หลังจากที่ทรูประกาศคว้าลิซ่าเป็นพรีเซนเตอร์ในส่วนของดิจิทัล

ในวันนี้ ลิซ่า ได้เป็นพรีเซนเตอร์ของทรูมันนี่เป็นที่เรียบร้อย

และ ลิซ่า คือพรีเซนเตอร์ระดับโลกคนแรกของทรูมันนี่ ที่พรีเซนต์ภาพรวมของทรูมันนี่ทั้งหมด และช่วยสื่อสารภาพทรูมันนี่เป็นฟินเทคที่พาคนไทยสู่โอกาสทางการเงินที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น

ด้วยเหตุผลคือ

ลิซ่า แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ จากวัยรุ่นไปออดิชั่น สู่ศิลปินระดับโลก เหมือนกับทรูมันนี่ที่ให้บริการจากประเทศไทยสู่ภูมิภาค ด้วยการเปิดให้บริการในกัมพูชา เมียนมา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

และ ลิซ่า เป็นคนที่เข้าถึงได้ทุกคน

แม้ ลิซ่า จะเป็นพรีเซนเตอร์เฉพาะทรูมันนี่ในประเทศไทย แต่สามารถสร้างการรับรู้ในต่างประเทศ จากแฟนคลับพูดถึงในโลกโซเชียล

พร้อมทำตลาดใหญ่ที่สุดในรอบ 10 ปี ในรูปแบบ 360 องศา บนคอนเซ็ปต์ทรูมันนี่เป็นไปได้ ได้ทุกคน ผ่านออนไลน์, ออฟไลน์ เช่น TVC ป้ายบิลบอร์ดทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เปลี่ยน CI (Corporate Identity) ใหม่ในแอปพลิเคชันรวมถึงแคมเปญการตลาดดึงดูดผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง

จากที่ผ่านมาทรูมันนี่เคยใช้พรีเซนเตอร์โปรโมตเฉพาะบางบริการเท่านั้น เช่น นนท์ ธนนท์ โปรโมตบริการทรูมันนี่วอลเลต เป็นต้น

เหตุผลที่เลือก ลิซ่า เป็นพรีเซนเตอร์ที่ช่วยพรีเซนต์บริการทรูมันนี่ทุกมิติมาจาก

1. Pain Point ของทรูมันนี่ พร้อมรีแบรนด์ทรูมันนี่ไม่ได้มีแค่วอลเลต เพื่อพาตัวเองสู่เวอร์ชวลแบงก์ และทำ IPO ในอนาคต

ในเดือนมีนาคม 2566 ทรูมันนี่มีการรีแบรนด์จากทรูมันนี่ วอลเลต เป็นทรูมันนี่ เพื่อปลดล็อกภาพลักษณ์แบรนด์ไม่ได้มีบริการแค่วอลเลต

เพื่อตอบโจทย์บริการของทรูมันนี่มีบริการหลากหลายไม่ได้มีเพียงบริการเพย์เมนต์ ยังมีบริการ เช่น ฝากเงินดอกเบี้ยสูง, ลงทุน, วงเงินใช้ก่อนโอนทีหลัง และอื่น ๆ ซึ่งเป็นบริการที่ลูกค้าทรูมันนี่บางกลุ่มไม่ทราบ หรือไม่สนใจที่จะใช้บริการมาก่อน ทั้ง ๆ ที่ทรูมันนี่มีให้บริการมาแล้วกว่า 18 เดือน–2 ปี

และผู้บริหารทรูมันนี่เชื่อว่าลูกค้าจะมี Loyalty กับทรูมันนี่แข็งแกร่งขึ้น ถ้ารู้ว่ามีบริการอะไรบ้าง

ลิซ่า จึงกลายเป็นตัวแทนของแบรนด์สื่อสารถึงกลุ่มผู้ใช้เดิมที่มีอยู่ 27 ล้านรายในประเทศไทยในปัจจุบัน เป็นลูกค้าที่แอ็กทีฟใช้งานทุกเดือน 17 ล้านรายทราบถึงบริการเหล่านี้ และเข้ามาเป็นลูกค้าใช้บริการในส่วนอื่น ๆ ที่มากกว่าบริการที่ใช้เป็นประจำจนเกิดการใช้งานที่แอ็กทีฟมากขึ้น

ในปัจจุบันทรูมันนี่มีลูกค้าที่ใช้บริการเงินฝากดอกเบี้ยสูง และลงทุน 2.5 ล้านราย หรือเกือบ 10% ของลูกค้าทั้งหมด บริการเงินฝากและลงทุนเป็นบริการที่ทรูมันนี่เปิดมาแล้วกว่า 2 ปี

และบริการวงเงินใช้ก่อนโอนทีหลัง เปิดให้บริการมากว่า 18 เดือน ปัจจุบันมีลูกค้า 1.2-.1.3 ล้านราย ส่วนใหญ่ผู้ใช้บริการวงเงินใช้ก่อนโอนทีหลัง จะใช้ในกรณีซื้อสินค้าในเซเว่นอีเลฟเว่น โลตัส และร้านค้าต่าง ๆ

ผู้บริหารทรูมันนี่คาดการณ์ว่าในสิ้นปี 2566 จะมีผู้ใช้บริการเงินออม และลงทุน ในสัดส่วน 20% จากลูกค้าทั้งหมด

เพื่อเป้าหมายในปี 2568 ทรูมันนี่จะมีผู้ใช้บริการครึ่งหนึ่งของประชากรไทย หรือมากกว่า 33 ล้านคน ใช้ทรูมันนี่แอ็กทีฟทุกเดือน

และ 20% ของผู้ใช้งานทรูมันนี่ทุกเดือน มีการใช้บริการทางการเงินผ่านแพลตฟอร์ม

ถ้าเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ผู้บริหารทรูมันนี่คาดการณ์จะมีกำไรจากธุรกิจบริการด้านการเงินมากกว่า 50% ของกำไรทั้งหมด จากปัจจุบันที่มีกำไรประมาณ 10%

พร้อมกับสร้าง Awareness ไปถึงกลุ่มลูกค้าในต่างจังหวัดที่เป็น Up Country ให้ใช้บริการในความถี่ที่เพิ่มขึ้น

จากปัจจุบันลูกค้าแอ็กทีฟของทรูมันนี่ มากถึง 40% จาก 17 ล้านรายเป็นคนกรุงเทพ ส่วนต่างจังหวัดที่ไม่ใช่ตัวเมืองยังมีการใช้งานแอ็กทีฟไม่สูงมาก ซึ่งผู้บริหารทรูมันนี่ยอมรับว่าทรูมันนี่ยังมี Awareness ในต่างจังหวัดที่ไม่ใช่เมืองหลักไม่พอ ส่วนหนึ่งมาจากประโยชน์ในการใช้งานที่คนกลุ่มนี้เข้าไปซื้อสินค้าในเซเว่นอีเลฟเว่นไม่บ่อยเท่ากับคนกรุงเทพ

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้คาดการณ์ว่าเป็นหนึ่งในเป้าหมายของทรูมันนี่ พาตัวเองเป็นซูเปอร์แอปพลิเคชันให้บริการทางการเงินที่หลากหลาย เพื่อเตรียมพร้อมพาตัวเองสู่ เวอร์ชวลแบงก์ ในอนาคต เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยมีความชัดเจนถึงขอบเขตใบอนุญาตเวอร์ชวลแบงก์ และทรูมันนี่ได้ประโยชน์จากบริการที่เพิ่มขึ้นเมื่อเป็นเวอร์ชวลแบงก์

รวมถึงการพาตัวเองเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ผ่านการทำ IPO ในอนาคต ซึ่งการทำ IPO ของทรูมันนี่ผู้บริหารทรูมันนี่ให้ข้อมูลว่ายังไม่ใช่ช่วงเวลาในปีหน้า และขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่เหมาะสม

 

2. สร้างการเติบโตลูกค้าใหม่

อีกวัตถุประสงค์หนึ่งที่ทรูมันนี่นำลิซ่าเป็นพรีเซนเตอร์คือ ความต้องการขยายฐานลูกค้าจากปัจจุบัน 27 ล้านราย เป็น 35 ล้านรายในสิ้นปี

พร้อมกับขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มเด็ก-วัยรุ่น กลุ่มเริ่มทำงาน และกลุ่ม SME เพิ่มขึ้น เพราะ 3 กลุ่มนี้ยังเป็นกลุ่มที่มีช่องว่างในตลาดที่สามารถเข้าไปลงเล่นได้

เช่น กลุ่มเด็ก วัยรุ่น เป็นกลุ่มที่เข้าถึงเทคโนโลยี และถ้าขยายดิจิทัลเพย์เมนต์ไปกลุ่มเด็กอายุ 13 ขึ้นไปได้ ทำได้เชื่อว่าจะเป็นรากฐานการออมมากขึ้น

กลุ่มเริ่มทำงาน เป็นกลุ่มที่ยังมีรายได้ไม่มากนัก เป้าหมายคือ ทำให้คนกลุ่มนี้เริ่มลงทุนในสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนที่สูง

กลุ่ม SME ต้องการขยายธุรกิจ แต่ขาดสภาพคล่องในการขาย เป็นต้น

ที่ผ่านมา ข้อมูลจาก Marketeer พบว่า

ในเดือนพฤษภาคม 2563 ทรูมันนี่มีฐานลูกค้า 15 ล้านราย

สิ้นปี 2564 ฐานลูกค้า 17 ล้านราย

เมษายน 2565 มีฐานลูกค้า 24 ล้านราย

การเติบโตที่ผ่านมาส่วนหนึ่งมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผลักดันให้เกิดการใช้เงินในรูปแบบ Cashless มากขึ้น รวมถึงการจับมือกับพันธมิตร เช่นลาซาด้า เป็นช่องทางในการชำระเงินซื้อสินค้า

การมีช่องทางรับชำระเงินในประเทศไทยผ่านทรูมันนี่ 7 ล้านจุด โดยเฉพาะการชำระเงินค่าสินค้าในเซเว่นอีเลฟเว่น -เซเว่นเดลิเวอรี

ช่องทางชำระเงินผ่านทรูมันนี่ในต่างประเทศหลากหลายประเทศโดยไม่มีค่าธรรมเนียม เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ เรตการชำระเงินอิงค่าเงินต่างประเทศในวันที่ใช้บริการ  

ล่าสุดในเดือนมิถุนายน 2566 ได้ขยายจุดชำระเงินผ่านทรูมันนี่ไปยังประเทศจีน ผ่านการจับมือกับอาลีเพย์ให้ลูกค้าทรูมันนี่สามารถชำระเงินผ่านจุดชำระเงินอาลีเพย์ได้

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันลูกค้าทรูมันนี่มี ธุรกรรมต่อวันหลายสิบล้านผ่านแอปพลิเคชัน

ลูกค้าทรูมันนี่ทำธุรกรรมเฉลี่ย 20 ครั้งต่อเดือน  และใช้จ่ายผ่านทรูมันนี่เฉลี่ยเดือนละ 3-4 พันบาท เติมเงินเข้าระบบเฉลี่ยครั้งละ 100 บาท

โดยธุรกรรมหลัก คือดิจิทัลเพย์เมนต์ ใช้จ่ายในการซื้อแอปพลิเคชันผ่านแอปเปิลสโตร์ เพลย์สโตร์, ซื้อบริการคอนเทนต์ เช่น เน็ตฟลิกซ์ เติมเกม และซื้อสินค้าในลาซาด้า

ลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่ใช้งานทรูมันนี่เป็น เป็นกลุ่ม Gen Y มีสัดส่วนมากถึง 40% ของลูกค้าทั้งหมด ส่วนหนึ่งเพราะการเป็นพาร์ตเนอร์กับลาซาด้าที่ดึงผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อมาใช้บริการ และลูกค้าที่ซื้อสินค้าผ่านติ๊กต็อก เซเว่นอีเลฟเว่น โลตัส เป็นต้น



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน