ปี 2566 เอปสันต้องเติบโต 10% และเป็นการเติบโต 10% ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ท่ามกลางความผันผวนของตลาดไอทีในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ยรรยง มุนีมงคลทร ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในงานแถลงทิศทางเอปสันปี 2566

การเติบโต 10% ในปีที่ผ่านมา มาจากสินค้าหลัก ได้แก่

กลุ่มสินค้าเครื่องพิมพ์อุตสาหกรรม เติบโต 170% การเติบโตของตลาดนี้มาจากเอปสันได้มีการทำกิจกรรมการตลาดเพื่อแนะนำสินค้าอย่างต่อเนื่อง

กลุ่มโฮมโปรเจกเตอร์ เติบโต 64% เป็นปีที่เติบโตสูงจากจำนวนลูกค้าติดตั้งโฮมเธียเตอร์ระดับไฮเอนด์ภายในบ้านเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากกระแสความสนใจชมการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคในการดูภาพยนตร์แบบส่วนตัวภาย ในบ้านมากขึ้น

กลุ่มเครื่องพิมพ์สิ่งทอระบบดิจิทัล เติบโต 52% เติบโตจากกิจกรรมกลางแจ้งที่เริ่มกลับมา และเครื่องพิมพ์เพื่อพิมพ์ผ้าลายต่าง ๆ ที่ต้องการ

กลุ่มผลิตภัณฑ์โปรเจกเตอร์ความสว่างสูง เติบโต 43% กลุ่มนี้เติบโตจากกลุ่มพิพิธภัณฑ์ ธีมปาร์ค และโรงแรมที่มีการติดตั้งโปรเจกเตอร์ความสว่างสูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

กลุ่มเครื่องพิมพ์มินิแล็บที่เติบโต 29% เป็นการเติบโตจากความต้องการของแล็บพิมพ์ภาพทั่วประเทศ จากความต้องการพรินต์ภาพของนักท่องเที่ยวและผู้รับปริญญา

อิงค์เจ็ท ก็อปปี้เออร์ เติบโต 23% การเติบโตนี้มาจากการเข้าไปชิงส่วนแบ่งตลาดจากเครื่องถ่ายเอกสารตามสำนักงานที่ใช้เทคโนโลยีเลเซอร์อยู่เดิม และลูกค้าเดิมที่สั่งซื้อจากธุรกิจกลับมา

สำหรับปี 2566 แม้ตลาดไอทีเติบโต 3% ด้วยมูลค่า 263,704 ล้านบาท แต่การเติบโตนี้เป็นการเติบโตที่มาจากกลุ่มเทลโก้ ที่มีการเติบโตมากถึง 9.9% โดยกลุ่มเทลโก้มีสัดส่วน 45% ของตลาดไอทีทั้งหมด

ถ้ามองไปที่ตลาดพรินเตอร์เพียงตลาดเดียวกลับพบว่า

ตลาดพรินเตอร์ในกลุ่มคอนซูเมอร์มีการเติบโตที่ลดลง ด้วยมูลค่า 2,838 ล้านบาท ลดลง 5% คิดเป็นจำนวนยูนิต 717,000 เครื่อง ลดลง 8%

การลดลงของตลาดพรินเตอร์ในกลุ่มคอนซูเมอร์ส่วนหนึ่งมาจากผู้บริโภคพิมพ์งานน้อยลง และนำเงินในกระเป๋าที่มีอยู่ไปใช้กับการท่องเที่ยวหลังจากที่อั้นมาอย่างยาวนานจากโควิด-19

ส่วนตลาดในกลุ่มคอร์ปอเรท เป็นกลุ่มที่มีการเติบโต จากการกลับมาของธุรกิจ และเป็นมูลค่าที่ใหญ่กว่ากลุ่มคอนซูเมอร์ แต่ตลาดนี้ไม่มีตัวเลขอย่างเป็นทางการ

ความท้าทายของตลาดพรินเตอร์ในกลุ่มคอนซูเมอร์ที่ลดลง เอปสันจะทำอย่างไรเพื่อสร้างการเติบโตให้ได้ 10% ในปีนี้

ยรรยงได้วางกลยุทธ์ที่เอปสันจะพาตัวเองเติบโต ผ่านแนวคิด 5 New ที่อยู่บนพื้นฐาน Sustainability ประกอบด้วย

1. New S Curve

จุดเด่นของเอปสันคือ มีเทคโนโลยี Heat-Free เป็นแกนหลัก ที่จะสร้างการเติบโตต่อไปในอนาคตให้กับเอปสัน ร่วมด้วยเทคโนโลยีอื่น ๆ เพื่อสร้างความความยั่งยืนให้กับผู้ใช้งาน ซึ่งเป็นไปตามแผนพัฒนาธุรกิจและการลงทุนสู่ความยั่งยืนของไซโก้ เอปสัน คอร์ปอเรชั่น

ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการประกาศยุติการจำหน่ายเครื่องพิมพ์เลเซอร์ พร้อมเปิดตัวเครื่องพิมพ์มัลติฟังก์ชันอิงค์เจ็ทในกลุ่ม WorkForce Enterprise รุ่น AM-Series ที่ใช้หัวพิมพ์ PrecisionCore Heat-Free Technology ที่กินไฟน้อย และถูกออกแบบให้มีชิ้นส่วนประกอบที่ต้องดูแลรักษาน้อย ทำให้บำรุงรักษาง่าย เพื่อมาแข่งขันในตลาดเดียวกับเครื่องพิมพ์เลเซอร์และเครื่องถ่ายเอกสาร

นอกจากนี้ ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เลเซอร์โปรเจกเตอร์ที่มีแหล่งกำเนิดแสงแบบเลเซอร์ ให้ความสว่างที่สูงกว่าแต่กินไฟน้อยกว่าเทคโนโลยีแบบหลอดภาพกำลังสร้างการเติบโตได้อย่างรวดเร็วในตลาด

2. New Target

เอปสันจะใช้ความได้เปรียบในด้านผลิตภัณฑ์ที่มีจำนวนรุ่นที่หลากหลายที่สุดในตลาด โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทความเร็วสูงที่เอปสันได้เข้าไปทำตลาดในกลุ่มเครื่องถ่ายเอกสาร พร้อมกับเปิดสินค้าใหม่อย่าง WorkForce Enterprise AM-Series เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ที่เข้ามาเติมเต็มไลน์สินค้าและสร้างโอกาสในการเพิ่มการขาย

สอดคล้องกับข้อมูลตลาดจาก IDC ที่เปิดเผยว่าเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทความเร็วสูงกลุ่มความเร็ว 31-60 แผ่นต่อนาที ในประเทศไทยถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพมากที่สุดในภูมิภาค

นอกจากนี้ ยังมีสินค้าในกลุ่มเครื่องพิมพ์เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม รวมถึงเลเซอร์โปรเจกเตอร์ สร้างโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ได้อย่างดี

3. New Business Model

ยรรยงมองการขายฮาร์ดแวร์อย่างเดียวไม่ได้สร้างการเติบโตแข็งแรงในอนาคต และเกิดโมเดลพรินต์เซอร์วิสใหม่ ๆ ขึ้นมา เพื่อสร้างรายได้ให้กลับสู่เอปสันอย่างต่อเนื่องทุกเดือน เช่นที่ผ่านมามีการทำตลาดผ่านบริการการพิมพ์แบบจ่ายรายเดือน EasyCare

และในครึ่งปีหลัง 2566 เอปสันนำร่องทดลองตลาดใหม่ ๆ ผ่านบริการ iPrint Anywhere ซึ่งจัดตั้งเครื่องพรินเตอร์ตามสถาบันการศึกษา พื้นที่สาธารณะ และอื่น ๆ ให้บริการลูกค้าที่ต้องการพรินต์งานเอกสารเข้ามาใช้บริการ และคิดค่าบริการตามจำนวนที่ใช้บริการ

โดยประเทศไทยถือเป็นประเทศที่สองต่อจากสิงคโปร์ที่นำ iPrint Anywhere มาให้บริการ

เหตุผลที่ไทยนำบริการ iPrint Anywhere เข้ามาทดลองตลาด มาจากยรรยงเห็นโอกาสจากผู้บริโภคที่ทำงาน Anywhere และมีความต้องการพรินต์เอกสารเพื่อใช้งานจากนอกบ้าน นอกสำนักงาน

ปัจจุบันโมเดล iPrint Anywhere ในไทยยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาตลาดถึงโมเดลการจ่ายเงิน ราคาค่าบริการ และพื้นที่ในการให้บริการ ซึ่งยรรยงคาดการณ์ว่าอาจจะเข้าไปทดลองตลาดในกลุ่มมหาวิทยาลัยเป็นกลุ่มแรก

4. New Experience

เอปสัน ประเทศไทย ลงทุนในการสร้างโซลูชันเซ็นเตอร์แห่งใหม่ ถูกออกแบบด้วยแนวคิดด้านความยั่งยืน ซึ่งจะเปิดให้บริการภายในเดือนตุลาคม 2566

โซลูชันเซ็นเตอร์แห่งใหม่จะรวบรวมผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ในกลุ่ม B2B มาจัดแสดง พร้อมกับทำการสาธิตและจัดอบรมให้กับตัวแทนจำหน่ายและลูกค้าที่สนใจ ก่อนตัดสินใจซื้อ

การที่เอปสันจัดทำโซลูชันเซ็นเตอร์สำหรับกลุ่ม B2B จากการมองเห็นโอกาสของธุรกิจ B2B สามารถสร้างการเติบโตได้เป็นอย่างดี และเป็นรายได้ที่เข้ามาทดแทนกลุ่มคอนซูเมอร์ที่มีการหดตัวลงต่อเนื่องทุกปี โดยเฉพาะตลาดพรินเตอร์

ในปัจจุบันเอปสันมีรายได้จากกลุ่ม B2B ในสัดส่วน 35% ของรายได้ทั้งหมด พร้อมกับการเติบโตด้านรายได้ดับเบิลดิจิตในทุก ๆ ปี

5. New Service เอปสันได้ทำการเสริมศักยภาพการให้บริการทั้งก่อนและหลังการขาย ด้วยการเพิ่มทีมงาน Pre-sales เพื่อให้สนับสนุนการทำโซลูชันต่างๆ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการสนับสนุนข้อมูลผ่านทาง digital platform

และในปีนี้เอปสันมีแผนขยายเครือข่ายการให้บริการหลังการขายของสินค้ากลุ่ม B2B จาก 122 แห่ง เป็น 130 แห่ง เพื่อตอบสนองการขยายตัวของสินค้าเอปสัน กลุ่ม B2B ที่ออกไปยังภูมิภาคมากขึ้น รองรับการขยายตัวของตลาด และลดระยะเวลาในการส่งเครื่องซ่อม

อย่างไรก็ดี การเติบโตของเอปสัน 10% ในปีนี้ ถือเป็นการเติบโตที่ยังท้าทายด้านหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น บนโอกาสข่าวการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ และมีผลดีในระยะสั้นกับเอปสัน มีการใช้จ่ายพรินต์เอกสาร โปสเตอร์

และการกลับมาของนักท่องเที่ยว มีการเปิดโรงแรม สถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่สร้างการเติบโตให้งานพิมพ์และการใช้โปรเจกเตอร์เพื่อสร้างแรงดึงดูดให้กับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการมากขึ้น



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน