ในวันที่อากาศร้อนจัดค่าไฟราคาพุ่งพรวด เชื่อว่าหลายคนกำลังคิดถึงการใช้ไฟฟรีจากดวงอาทิตย์ ผ่านการติดตั้งระบบหลังคาโซลาร์เซลล์
ผศ. ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ หรือ “ดร ยุ้ย” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หญิงแกร่งคนหนึ่งของวงการอสังหาริมทรัพย์ ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มานานกว่า 10 ปี
เธอเป็นเจ้าของโครงการบ้านจัดสรรรายแรก ๆ ของเมืองไทย ที่มีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปขายไปพร้อม ๆ กับบ้าน
การเป็นผู้บุกเบิกไม่ใช่เรื่องง่าย
และที่สำคัญราคาการติดแผงโซลาร์เมื่อ 10 ปีก่อนนั้นสูงมาก ในขณะที่ลูกค้าก็ยังไม่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากพอ
เธอเลยต้องพยายามอย่างหนักที่ต้องทำให้ราคาบ้านอยู่ในเซกเมนต์เดิม
ถ้าไม่ใช่เป็นเพราะความมั่นใจว่าในอนาคตพลังงานสะอาดคือเมกะเทรนด์ในเรื่องที่อยู่อาศัย และเป็นการช่วยลดโลกร้อน วิกฤตโลกที่ใกล้ตัวขึ้นทุกวัน
ดร.เกษรา คงถอดใจไปแล้ว


จากอาจารย์มาขาย “บ้าน”

จุดเปลี่ยนสำคัญครั้งหนึ่งในชีวิต หลังจากเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยมานานนับ 10 ปี
วันหนึ่งคุณแม่โทรบอกว่าคุณพ่อเป็นมะเร็ง ทำให้เธอซึ่งเป็นลูกสาวคนโตต้องกลับมาช่วยบริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของครอบครัว ที่คุณพ่อสร้างและทุ่มเทมาตั้งแต่ปี 2524 โดยในปีแรก ๆทำควบคู่ไปกับงานสอนหนังสือ ที่เธอรักมาก
ดร.เกษรา เล่าไว้ในหนังสือ SUSTAIN OR DIE หรือต้องการให้โลกแย่ไปกว่านี้? ที่เธอเขียนไว้เองว่า
ช่วงแรกที่เข้ามาทำงานต้องปรับตัวเยอะมาก เพราะงานสอนหนังสือกับการขายสินค้าต่างกันมาก และหลายครั้งอยู่ในเหตุการณ์ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ทุกนาที แน่นอนว่าช่วงนั้นเคยผิดพลาดจนแทบจะถอดใจ
แต่คุณพ่อได้ให้กำลังใจและปลูกฝังเรื่องการสู้ขาดใจมาโดยตลอดว่า
“การบุกเบิกไม่ใช่เรื่องง่าย แต่คุณพ่อได้ปลูกฝังเรื่องการต่อสู้ถ้าชกไม่ครบ 10 ยกก็ห้ามลงจากเวที ทำให้ยุ้ยกัดไม่ปล่อย ไม่ว่าจะทำอะไรแล้วต้องไปให้สุด”
จุดเปลี่ยนอีกครั้งของชีวิต คือภาพเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ที่ได้เข้าไปพบกับผู้คนที่มีความยากลำบาก และได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก
น้ำท่วมใหญ่ ส่วนหนึ่งมีที่มาจากการทำลายสิ่งแวดล้อมด้วยมือของมนุษย์เอง เธอเริ่มตระหนักว่าการหันมาดูแลโลกเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างรีบด่วน และในฐานะผู้ประกอบการธุรกิจบ้านจัดสรรจะสามารถมีบทบาทในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง
ในที่สุดเธอก็มาให้ความสำคัญกับโครงการบ้านติดโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าทางเลือกจากแสงแดด เป็นพลังงานสะอาดที่ไม่ก่อมลพิษให้กับโลก สามารถใช้ฟรีได้ตลอดทั้งวัน ทำให้ลูกบ้านประหยัดค่าไฟฟ้า แล้วยังช่วยโลกได้อีกทาง
“การทำธุรกิจอสังหาฯ ของยุ้ยนั้นทำเพื่อสร้างกำไรค่ะ แต่ไม่ได้มุ่งทำกำไรสูงสุดเพียงฝ่ายเดียว ยุ้ยต้องการให้ลูกค้าที่ซื้อบ้าน และเราในฐานะคนขายบ้านมีกำไรทั้งคู่ และบ้านพล้งงานโซลาร์นี่ล่ะค่ะที่จะทำให้เราได้กำไรกันทั้งคนซื้อคนขาย และคืนกำไรให้กับโลกของเราด้วย”
เสนาดีเวลลอปเม้นท์ ได้ศึกษาและพัฒนาหมู่บ้านโซลาร์เซลล์เป็นรายแรกของไทยเมื่อประมาณ 13 ปีก่อน โดยเริ่มในโครงการแรกที่เสนาพาร์ควิลล์ รามอินทรา กม. 9
หลังจากนั้นได้ขยายไปทุกโครงการ ทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม และพื้นที่บริเวณส่วนกลางของคอนโดมิเนียม รวมทั้งสิ้น 47 โครงการ
มากกว่า 1,000 ครัวเรือน คิดเป็นการผลิตไฟฟ้ามากกว่า 100 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ ยังมีกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มอยู่ 2 แห่ง อ.วังม่วง จ.สระบุรี และโครงการโทรลุ้ยริมน้ำ จ.นครปฐม รวม 46.5 เมกะวัตต์
การเป็นผู้บุกเบิกไม่ใช่เรื่องง่าย
เมื่อ 10 กว่าปีก่อนเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การทำโซลาร์รูฟในที่พักอาศัยนั้นยังใหม่มาก ดังนั้นเธอต้องศึกษาอย่างรอบด้านทั้งผลกระทบ ต้นทุนการใช้งาน การขออนุมัติจากภาครัฐ ที่สำคัญบ้านที่ติดตั้งโซลาร์บนหลังคาที่อยู่อาศัย (Solar Rooftop) ต้องเป็นบ้านที่ราคาจับต้องได้
ปัญหาสำคัญที่สุดคือราคาการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อบเมื่อ 10 ปีก่อนนั้นสูงมาก
ดร.เกษรา บอกว่า เมื่อประมาณ ปี 2554 นั้นราคาติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านราคา 5 ล้านบาท โซลาร์เซลล์ขนาดกำลังผลิต 10 กิโลวัตต์ ซึ่งเป็นกำลังการผลิตสูงที่สุดสำหรับที่อยู่อาศัยตกอยู่ที่วัตต์ละ 130 บาท หรือ 130,000 บาทต่อกิโลวัตต์
ดังนั้น ต้องเสียค่าติดตั้งสูงถึง 1.3 ล้านบาท คิดเป็น 26% ของราคาบ้าน หรือเท่ากับ 1 ใน 4 ของราคาบ้าน
ถ้าไม่ใช่เป็นเพราะความมุ่งมั่นในเรื่องการที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการลดโลกร้อนและความมั่นใจว่าในอนาคตเรื่องนี้คือเมกะเทรนด์ในที่อยู่อาศัย
ดร.เกษรา คงถอดใจ เพราะเมื่อต้นทุนเพิ่ม ราคาบ้านก็ต้องสูงขึ้น ในขณะที่ผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ที่ไม่ได้ลงมาทำเรื่องนี้ก็ขายบ้านกันได้ตามปกติ
เธอเลยต้องพยายามอย่างหนักที่ต้องทำให้การติดโซลาร์คือส่วนหนึ่งของตัวบ้าน และที่สำคัญต้องทำให้ราคาบ้านอยู่ในเซกเมนต์เดิม โดยเอาสเกลเข้าช่วย
เป็นวิธีการลงทุนแบบเสนาคือ All in นำ Solar System มารวม แล้วทำให้ต้นทุนบ้านหรือราคาบ้านที่ออกมาไม่แพงกว่าตลาด เป็นการ compromise อย่างละนิดละหน่อยให้ตอบโจทย์ตลาดคนซื้อได้มากที่สุด
ดังนั้น โครงการเสนาวิลล์ ลำลูกกา คลอง 6 โครงการแรกในกลุ่ม ทาวน์โฮม ราคาเพียง 2 ล้านบาท หรือคอนโดมิเนียมราคาไม่เกิน 1 ล้านบาทของเสนา ลูกบ้านก็สามารถจ่ายค่าไฟฟ้าในราคาที่ถูกลง และยังภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดโลกร้อนอีกด้วย
ปัจจุบันราคาในการติดตั้งแผงโซลาร์ลดลงอย่างมาก
ในปี 2565 ราคาติดตั้ง Solar Rooftop อยู่ที่ 38 บาทต่อวัตต์ หรือ 38,000 ต่อกิโลวัตต์ หากติดโซลาร์เซลล์ขนาด 10 กิโลวัตต์จะเสียค่าติดตั้งเพียงแค่ 3.8 แสนบาท คิดเป็น 7.6% ของราคาบ้าน หรือไม่ถึง 1 ใน 10 ของราคาบ้านด้วยซ้ำ
พร้อม ๆ กับความต้องการของลูกค้ามีเพิ่มขึ้น
แน่นอน วันนี้เธอมาถูกทาง
โซลาร์รูฟช่วยเซฟเงิน 3 เด้ง
เด้งที่ 1 ค่าไฟลดฮวบ ช่วยลดค่าไฟฟ้าต่อหน่วยที่ใช้งาน เพราะสามารถใช้ไฟฟ้าฟรีจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้โดยตรงผ่านเครื่องแปลงไฟ (inverter) ในช่วงเวลา 10.00 – 15.00 น. ได้ทันที ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่โซลาร์เซลล์ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ดีที่สุด ไม่ไปเพิ่มหน่วยไฟฟ้าที่ต้องจ่ายเงินซื้อให้มากขึ้น เมื่อหน่วยการใช้ไฟฟ้าน้อยลง ราคาค่าไฟต่อหน่วยก็จะถูกลงตามขั้นบันไดที่นำมาคำนวณ
เด้งที่ 2 ค่า FT น้อยลงตาม เพราะค่า FT จัดเก็บโดยคำนวณเป็นราคาต่อหน่วยไฟฟ้าเช่นกัน เมื่อจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ถูกใช้ลดลงค่า FT ที่จะต้องใช้แต่ละเดือนก็ลดตามไปด้วย
เด้งที่ 3 ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT 7% ที่คำนวณจากค่าไฟฟ้าทั้งหมดก็ลดลงเช่นกัน
นอกจากประหยัดค่าใช้จ่าย 3 เด้งดังกล่าวแล้ว หากเหลือใช้ยังขายคืนให้กับภาครัฐได้ โดยสำนักคณะกรรมการกิจการพลังงาน ได้ประกาศรับซื้อไฟฟ้าเฉพาะบ้านอยู่อาศัยตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป โดยมีขนาดกำลังการผลิตไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ในราคา 2.2 บาทต่อหน่วย ระยะเวลารับซื้อ 10 ปี
ใครบ้างที่เหมาะสำหรับการติดตั้งหลังคาโซลาร์เซลล์
ดร.เกษรา แยกให้เห็นว่าผู้ที่เหมาะในการติดตั้งหลังคาโซลาร์เซลล์แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ
1. ผู้ที่ซื้อบ้านใหม่ สามารถเลือกซื้อในโครงการที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปมาให้ ซึ่งทางโครงการจะออกแบบการติดตั้งที่สวยงามถูกต้องตามมาตรฐาน มีการรับประกันหลังการขายครบวงจร โดยผู้ซื้อไม่ต้องติดต่อเรื่องขออนุญาตเพราะทางโครงการดำเนินการให้เบ็ดเสร็จ
2. ผู้ที่มีบ้านอยู่แล้ว ปัจจุบันมีบริษัทที่ให้บริการคำปรึกษา และรับติดตั้งโซลาร์รูฟจำนวนมาก
3. โฮมออฟฟิศ อาคารสำนักงาน และโรงงานที่มีคนทำงานช่วงกลางวันตลอดเวลา หากติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปก็จะได้ใช้กระแสไฟฟ้าซึ่งผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ในช่วงเวลากลางวันอย่างเต็มที่
เธอยกตัวอย่างการติดโซลาร์กำลังการผลิตไฟฟ้า 3 กิโลวัตต์ ซึ่งเหมาะกับครอบครัว 1- 2 คน ขนาดโซลาร์เซลล์ 2,278 x 1,134 มิลลิเมตร มีพื้นที่ 2.58 ตารางเมตร มีกำลังการผลิตแผงละ 545 วัตต์ ใช้โซลาร์เซลล์ 6แผง เพื่อผลิตไฟฟ้า 3 กิโลวัตต์ ต้องใช้พื้นที่บนหลังคาบ้านประมาณ 15.48 ตารางเมตร
ค่าติดตั้งอยู่ที่ 150,000 บาท
ด้วยกำลังไฟขนาดนี้สามารถใช้เครื่องปรับอากาศขนาด 12,000 BTU 1 เครื่อง ตู้เย็นขนาด 8 -10 คิว 1 เครื่อง โทรทัศน์ ขนาด 50 นิ้ว 2 เครื่อง ปั๊มน้ำขนาด 350 วัตต์ 1 เครื่อง
หากตีออกมาเป็นตัวเงินจะประหยัดไปได้ราว ๆ 1,584 บาทต่อเดือน หรือ 19,008 บาทต่อปี ในระยะเวลา 10 ปี จะช่วยประหยัดไฟฟ้าไปได้ 190,008 บาท เท่านี้ก็คุ้มทุนแล้ว แต่โซลาร์เซลล์ มีอายุการประกัน 25 ปี นั่นหมายความว่าอีก 15 ปีหลังจากนั้นคือกำไรเท่ากับ 285,120 บาท
“ถึงแม้ค่าติดตั้งโซลาร์รูฟจะถูกลงมากแล้วแต่หลายคนยังมองว่าค่อนข้างสูง แต่ต้องคิดใหม่ว่า ไม่ใช่ค่าใช้จ่าย แต่เป็นการลงทุน เพราะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าแต่ละเดือนได้ และหากมีพลังงานไฟฟ้าเหลือใช้ ก็นำไปขายให้ภาครัฐเป็นรายได้เพิ่มขึ้นได้อีก”
ในปี 2566 เสนายังวางกลยุทธ์ทางธุรกิจพร้อมต่อยอดแนวคิดสู่การพัฒนาที่อยู่อาศัยอัจฉริยะสมาร์ทโฮม โดยใช้โมเดล SENA HHP ZERO ENERGY HOUSE (ZEH) หรือบ้านพลังงานเป็นศูนย์ ซึ่งได้โนว์ฮาวจากพันธมิตรทางธุรกิจ บริษัท ฮันคิว ฮันชิน พร็อพเพอร์ตี้ส์ คอร์ป มาประยุกต์และปรับใช้กับโครงการบ้านเสนา ตั้งแต่ออกแบบเลือกวัสดุอุปกรณ์ภายในให้มีการใช้พลังงานลดลงหรือใกล้ศูนย์มากสุด เพื่อรองรับกลไกตลาดในปัจจุบันและอนาคตที่ผู้บริโภคจะเลือกที่อยู่อาศัยรับกับไลฟ์สไตล์ของตนเอง
โมเดล ZEH ที่เรานำมาใช้ในโครงการบ้านเสนา เริ่มจากโครงการบ้านเดี่ยวย่านรามอินทรา กม. 9 และบางนา-กม. 29 คาดว่าจะเปิดตัวต้นไตรมาส 3 ของปีนี้
“โดยมีเป้าหมายเพื่อลดภาระการใช้พลังงานให้กับลูกบ้านของเสนาได้ไม่ต่ำกว่า 20% นอกจากนี้ ยังจัดทำแอปพลิเคชัน SENA 360 เพื่อให้ลูกบ้านสามารถตรวจสอบการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ผ่านมือถือ นับเป็นการผสมผสานเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้ลูกบ้านมากยิ่งขึ้น”
เป็นเป้าหมายสูงสุดของดร.เกษรา ในการพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน โดยใช้หลักคิดว่าทุกอย่างเริ่มต้นจากบ้าน และเพื่อตอกย้ำความคิดที่ว่า “ถ้าชกไม่ครบ 10 ยกก็ไม่ยอมลงจากเวที ไม่ว่าจะทำอะไรแล้วต้องไปให้สุด” ของเธอด้วย
*** ข้อมูลบางส่วนมาจาก หนังสือ SUSTAIN OR DIE หรือต้องการให้โลกแย่ไปกว่านี้?
และ SOLAR SO GOOD เขียนโดย ผศ. ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



