เมื่อไม่นานมานี้รัฐมนตรีคลังของสหราชอาณาจักรได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับนโยบาย 4E ที่จะทำให้ประเทศก้าวข้ามปัญหาทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นเงินเฟ้อ การว่างงาน การศึกษา และบริษัทที่ติดอยู่กับรูปแบบที่ล้าหลัง
สหราชอาณาจักร (อังกฤษ เวลส์ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ) ก็เหมือนกับหลายประเทศที่ต้องเผชิญกับอุบัติเหตุทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ หรือที่เราเรียกว่ากันว่าเหตุการณ์ “Black Swan” ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายประเทศก็ต้องมีวิธีที่จะพาประเทศตัวเองหลุดพ้นปัญหาเศรษฐกิจไปให้ได้ ซึ่งพี่ใหญ่ในกลุ่มสหราชอาณาจักรอย่าง อังกฤษ เองก็เช่นกัน โดยพวกเขาผุดแผน 4 เสาหลักขึ้นมาเพื่อเพิ่ม “ผลิตผล” ทางเศรษฐกิจให้มากขึ้น เพื่อที่จะกลับมายืนหนึ่งอย่างภาคภูมิในกลุ่มประเทศในยุโรปให้ได้อีกครั้ง
แม้ว่าปัญหาเศรษฐกิจจะลุกลามไปทั่วโลก แต่ความสำเร็จในการเปิดตัววัคซีนอย่างแอสตราเซเนกา ก็ทำให้อังกฤษสามารถออกจากการล็อกดาวน์ได้ก่อนประเทศอื่น ๆ นอกจากนี้ อังกฤษยังคงเป็นหนึ่งในประเทศที่ดีที่สุด และน่าเข้ามาลงทุนมากที่สุด นับตั้งแต่ปี 2010 การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรอยู่ในช่วงกลางของกลุ่ม G7
ในการประชุม World Economic Forum ครั้งล่าสุดที่ดาวอส บริษัทที่ปรึกษาชื่อดังอย่าง PWC ได้เผยแพร่ผลสำรวจที่สรุปว่าอังกฤษเป็นประเทศที่น่าลงทุนที่สุดอันดับที่ 3 ของรองจากสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ และอยู่อันดับเดียวกับเยอรมนี โดยผลสำรวจความคิดเห็นนี้มาจากบรรดาซีอีโอของบริษัทต่าง ๆ นับตั้งแต่การลงประชามติในปี 2016 ในการก้าวออกมาจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป อังกฤษก็มีเศรษฐกิจที่เติบโตในอัตราเท่ากับเยอรมนี (เบอร์ 1 ด้านเศรษฐกิจของยุโรป)
ในปี 2022 อังกฤษเป็นเพียง 1 ใน 3 ประเทศในโลกที่มีเศรษฐกิจที่เป็นผลผลิตจากเทคโนโลยีมูลค่ากว่าล้านล้านดอลลาร์ วัคซีนของอังกฤษ เป็น 1 ใน 2 วัคซีนป้องกันโควิดที่เกือบทุกประเทศทั่วโลกใช้บ่อยที่สุด (วัคซีน Astrazeneca) และยา Dexamethasone ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสที่ช่วยชีวิต 1 ล้านคนทั่วโลก
นอกจากนี้ อังกฤษยังเป็นประเทศที่ 2 รองจากประเทศจีนในด้านการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมที่ติดตั้งนอกชายฝั่ง ซึ่งส่งผลให้ไฟฟ้ากว่า 40% ของอังกฤษมาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน
ในปีที่แล้วอังกฤษมีโอกาสร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำและภาคบริการทางการเงินชั้นนำของโลก ในการใช้ประโยชน์จากจุดแข็งเหล่านี้และเปลี่ยนให้สหราชอาณาจักรกลายเป็นซิลิคอนวัลเลย์แห่งต่อไปของโลก แต่จะต้องใช้ความมุ่งมั่นและการปฏิรูปอย่างมากเพื่อไปถึงจุดนั้น
แม้อังกฤษจะมีจุดแข็งในเรื่องเหล่านี้ แต่อังกฤษเองก็ยังมีปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะในเรื่อง “ประสิทธิภาพในการผลิตที่ตกต่ำ” เหตุผลเบื้องหลังเรื่องนี้ก็คือ เรื่องของช่องว่างทางด้านทักษะเฉพาะทาง การลงทุนทางธุรกิจในระดับต่ำ และการสะสมความมั่งคั่งในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของอังกฤษ นอกจากนี้ บริษัทต่าง ๆ ในอังกฤษก็กำลังประสบปัญหาในเรื่องการจ้างงาน โดยเฉพาะเมื่อผู้คนราว 300,000 คนต้องออกจากตลาดแรงงานตั้งแต่เกิดโรคระบาด
วิธีที่สำคัญที่สุดในการกระตุ้นการลงทุนและฟื้นฟูความเชื่อมั่นของผู้บริโภคก็คือการทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงจากปัจจุบันที่ 10.5% โดยรัฐบาลอังกฤษเล็งจะลดอัตราเงินเฟ้อลงครึ่งหนึ่งในปีนี้ โดยเรื่องนี้เป็น 1 ใน 5 เรื่องที่สำคัญที่ถูกกำหนดให้แก้ไขอย่างเร่งด่วนและเป็นคำสั่งตรงจากนาย Richi Sunak นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ
ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับการกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ การทำให้หนี้สาธารณะในประเทศลดลง การลดรายการรอคอยของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมไปถึงการสกัดกั้นผู้ลี้ภัยเข้ามาในประเทศแบบผิดกฎหมาย
แผนดังกล่าวประกอบไปด้วย 4 เสาหลัก เพื่อการบริหารจัดการกับช่องว่างด้านประสิทธิภาพการผลิตของสหราชอาณาจักร
เริ่มจากเสาหลักแรกข้อแรก หรือตัว E ตัวแรก นั่นก็คือ Enterprise หรือ “บริษัท” ด้วยความที่อังกฤษเป็นประเทศที่เศรษฐกิจมีพลวัตอยู่เสมอ พวกเขาจึงอยากจะใช้จุดให้เป็นประโยชน์ อังกฤษต้องการสร้างชื่อเสียงในด้านการเป็นสถานที่ที่ผู้คนต้องการมาลงทุนทำธุรกิจ
การวิจัยเกี่ยวกับสตาร์ตอัปโดย John Haltiwanger นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ชี้ให้เห็นว่าการหมุนเวียนอย่างรวดเร็วของธุรกิจเหล่านี้เป็นแหล่งผลิตภาพที่สำคัญที่สุดแหล่งหนึ่ง แม้ว่าจะเป็นประสบการณ์ที่ยากลำบาก โดยเฉพาะบริษัทที่มีขนาดของเงินทุนที่เล็ก แต่บริษัทอายุน้อยที่อยู่รอดได้เติบโตอย่างรวดเร็ว ก็ด้วยประสิทธิภาพการผลิตที่สูง
ผู้ประกอบการที่ไปรอดจะเข้าใจถึงความสำคัญของการรับความเสี่ยง และเมื่อเกิดความผิดพลาดก็จะยอมรับความล้มเหลวที่ได้คาดการณ์เอาไว้แล้ว ซึ่งจะนำเสนอบทเรียนที่สำคัญซึ่งสามารถป้อนเข้าสู่ธุรกิจสตาร์ทอัปที่ให้ผลผลิตสูงในตลาดได้
“E” ตัวที่สองคือ Education หรือ การศึกษา พนักงานที่มีทักษะสูงคือเส้นเลือดใหญ่ของบริษัทที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจที่จะลงทุน ระยะเวลาที่เพิ่มขึ้น 1 ปีที่คนทั่วไปใช้ในการศึกษาทำให้ระดับผลผลิตต่อหัวเพิ่มขึ้น 3-6% และคุณภาพการศึกษาที่บุคคลได้รับในขณะที่อยู่ในโรงเรียน วิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยจึงมีความสำคัญอย่างมาก
“E” ตัวที่สามคือ Employment หรือ การจ้างงาน หากบริษัทไม่สามารถจ้างพนักงานที่พวกเขาต้องการได้ พวกเขาก็ไม่สามารถเติบโตได้ ยิ่งไปกว่านั้นพวกเขาจะไม่คิดว่าสหราชอาณาจักรเป็นสถานที่สำหรับเริ่มต้นธุรกิจของพวกเขา
นับตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมาอังกฤษเป็นประเทศที่มีอัตราการว่างงานต่ำที่สุดในรอบเกือบ 50 ปี และสถิติการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานก็สูงเป็นประวัติการณ์ แต่เมื่อโควิดระบาดก็ทำให้เห็นว่าคนทำงานจำนวน 1 ใน 5 เป็นคนว่างงานและไม่ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจใด ๆ
ซึ่งการที่อังกฤษมีจำนวนคนว่างงานขนาดนี้เป็นอีกหนึ่งความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดที่ต้องได้รับการแก้ไข เพราะปัญหานี้เปรียบเสมือนตัวถ่วงการเติบโตของเศรษฐกิจและผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อขึ้นไปแตะระดับสูง
“E” ตัวสุดท้ายมาจากคำว่า “Ensuring the Benefits of Economic Development” หรือการรับประกันว่าผลประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นทุกพื้นที่ของอังกฤษ และเปิดโอกาสให้การลงทุนจากนอกประเทศสามารถหลั่งไหลเข้ามาได้นอกเหนือจากการใช้เงินทุนของประเทศเอง
แต่ปัญหาใหญ่ของอังกฤษที่ผู้เกี่ยวข้องพยายามฉายภาพให้เห็นก็คือความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจชองแต่ละประเทศในกลุ่มประเทศที่อยู่ในเครือสหราชอาณาจักร ซึ่งคิดเป็นมูลค่าของผลผลิตที่หายไปสูงถึง 83,000 ล้านปอนด์ มากกว่า 4% ของ GDP
ในเรื่องนี้รัฐบาลของอังกฤษได้ทุ่มเทเงินกว่าหลายพันล้านปอนด์เพื่อแก้ไขปัญหานี้ เริ่มตั้งแต่การปรับปรุงการเชื่อมต่อการขนส่งในภูมิภาคนอกลอนดอน ไปจนถึงการจ่ายเงินสำหรับโครงการมากกว่า 200 โครงการด้วยเงินจากกองทุน Leveling Up Fund มูลค่ากว่า 4,800 ล้านปอนด์
แต่การยกระดับที่แท้จริงต้องเกี่ยวกับการสร้างความมั่งคั่งในท้องถิ่นและเสริมอำนาจการตัดสินใจในระดับท้องถิ่น ดังนั้นในปี 2023 อังกฤษมีแผนที่จะประกาศเขตการลงทุนท่าเรือขนาดเล็ก เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรม การพัฒนาพื้นที่แต่ละแห่งจะถูกสร้างในพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพการเติบโตต่ำ แต่ยังมีศักยภาพให้เติบโตได้อีกมาก รวมถึงต้องมีมหาวิทยาลัยที่สามารถพัฒนาคนป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมได้
หลักการทั้ง 4 ข้อนี้คือแนวทางที่จะช่วยให้สหราชอาณาจักรกลับมาเป็นหนึ่งในประเทศที่เจริญรุ่งเรืองที่สุดในยุโรปและแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ยั่งยืนต่อไป
อ้างอิง
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ