เศรษฐีย้ายฝากยุโรปมาเอเชีย เสริมโอกาส Private Banking ไทยสดใส ปี 2021 พอร์ต AUM 25.7 ล้านล้านบาท คาดแตะ 32 ล้านล้านบาท ปี 2026 พบ SCB Julius Baer ตั้งเป้าโต 12%
กลยุทธ์ผสานลงทุนในประเทศ-ต่างประเทศ ให้ไร้รอยต่อ/บริการผู้จัดการ RM ที่ปรึกษาแบบหัวอกคนไทยด้วยกัน/เปิดหลักสูตร The 45 Academia เทรนทายาทรุ่นใหม่ พร้อมสานความมั่งคั่งอย่างยั่งยืน
นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB กล่าวว่า ช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา กลุ่มผู้มีความมั่งคั่งทางการเงิน หรือ เศรษฐี ได้ย้ายการใช้เม็ดเงินจากยุโรปมายังเอเชียมากขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นโอกาสในอนาคต 3-5 ปีข้างหน้า สำหรับกลุ่มลูกค้ามั่งคั่งระดับกลาง ที่สามารถขยับขึ้นไปอยู่ระดับบน
SCB ประเมินว่า สินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการทั้งหมด (AUM) สำหรับลูกค้ากลุ่มมั่งคั่ง (Wealth) ใน Private Banking หรือ ธนาคารที่ทำธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) ในภูมิภาคเอเชีย ปี 2021 อยู่ที่ 2.7 ล้านล้านดอลลาร์ คาดว่าจะเติบโตไปเป็น 4.7 ล้านล้านดอลลาร์ ใน ปี 2026
พอร์ต AUM ของ Private Banking ในประเทศไทย ดังนี้
เศรษฐีย้ายฝากยุโรปมาเอเชีย
มีส่วนเสริม Private Banking ไทย AUM แตะ 32 ล้านล้านบาท ปี 2026 |
|
มูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการทั้งหมด (AUM) ของ Private Banking ไทย ปี 2021 | 25.7 ล้านล้านบาท |
อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) 2021-26 | 5% |
เซกเมนต์ลูกค้ากลุ่มผู้มีความมั่งคั่งทางการเงิน | |
มูลค่า AUM / ล้านบาท | CAGR 2021-26 |
> 50 | 4.80% |
10-50 | 4.36% |
1-10 | 5.34% |
0.5-1 | 3.79% |
ปี 2026 ทาง Private Banking ไทย จะมี AUM ลูกค้ากลุ่มมั่งคั่ง 32 ล้านล้านบาท เป็นแชร์ของลูกค้ากลุ่ม >50 ล้านบาท 13.4 ล้านล้านบาท | |
ที่มา: SCB Julius Baer/เมษายน 2566 |
กลุ่มเป้าหมายของ SCB Julius Baer คือ ลูกค้ากลุ่มมั่งคั่งสูง ที่มีเงินลงทุนเกินกว่า 50 ล้านบาท ซึ่งครองส่วนแบ่ง AUM ในตลาดไทย ปี 2021 อยู่ที่ประมาณ 10.6 ล้านล้านบาท
SCB มีฐานลูกค้าปัจจุบัน อยู่ที่ 17 ล้านคน แบ่งเป็น SCB Welath ซึ่งมีฐานลูกค้าภายใต้ AUM ตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป กว่า 400,000 ราย รวมถึงกลุ่มลูกค้าที่มีความมั่งคั่งระดับสูง (High Net Worth Individuals) คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดกว่า 40%
และมีแผนงานขยายฐานลูกค้าเติบโตต่อเนื่อง มากกว่า 12% ต่อปี ตั้งเป้าภายใน 3 ปี ขึ้นแท่นผู้นำ International Private Banking หรือ ความเป็นเลิศด้านธุรกิจบริหารความมั่งคั่งครบวงจร
เฉพาะกลุ่ม Young Affluent ที่มีความสนใจในการวางแผนการลงทุนที่เติบโตต่อเนื่อง ผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์การเงินการลงทุนที่หลากหลาย และเป็น Open Architecture
รวมถึงการขยายฐานลูกค้านักลงทุน Digital Investors ผ่านการพัฒนา Wealth Platform ที่ตอบโจทย์เป้าหมายการลงทุนที่ครบวงจร ตั้งเป้าหมายภายใน 3 ปีมีฐานลูกค้า Digital Investors กว่า 1.3 ล้านราย
โดย SCB Julius Baer จะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนและสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) และสามารถช่วยวางแผนการเงินให้กับลูกค้าได้เต็มรูปแบบ และครบวงจร
นางสาวลลิตภัทร ธรณวิกรัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด หรือ SCB Julius Baer กล่าวว่า SCB Julius Baer เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ถือหุ้น 60% กับ จูเลียส แบร์ (Julius Baer) Private Banking ชั้นนำจากสวิตเซอร์แลนด์ ถือหุ้น 40%
ก่อตั้งขึ้นมาครั้งแรกในปี 2019 ด้วยทุนจดทะเบียน 1,800 ล้านบาท ก่อนเพิ่มสะสมสูงถึง 2,650 ล้านบาท
ทิศทางการดำเนินธุรกิจ ปี 2023 จะโฟกัสในเรื่องหลัก ๆ ดังนี้ ปิดจุดอ่อนของการเป็นกิจการร่วมค้า (Joint Venture) ซึ่งมีอายุไม่ยาว ด้วยพันธสัญญาร่วมกันระหว่าง SCB กับ Julius Baer ว่าเกิน 100 ปี แน่นอน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้ากลุ่มมั่งคั่ง
นำกลยุทธ์ The New Wave of Wealth มาใช้เป็นแกนหลักในการดำเนินธุรกิจ เน้นเจาะกลุ่ม ทายาทคนรุ่นใหม่ (Next Generation) ที่เป็นคำตอบของการรักษาความมั่งคั่ง อย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วย 3 ข้อสำคัญ ได้แก่
1. Onshore & Offshore Investment: บริหาร AUM ลูกค้าให้สามารถลงทุนทั้งในประเทศ (Onshore) และต่างประเทศ (Offshore) ได้แบบไร้รอยต่อ และครบวงจร
2. Human Touch: บริการที่เข้าใจกลุ่มลูกค้ามั่งคั่งคนไทย ด้วย ผู้จัดการธุรกิจสัมพันธ์ หรือ Relationship Manager (RM) คนไทยที่มีความรู้ ความเข้าใจตลาดเมืองไทย เข้าใจความต้องการของลูกค้าทั้งในเชิงวัฒนธรรม วิถีชีวิตและแนวคิดของคนไทยด้วยกัน
3. Seamless Access: ให้บริการผ่าน Open Product Platform ด้วยผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลาย กำหนดกลยุทธ์การลงทุนที่สร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุด ตรงกับความต้องการของลูกค้าเฉพาะบุคคล (Tailored Made) และเข้าถึงการลงทุนทั่วโลกได้อย่างแท้จริง
อาคาร SCB Julius Baer ที่ตั้งอยู่บน ถ. สุขุมวิท 45 ที่ไว้รองรับลูกค้ากลุ่มมั่งคั่ง ซึ่งก่อสร้างและออกแบบภายใต้คอนเซ็ปต์ ไพรเวท ลักซ์ชัวรี ก็กลับมาเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง หลังปิดไปในช่วงโควิด
ส่วนงาน Sustainability ทาง SCB Julius Baer ยังมีความมุ่งมั่นในการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ ตามเกณฑ์ ESG และ เปิดหลักสูตร The 45 Academia เตรียมความพร้อมให้กับกลุ่มทายาทนักธุรกิจ และกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ (Next Generation) พัฒนาศักยภาพของตนเอง และเตรียมความพร้อมการสืบทอดธุรกิจให้อย่างยั่งยืน
ภาพรวมกลยุทธ์การลงทุนในไทย ปี 2023 ทาง SCB Julius Baer แนะนำให้เข้าลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนที่คุณภาพดี ลดการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง (High yield Bond)
ขณะที่การลงทุนในหุ้นยังแนะนำให้ใช้กลยุทธ์แบบ Barbell คือลงทุนทั้งในกลุ่มที่เป็น Secular Growth ที่ยังคงมีการเติบโตที่ดี ผสมกับหุ้นคุณภาพที่เป็นกลุ่มปลอดภัย (Defensive)
โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ SCB Julius Baer ให้น้ำหนักการลงทุนเชิงบวก คือ กลุ่มเทคโนโลยี (Technology) กลุ่มสุขภาพ (Healthcare) และกลุ่มสื่อสาร (Communication)
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



