เพราะการประสานเสียงย่อมดังกว่าตะโกนอยู่ฝ่ายเดียวและยังช่วยเพิ่มอำนาจต่อรอง จึงมีการรวมตัวบนเวทีโลกกันอย่างมากมายมาแต่ไหนแต่ไร โดยกลุ่มประเทศชั้นนำทางเศรษฐกิจ 7 ประเทศหรือ G7 ถือเป็นกลุ่มที่รวมตัวกันมาอย่างยาวนานนับจากปี 1973
ไม่ค่อยแตกคอกัน และมีอิทธิพลถึงขั้นกำหนดทิศทางโลกได้อยู่เสมอ
แต่ 10 กว่าปีที่ผ่านมา G7 ซึ่งประกอบไปด้วย สหรัฐฯ แคนาดา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี และญี่ปุ่น พร้อมนับรวมสหภาพยุโรป (EU) เข้าไปด้วย ก็ถูกอีกกลุ่มซึ่งมีประชากรรวมกันราว 3,200 ล้านคน หรือคิดเป็นราว 41% ขึ้นมาท้าทายอำนาจ
BRICS ซึ่งประกอบไปด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ คือกลุ่มที่ว่านี้ โดยกลุ่มนี้ปรากฏขึ้นครั้งแรกเพียง 4 ประเทศ จากการเรียกกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ของ Jim O’Neil นักเศรษฐศาสตร์ของ Goldman Sachs
แม้ช่วงแรก ๆ ดูจะไม่ต่างจากคำที่ใช้เพื่อจุดประสงค์ทางการตลาดของ Goldman Sachs แต่โลกต่างรับรู้ถึงศักยภาพของกลุ่มนี้ และทางกลุ่มก็รู้ดีถึงประโยชน์ของการรวมตัวกัน จนนำมาสู่การประชุมครั้งแรกในปี 2009 ซึ่งต่อด้วยการประชุมครบ 5 ประเทศ หลังแอฟริกาใต้เข้าร่วมกลุ่มในปีถัดมา
BRICS ตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (New Development Bank) ขึ้นในปี 2014 ผ่านเงินสนับสนุนจากสมาชิกทั้ง 5 รวม 50,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.7 ล้านล้านบาท) พร้อมนโยบายให้ความช่วยเหลือประเทศอื่น ๆ นอกกลุ่มด้วย
การตั้งธนาคารกลุ่ม BRICS ขึ้นจึงทำให้กลุ่ม BRICS ถูกจับตามองว่าจะมาเป็นคู่แข่งของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งกลุ่ม G7 หนุนหลังอยู่
อย่างไรก็ตาม ถัดจากนั้นเมื่อเวลาล่วงไป แม้กลุ่ม BRICS จะยังมีการประชุมมาแล้ว 14 ครั้ง แต่กลับดูเหมือนว่า โลกกลับไม่ให้ความสนใจเท่าใดนัก ตรงข้ามกับกลุ่ม G7 ที่เรียกความสนใจได้เสมอเมื่อจัดการประชุม และสามารถกำหนดทิศทางโลกได้ตลอด
ขณะเดียวกันนับตั้งแต่ตั้งกลุ่ม BRICS มา จีนคือประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตชัดเจนที่สุด โดยปี 2010 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จีนอยู่ที่ 6 ล้านล้านดอลลาร์ พอถึงปี 2020 ก็เพิ่มเป็น 18 ล้านล้านดอลลาร์
ทิ้งห่างอินเดีย ที่ในกรอบเวลาเดียวกัน GDP โตจาก 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ไปอยู่ที่ 3.1 ล้านล้านดอลลาร์แบบไม่เห็นฝุ่น สำหรับที่เหลืออีก 3 ประเทศไม่ต้องพูดถึง เพราะเศรษฐกิจยังคงซบเซา
ส่วนในสถานการณ์ความขัดแย้งในยุโรป สมาชิกกลุ่ม BRICS ไม่ประณามรัสเซีย โดยในจำนวนนี้อินเดียไม่ทำเพราะต้องพึ่งปุ๋ยจากรัสเซีย
ขณะที่จีนก็ใช้สถานการณ์ความขัดแย้งในยุโรป เป็นโอกาสกระชับความสัมพันธ์กับรัสเซีย แถมยังเสนอตัวเป็นคนกลางในการเจรจา ส่วนบราซิลกับแอฟริกาใต้เลือกที่จะเงียบ
DW สื่อใหญ่ในเยอรมนีรายงานบทวิเคราะห์ท่าทีของ BRICS ว่า แม้ได้ขยับจากกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจไปเป็นกลุ่มที่มีจุดประสงค์ทางการเมืองเพื่อคานอำนาจของ G7
และชัดเจนแล้วว่า แม้รวมตัวกันหลวมๆ แต่ก็มีจีนเป็นแกนนำ และรัสเซีย พร้อมให้การสนับสนุนในทุกจีนในเรื่อง เพราะมีผลประโยชน์ร่วมกัน และต่างก็ต้องการต้านอำนาจชาติตะวันตก
ส่วน 3 ประเทศที่เหลืออันได้แก่ อินเดีย บราซิล แอฟริกาใต้ ควรแสดงบทบาทให้มากกว่านี้ เพื่อไม่ให้จีนใช้ BRICS เป็นเวทีแสดงอำนาจจนมากเกินไป
ด้าน The Guardian สื่อเก่าแก่ของอังกฤษ วิเคราะห์ว่า G7 ควรดึง 3 ประเทศที่เหลือของ BRICS มาร่วมหารือมากขึ้น เพื่อไม่ให้ถูกดึงไปทางจีนมากเกินไป
ทว่าต้องจับตาดูกันต่อไปว่าจะทำได้แค่ไหน เพราะจีนก็คงรู้ทัน ไม่ยอมง่าย และได้เสนอให้มีการขยายความร่วมมือกับระหว่าง BRICS กับประเทศอื่นๆ ด้วย
ปีนี้โลกน่าจะได้เห็นการหยั่งเชิงกัน ดึงประเทศอื่นมาร่วมประชุม และแสดงอิทธิพล ของทั้งสองกลุ่มบนกระดานการเมืองโลกอีกครั้ง ในการประชุม G7 ที่ญี่ปุ่นช่วงพฤษภาคมนี้ และการประชุม BRICS ที่แอฟริกาใต้ช่วงสิงหาคม / dw, theguardian, wikipedia, nikkei
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



