จีนเมื่ออดีตกับจีน ณ ปัจจุบัน เปลี่ยนไปอย่างมาก โดยจากดินแดนกว้างใหญ่ที่ปิดตัวสู่ยักษ์หลับ แต่ทำอะไรได้ไม่เต็มที่แถมยังล้าหลังและถูกรุมทึ้ง มาวันนี้จีนพัฒนาในทุกด้านจนกลายเป็นมังกรผงาดอำนาจเกินต้าน
และพร้อมรุกทันทีหากเห็นช่องทางที่ยังประโยชน์ต่อประเทศ โดยถ้าเกี่ยวข้องและเป็นผลกระทบสืบเนื่องจากความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ การขยับของจีนก็จะเป็นข่าว เป็นประเด็นใหญ่ขึ้นมา
เช่น การเปิดเจรจากับกลุ่มตอลีบาน เมื่อปี 2021 หลังสหรัฐฯ ถอนกำลังจากอัฟกานิสถาน เพื่อหวังเข้าถึงแหล่งแร่ปริมาณมหาศาลที่สามารถนำมาป้อนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและรถ EV
การยกเหตุผลทางเศรษฐกิจเสนอความช่วยเหลือให้คู่เจรจา และย้ำเสมอว่าจะไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการภายใน ทำให้จีนประสบความสำเร็จในการเจรจาอยู่เสมอ จนส่งให้จีนกลายเป็นคู่ค้าสำคัญของประเทศแถบแอฟริกาแซงหน้าประเทศตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นทั้งสหรัฐฯ และยุโรป
ส่วนประเทศในเอเชีย จีนก็เป็นคู่ค้าลำดับต้น ๆ ของทุกประเทศร่วมทวีป และไม่ว่าจะดำเนินมาตรการปิดกั้นอย่างไร ที่สุดบริษัทและทุนจีนก็เจาะเข้ามาได้อยู่ดี
จากสถานการณ์ดังกล่าวยิ่งเป็นการย้ำว่า ทั้งดุลอำนาจและระเบียบโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว โดยมีสหรัฐฯ ซึ่งอ่อนกำลังลงไปอยู่ที่ขั้วหนึ่ง กับจีนซึ่งทั้งแกร่งขึ้นมาและเปี่ยมสรรพกำลังอยู่ที่อีกขั้วหนึ่ง
เมื่อกลางมีนาคมที่ผ่านมา จีนขยับให้โลกสะเทือนอีกครั้ง โดยคราวนี้เลื่อนจากเอเชียกลางสู่ตะวันออกกลาง พื้นที่ที่อุณหภูมิความขัดแย้งแทบไม่เคยลดลง แต่ก็ยังเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญสุดของโลก
จีนรับบทคนกลางในการเจรจา จนทำให้อิหร่านกับซาอุดีอาระเบีย คู่ปรับอมตะของตะวันออกลางซึ่งแตกหักกันไปเมื่อปี 2016 ไม่ใช่แค่กลับสู่โต๊ะเจรจา แต่ยังประกาศรื้อฟื้นความสัมพันธ์ด้วยแผนเปิดสถานทูตภายในอีก 2 เดือนจากนี้อีกด้วย
หลักฐานยืนยันเบื้องต้น และสัญลักษณ์แห่งนิมิตหมายที่ดีของเหตุการณ์นี้คือ ภาพและวิดีโอเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้ง 3 ประเทศ คือ อาลี ชัมคานี่ เลขาธิการสภาความมั่นคงสูงสุดแห่งชาติของอิหร่าน มุสซาด บิน โมฮัมหมัด ที่ปรึกษาหน่วยข่าวกรองซาอุฯ และ หวัง ยี่ รัฐมนตรีต่างประเทศจีนจับมือกัน
บทบาทของจีนในการประสานรอยร้าวระหว่างอิหร่านกับซาอุฯ หลังหลายปีที่ผ่านมาสองฝ่ายหลังเลี้ยงไฟแห่งความขัดแย้งให้ร้อนอยู่โดยตลอดผ่านทั้งสงครามตัวแทน และการสนับสนุนรัฐบาลหรือกลุ่มการเมืองในตะวันออกกลาง ถูกจับตามอง
เพราะมีขึ้นหลังสหรัฐฯ ลดบทบาทในตะวันออกกลางทั้งเป็นเหมือนขั้วอำนาจนอกภูมิภาคมาหลายสิบปี และซาอุฯ กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ที่มกุฎราชกุมารเพิ่มบทบาท และกำลังพาประเทศไปสู่ทิศทางใหม่ จนกล่าวได้ว่าปกครองประเทศต่อจากกษัตริย์องค์ปัจจุบันแล้วในทางปฏิบัติ
ส่วนอิหร่านก็คงพยายามหาทางยุติความขัดแย้ง เพื่อไม่ให้ลามไปมากกว่านี้ จนยิ่งไปฉุดให้เศรษฐกิจที่กำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจโลกไม่ต่างจากประเทศอื่น ๆ แต่ก็ไม่สามารถรื้อฟื้นความสัมพันธ์ได้อย่างเปิดเผย
ในระดับภูมิภาคย่อมทำให้สถานการณ์ในตะวันออกลางสงบ พร้อมช่วยลดหรือยุติการโจมตีบ่อน้ำมันของซาอุฯ จากกลุ่มที่อิหร่านสนับสนุนจนดีดราคาน้ำมันให้แพงขึ้นถึง 14% ในช่วงเพียงสุดสัปดาห์เดียวเหมือนปี 2019 ไม่เกิดขึ้นอีก
แต่แน่นอนว่าฝ่ายที่ถูกจับตามองมากสุดคือคนกลางอย่างจีน เพราะจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับซาอุฯ แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น หลังฝ่ายหลังเป็นคู่ค้าน้ำมันอันดับหนึ่งของจีนมายาวนาน เฉพาะปี 2021 จีนก็ซื้อน้ำมันจากซาอุฯ มากถึง 87,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 2.9 ล้านล้านบาท)
ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอิหร่านก็จะดีขึ้นเช่นกัน ทำให้การค้าขายระหว่างประเทศคึกคักมากขึ้น การไปลงทุนในอิหร่านของจีนคงจะเพิ่มขึ้นอีก หลัง 25 ปีที่ผ่านมา จีนไปลงทุนโครงการต่าง ๆ ของอิหร่านแล้วเป็นมูลค่าสูงถึง 400,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 13.7 ล้านล้านบาท)
และในทางกลับกัน อิหร่านจะพึ่งจีนในเรื่องการค้ามากขึ้น จาก 30% ณ ปัจจุบัน จึงอาจกล่าวได้ว่าจีนมีแต่ได้กับได้
การรับบทกาวใจครั้งนี้จีนจะได้การยอมรับจากประเทศในตะวันออกกลางมากขึ้น แม้จีนจะทำอย่างระมัดระวังและไม่ไปก้าวก่ายการเมืองของประเทศในภูมิภาคนี้ เพื่อลดข้อติดขัดของโครงการ One Belt-One Road ในภูมิภาคนี้
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะช่วยให้จีนมีบทบาทและอำนาจในตะวันออกกลางมากขึ้น ซึ่งสหรัฐฯ ก็คงไม่พอใจ ทว่าส่วนหนึ่งสหรัฐฯ ก็อาจต้องโทษตัวเองที่หันไปจับมือกับอังกฤษและออสเตรเลียตั้งกลุ่ม AUKUS
เพื่อจำกัดอิทธิพลของจีนในแถบทะเลเอเชีย-แปซิฟิก แทน เพราะทำให้ต้องปล่อยมือจากสถานการณ์ในตะวันออกกลาง จนเปิดช่องให้จีนเข้ามานั่นเอง/nikkei, dw, aljazeera
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



