ราว 20-30 ปีก่อน ญี่ปุ่นคือเบอร์ใหญ่ในตลาดยานยนต์อย่างแท้จริง โดยมี Toyota เป็นแม่ทัพพาแบรนด์รถญี่ปุ่นบุกตลาดโลก และอันดับรอง ๆ ลงมาในโซน Top 10 ก็เต็มไปด้วยแบรนด์รถญี่ปุ่น
ทว่าหลังตลาดเปลี่ยน โลกหันมาหาพลังงานสะอาดมากขึ้น รถ EV ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าก็ทวีความนิยม และกินส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น โดยมี Tesla ผงาดขึ้นมาเป็นบริษัทรถมูลค่าสูงสุดในโลกแทน Toyota
นี่เป็นการย้ำว่ารถ EV คืออนาคต และรถน้ำมันกลายเป็นอดีต ขณะเดียวกันก็เป็นการเตือนว่าแบรนด์รถญี่ปุ่นต้องยกเครื่องใหญ่ถ้าไม่อยากโดนคู่แข่งทิ้งห่างไปมากกว่านี้ และคงถึงเวลาหันมาทุ่มสรรพกำลังพัฒนารถ EV เต็มที่เสียที
แทนการกระจายงบปั้นรถเครื่องยนต์รูปผสม (Hybrid) รูปแบบต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งยังผลักดันรถน้ำมันออกสู่ตลาด
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้แบรนด์รถญี่ปุ่นถูกจับตามองอย่างมากว่าจะยกเครื่องอย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าแบรนด์ญี่ปุ่นก็รู้ตัวดีว่าถูกจับตามอง ตระหนักว่าต้องยกเครื่อง และต้องให้คนมีฝีมือมาพาองค์กรไปสู่อนาคต
Toyota ใส่เกียร์เดินหน้ายกเครื่องก่อนแบรนด์ร่วมชาติ โดย Akio Toyoda สละเก้าอี้ซีอีโอ และเปิดทางให้ Koji Sato ประธานฝ่ายปฏิบัติการ และประธานฝ่ายแบรนด์ ขึ้นมาเป็นหัวเรือใหญ่แทน ตั้งแต่ 1 เมษายนนี้เป็นต้นไป
ท่ามกลางการรายงานว่า Akio Toyoda บอกให้ Koji Sato รู้ตัวว่าจะได้เป็นซีอีโอคนต่อไประหว่างเดินทางมาไทยเมื่อปลายปี 2022 นี่เอง
และ Akio Toyoda ยังยอมรับอีกด้วยว่า บริษัทที่ตระกูลของตนก่อตั้งมา และตนเองก็เป็นหนึ่งในคนที่พาแบรนด์นี้ฝ่าวิกฤต ถึงคราวต้องยกเครื่องแล้ว
Koji Sato เผยแผนการในการยกเครื่อง ด้วยการให้ Lexus นำทัพพา Toyota ลุยตลาด EV เต็มตัว และ Toyota ในยุคของเขาจะปรับองคาพยพองค์กร ไล่ตั้งแต่ฝ่ายผลิต ฝ่ายขายและฝ่ายบริการ เพื่อผลักดันรถ EV ออกมา ไม่ใช่เอาแต่พัฒนาต่อยอดหรือปรับเปลี่ยนรถน้ำมัน เหมือนในยุคของ Akio Toyoda
สิ่งที่น่าจับตามองอันดับแรกของ Toyota ในยุค Koji Sato คือ Lexus รุ่น EV เพราะ Lexus สร้างชื่อให้ Toyota มานาน โดยเฉพาะเซกเมนต์รถหรู และ Koji Sato ก็ดูแล Lexus มาก่อนอีกด้วย
แบรนด์รถญี่ปุ่นอีกแบรนด์ที่ประกาศยกเครื่องและมีการเปลี่ยนซีอีโอเช่นกันคือ Subaru โดย Atsushi Osaki รองประธานบอร์ดบริหารและผู้จัดการฝ่ายผลิต จะขึ้นเป็นซีอีโอคนใหม่ แทน Tomomi Nakamura ตั้งแต่มิถุนายนนี้เป็นต้นไป หลังการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น
Atsushi Osaki วัย 60 ปี ถือเป็นลูกหม้อเก่า ทำงานกับ Subaru มาตั้งแต่ปี 1988 หรือ 35 ปีมาแล้ว โดยงานสำคัญอันดับหนึ่งของเขาเมื่อนั่งเก้าอี้ซีอีโอ คือการผลักดันรถ EV ใต้แบรนด์ Subaru ออกสู่ตลาดในอีก 4 ปีจากนี้ ภายใต้งบ 1,800 ล้านดอลลาร์ (ราว 60,000 ล้านบาท)
นี่ทำให้ Atsushi Osaki ที่อยู่กับ Subaru มาเกินครึ่งชีวิต ถูกจับตามอง เพราะงบดังกล่าวถือเป็นงบก้อนใหญ่สำหรับแบรนด์เล็กและทางแบรนด์ประกาศไปแล้วว่าจะเลิกผลิตรถ Hybrid กับรถ Hybrid ระหว่างไฟฟ้ากับน้ำมันแบบเสียบปลั๊กชาร์จ (PHV)
Mazda เป็นรถญี่ปุ่นอีกแบรนด์ที่เปลี่ยนซีอีโอเช่นกัน โดย Masashiro Moro ประธานอาวุโสฝ่ายบริหารจะเลื่อนขึ้นไปเป็นซีอีโอคนใหม่ แทน Akira Marutomo ตั้งแต่มิถุนายนนี้เป็นต้นไป
จากการเคยดูแลตลาดในสหรัฐฯ มาก่อน และสหรัฐฯ ครองสัดส่วน 30% ของตลาด Mazda จึงมีการคาดกันว่า รถ EV รุ่นใหม่ ๆ ของ Mazda จะมุ่งเจาะตลาดสหรัฐฯ เป็นหลัก
สถานการณ์ของแต่ละแบรนด์ มีทั้งที่เหมือนและที่แตกต่าง โดยที่เหมือนคือต่อไปทุกแบรนด์จะบริหารโดยซีอีโอคนใหม่ ซึ่งเป็นคนใต้ชายคาและอยู่กับองค์กรมานาน ทว่าแยกย่อยลงไป แต่ละคนขยับขึ้นมาจากตำแหน่งที่ต่างกัน
ดังนั้นจากนี้จึงต้องจับตามองว่า แบ็กกราวน์ องค์ความรู้ และฝีมือของใครจะดีกว่า ใครจะยกเครื่องแบรนด์ไปได้ไกลกว่ากัน โดยถ้าทุกคนประสบความสำเร็จ อุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่นอาจพ้นจากช่วงขาลง
ข้อมูล 2022 ระบุว่า การไม่ทุ่มงบพัฒนารถ EV เต็มที่ทำให้แบรนด์ญี่ปุ่นครองส่วนแบ่งเพียง 5% ของตลาดยานยนต์ประเภทนี้ เทียบไม่ได้เลยกับแบรนด์จีนที่ครองอยู่มากถึง 40% และยังตามหลังแบรนด์รถอเมริกันที่มีส่วนแบ่งรองลงมาที่ 30% และ 20%
อีกเรื่องที่ต้องจับตามองคือ Honda จะเปลี่ยนซีอีโอด้วยหรือไม่ โดยถ้าหากเปลี่ยนซีอีโอคนใหม่ ต้องเป็นหัวเรือใหญ่ผลักดันรถ EV ของตัวเอง และ Afeela ที่พัฒนาร่วมกับ Sony
ในส่วนการเปลี่ยนซีอีโอของบริษัทญี่ปุ่นไม่ได้มีแค่ 3 บริษัทนี้เท่านั้น โดย Isuzu ได้ดัน Shinsuke Minami หัวเรือใหญ่ฝ่ายนโยบายและการเงินขึ้นเป็นซีอีโอคนใหม่ ส่วน Hiroki Tokaki ก็เลื่อนจากประธานฝ่ายเงินขึ้นเป็นซีอีโอคนใหม่ของ Sony
งานของซีอีโอคนใหม่ของบริษัทญี่ปุ่นทั้ง 5 คน ไม่ได้อยู่ที่การพาองค์กรไปข้างหน้าเท่านั้น แต่ยังต้องกระตุ้นให้เกิดการผลักดันนวัตกรรมด้วย เพราะปัจจุบันญี่ปุ่นกลายเป็นฝ่ายตามหลังทั้งเกาหลีใต้และจีนด้านนวัตกรรมไปแล้ว
จนรัฐบาลก็ต้องยกเครื่องไม่ต่างจากที่กำลังเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเริ่มจากฐานรากด้วยการให้มหาวิทยาลัย 17 แห่งเพิ่มคณะสารสนเทศ (IT) และวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science)/nikkei
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



