฉพาะของ PERMA ทำให้สามารถฝังตัวได้ลึกไม่หลุดลอกเหมือนกับวิธีการเคลือบแบบเดิม
อีกทั้ง เรายังขยายไปเรื่องของเทคโนโลยีวัสดุขั้นสูงอย่าง นาโนคาร์บอน (Nanocarbon-based Materials) ที่มาจากการเปลี่ยนวัสดุชีวภาพ ให้ถูกนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และเพิ่มมูลค่าเพื่อความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้หลากหลาย ในรูปแบบ กราฟีน (Graphene) ซึ่งเร็ว ๆ นี้จะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมา เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำทางด้านนวัตกรรมสิ่งทอในประเทศไทย เป้าหมายในอนาคตเราจะเดินหน้าทำงานวิจัยนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับสุขภาพอนามัยให้คนไทยต่อไป ภายใต้กระบวนการผลิตในคอนเซ็ปต์ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”

ไทยพาณิชย์และศศินทร์ มุ่งส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ SME ไทย
ธนาคารไทยพาณิชย์มุ่งส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ SME ไทยเพื่อตอบโจทย์ทุกความต้องการที่มากกว่าเรื่องการเงิน ทั้งการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลาย การส่งเสริมความรู้ที่เป็นประโยชน์ผ่านโครงการอบรม สัมมนาต่างๆ รวมถึงการสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจที่จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ผู้ประกอบการ SME ซึ่งถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
การร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการประกาศรางวัล Bai Po Business Awards by Sasin อย่างต่อเนื่อง จึงเป็นการสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของธนาคารไทยพาณิชย์ ที่จะส่งเสริม SME ไทยให้สร้างความโดดเด่นและแตกต่างของสินค้าหรือบริการและพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจให้อยู่รอดได้ในทุกสถานการณ์ ด้วยพลังแห่งการเป็นผู้ประกอบการ อีกทั้งยังเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับธุรกิจไทยรายอื่น ๆ เพื่อผลักดันให้ SME ไทยได้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
* ผู้ประกอบการที่สนใจเข้ารับการพิจารณา สามารถสมัครหรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ www.baipo-business-award.org หรือ โทร. 02-2184001-9 ต่อ 179 (ไม่จำเป็นต้องเป็นลูกค้าของธนาคารไทยพาณิชย์หรือศศินทร์ฯ)
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



