สถาบันยานยนต์ เผยภาพรวมอุตสาหกรรมรถยนต์ในไทย ม.ค.-เม.ย. 2566 ผลิตรวม 6 แสนคัน คาดทั้งปี ส่งออกโตต่อเนื่อง สวนทางในประเทศหดตัว เหตุสถาบันการเงินเข้มปล่อยสินเชื่อ รถยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนใหม่แตะ 5 หมื่นคัน แบรนด์จีนจะมีกำลังผลิตในไทยถึง 3.54 แสนคัน/ปี ภายในต้นปี 2567 เดินหน้าจัดงาน Automotive Summit 21-22 มิ.ย. นี้ ณ ไบเทค บางนา สร้างการรับรู้แก่ผู้ประกอบการต่อเนื่อง
รถยนต์ไฟฟ้า จดทะเบียนใหม่ในไทย
แตะ 5 หมื่นคัน ปีนี้ |
|
อุตสาหกรรมรถยนต์โลก | |
ยอดขาย ปี 2566 | 86.05 ล้านคัน |
ม.ค.-เม.ย. 2566 | 27.5 ล้านคัน |
ม.ค.-เม.ย. 2562 (ก่อนโควิด-19) | 31.8 ล้านคัน |
อุตสาหกรรมรถยนต์ไทย | |
ยอดขาย ปี 2566 | 1.95 ล้านคัน |
ส่งออก | 1.05 ล้านคัน |
ขายในประเทศ | 900,000 คัน |
ม.ค.-เม.ย. 2566 | |
ผลิต | 625,423 คัน |
ส่งออก | 353,632 คัน |
ขายในประเทศ | 276,603 คัน |
รถยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนใหม่ | 19,347 คัน |
สถาบันยานยนต์ คาดว่ารถยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนใหม่ ทั้งปี 2566 จะอยู่ที่ 50,000 คัน | |
ที่มา: สถาบันยานยนต์/พฤษภาคม 2566 |
ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก และในไทย ล้วนได้รับอานิสงส์การฟื้นตัว จากปัจจัยเดียวกัน คือการคลี่คลายลงของการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ และชิ้นส่วนเพื่อการผลิต
อย่างไรก็ตาม ปริมาณยอดขายก็ถือว่ายังน้อยกว่าช่วง ปี 2562 (ก่อนเกิดโควิด-19) โฟกัสไปที่ประเทศไทย ผลกระทบต่อปริมาณผลิต จำหน่ายและส่งออก ว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยทั้งภายนอกและภายในประเทศ
ปัจจัยภายนอกประเทศ สถานการณ์ตลาดส่งออก อ้างอิงข้อมูลจาก IHS Markit คาดการณ์ว่า ตลาดหลัก คือ อาเซียน และตะวันออกกลาง จะยังเติบโต 4% และ 6% ตามลำดับ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว จากสถานการณ์โควิด-19
ขณะที่ตลาดออสเตรเลียจะทรงตัว เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศเริ่มชะลอตัวจากหนี้ภาคครัวเรือน อย่างไรก็ดี ในกลุ่มตลาดหลัก ออสเตรเลีย และอาเซียน ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น
โดยมีทั้งมาตรการด้านอุปสงค์ และอุปทาน ทำให้การเติบโตของตลาดส่วนหนึ่งจะมาจากกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งยังไม่ใช่ผลิตภัณฑ์หลักที่ประเทศไทยส่งออก จึงอาจทำให้เสียโอกาสการส่งออกบางส่วน
รูป 1
ส่วนปัจจัยภายในประเทศ ขึ้นอยู่กับว่า นโยบายของรัฐบาลชุดใหม่จะมีทิศทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างไร แต่เชื่อว่านโยบายของรัฐยังคงมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutral) ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ ทำให้คาดว่าภาครัฐน่าจะมีมาตรการส่งเสริมยานยนต์คาร์บอนต่ำด้วยเช่นเดียวกัน
แต่คาดว่า ปีนี้ตลาดในประเทศจะหดตัวลงแน่นอน เพราะการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน อันเป็นผลจากหนี้ครัวเรือนอยู่ในอัตราสูง และอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้นเพิ่มขึ้น
ส่วนการขึ้นค่าแรงในภาคการผลิต สถาบันยานยนต์มองว่าไม่ได้ส่งผลกระทบในอุตฯ ยานยนต์ในไทย เพราะมาตรฐานค่าแรงขั้นต่ำในอุตฯ ดังกล่าว สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำเพดานใหม่ 450 บาทอยู่แล้ว
ด้านโครงการส่งเสริมรถยนต์ EV ของภาครัฐ รถยนต์ EV สูงสุด 150,000 บาท/คัน และมอเตอร์ไซค์ EV สูงสุด 18,000 บาท/คัน ซึ่งงบประมาณสำหรับจ่ายชดเชย 2,900 ล้านบาท กรอบระยะเวลา ปี 2565-66 ที่จะสิ้นสุดในเดือนกันยายนนี้
กรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างการเตรียมขอจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมอีก 3,000 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในโครงการส่งเสริมการใช้รถยนต์ EV กรอบระยะเวลา ปี 2566-67
ส่วนกรอบระยะเวลา ปี 2567-68 ซึ่งเป็นช่วงที่แบรนด์ยานยนต์จากต่างประเทศ ที่เข้ามาลงทุนผลิตรถยนต์ EV ในไทย เดินหน้าไลน์ผลิตได้เต็มสูบ ส่งผลทำให้ราคาขายในประเทศลดลงได้อีก และเสริมให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อกันมากขึ้น
คาดการณ์ว่ายอดจองรถยนต์ EV ในปีข้างต้น จะสะสมแล้วกว่า 50,000 คัน และส่งให้ภาครัฐต้องใช้เงินชดเชยส่วนส่งเสริมการซื้อ กว่า 40,000 ล้านบาท จึงต้องมีการปรับรายละเอียดใหม่ และคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด อีวี) จะต้องเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของรัฐบาลใหม่อีกครั้ง
ทั้งจากเป้าหมาย 30@30 หรือมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัดส่วน 30% จากการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในประเทศ ภายในปี 2030 และมาตรการส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่ผ่านมา ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์หลายรายจากประเทศจีน หันมาตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทย เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงในการผลิต เนื่องด้วยเหตุผลด้านภูมิรัฐศาสตร์
รูป 2
ปัจจุบันมีแบรนด์จีนต่าง ๆ ที่เข้ามาตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพวงมาลัยขวาในไทย ดังนี้
ถึงต้นปี 2567
แบรนด์จีนจะผลิตรถยนต์ EV ในไทย 3.54 แสนคัน/ปี |
|
การลงทุนผลิตรถยนต์ EV พวงมาลัยขวาในไทย | |
มีโรงงานผลิตแล้ว | กำลังผลิต คัน/ปี |
SAIC Motor-CP บริษัทร่วมทุนระหว่าง เอสเอไอซี มอเตอร์ และ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ผลิตรถยนต์ภายใต้แบรนด์ MG | 100,000 คัน/ปี |
GWM | 80,000 คัน/ปี |
เริ่มก่อสร้างโรงงาน และพร้อมผลิต ประมาณปลายปี 2566 – ต้นปี 2567 | กำลังผลิต คัน/ปี |
BYD | 150,000 คัน/ปี |
NETA | 20,000 คัน/ปี |
DFSK-VOLT City EV ซึ่งลงทุนเองโดย EV Primus ผู้ผลิต-จัดจำหน่ายที่ได้รับอนุญาตจาก 2 แบรนด์ข้างต้น แต่เพียงผู้เดียวในไทย | 4,000 คัน/ปี |
ประกาศลงทุนตั้งโรงงานในไทย ล่าสุด (เม.ย.2566) | ตั้งเป้ากำลังผลิต คัน/ปี |
Changan Automobile | 100,000 |
GAC Aion | 100,000 |
อยู่ระหว่างพิจารณาแผนการลงทุนในไทย | |
Geely | JAC |
Jiangling Motors Corporation Limited (JMC) | Chery Automobile |
* กำลังผลิตของ SAIC และ GWM รวมรถยนต์ไฟฟ้าพวงมาลัยขวา ทั้ง EV, PHEV และ HEV | |
ที่มา: Marketeer รวบรวม/พฤษภาคม 2566 |
โดย สถาบันยานยนต์ เตรียมสร้างการรับรู้แก่ผู้ประกอบการครั้งใหญ่ ด้วยการร่วมมือกับ บริษัท อาร์เอ็กซ์ เทรดเด็กซ์ จำกัด เป็นปีที่ 10 ติดต่อกัน จัดงานสัมมนา Automotive Summit 2566 ภายในงาน Manufacturing Expo
คอนเซ็ปต์งาน Reshape the Future of Thai Automotive Industry หรือ พลิกโฉมอนาคตอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย
รูป 3
เนื้อหาในงาน ประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลัก 1. Transition หรือการเปลี่ยนแปลงในประเด็นต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมยานยนต์ 2. Transformation หรือ อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะรับมือการเปลี่ยนแปลงนั้นได้อย่างไรบ้าง
มีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนกว่า 40 คน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมยานยนต์มานำเสนอและแลกเปลี่ยนมุมมองเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่
นางวราภรณ์ ธรรมจรีย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์เอ็กซ์ เทรดเด็กซ์ จำกัด กล่าวว่า ผู้ที่เข้าร่วมฟังสัมมนาในงาน Automotive Summit 2566 แล้ว สามารถเข้าชมเครื่องจักรและเทคโนโลยีสำหรับการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในงาน Automotive ภายใต้มหกรรม Manufacturing Expo ได้ทันที โดยทั้ง 2 งาน เข้าร่วมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
งานสัมมนา Automotive Summit 2566 ภายในงาน Manufacturing Expo จัดวันที่ 21-22 มิ.ย. 2566 ณ ห้องแกรนด์ฮอลล์ 203 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
งาน Manufacturing Expo จัดวันที่ 21-24 มิ.ย. 2566 ณ ฮอลล์ 98-104 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ