ตลาดร้านแว่นตามูลค่า 7,350 ล้านบาท เป็นตลาดที่มีการเติบโตเฉลี่ยปีละ 5% ในช่วงระหว่างปี 2556-2566

การเติบโตของตลาดร้านแว่นตาเป็นการเติบโตจากปัจจัยหลักได้แก่

1. คนไทยมีปัญหาเรื่องสายตามากขึ้น ในช่วงอายุที่น้อยลง จากการใช้สายตาอยู่กับโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และจออื่น ๆ เป็นเวลานาน ๆ จากการเรียน การทำงาน และเรื่องส่วนตัวต่าง ๆ ที่ติดต่อสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย เล่นเกม ดูวิดีโอสตรีมมิ่ง และอื่น ๆ ในแต่ละวัน

สิ่งเหล่านี้เป็นหนึ่งในอัตราเร่งให้สายตาเกิดความผิดปกติจนต้องตัดแว่น หรือใส่คอนแทคเลนส์ เพื่อให้สามารถมองเห็นได้ชัดเจนเป็นปกติ ในกรณีที่ไม่ไปทำเลสิก หรือฝืนใช้ชีวิตแบบไม่ค่อยชัดเจน

ซึ่งการเปลี่ยนกรอบแว่นของคนไทยจะเฉลี่ยอยู่ประมาณ 2-3 ปีครั้งในกรณีที่กรอบแว่นยังคงใช้งานได้ดีอยู่ และเปลี่ยนเลนส์เฉลี่ยปีละครั้งตามสายตาที่เปลี่ยนไป

โดยในตลาดร้านแว่นตาส่วนใหญ่จะมีรายได้ที่น่าสนใจจากมาร์จิ้นของแว่นตาที่มีกำไรค่อนข้างสูง ทำให้ร้านแว่นหลายร้านใช้กลยุทธ์ลดราคากรอบแว่นเพื่อดึงดูดและเร่งให้ผู้บริโภคตัดสินใจตัดแว่นได้ง่ายขึ้น

2. ตลาดร้านแว่นตามีรายได้อีกส่วนหนึ่งมาจากการขายคอนแทคเลนส์และอุปกรณ์ล้างคอนแทคเลนส์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างความถี่ให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการได้บ่อยขึ้น โดยเฉพาะจากลูกค้าที่ใช้คอนแทคเลนส์รายวันและรายเดือน ที่จำเป็นต้องซื้อคอนแทคเลนส์เพื่อเปลี่ยนอยู่เสมอ

3. พฤติกรรมผู้บริโภคบางกลุ่มนิยมใส่แว่นเพื่อแฟชั่นเสริมบุคลิกและอื่น ๆ รวมถึงการซื้อแว่นกันแดดเพื่อใช้ป้องกันสายตาระหว่างทำกิจกรรมเอาต์ดอร์ต่างๆ ซึ่งผู้บริโภคกลุ่มนี้บางคนเลือกที่จะซื้อแว่นจากร้านแว่นตาแทนร้านแว่นแฟชั่นที่มีวางขายทั่วไป จากการมองเห็นว่าร้านแว่นตาบางร้านมีกรอบดีไซน์ที่ถูกใจ มีแบรนด์ให้เลือกหลายราย และอื่น ๆ

จากสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจร้านแว่นตาเติบโต จนมีร้านแว่นเชนต่าง ๆ เปิดสาขาในศูนย์การค้า แหล่งชุมชน จำนวนมากเพราะมองเห็นโอกาสการเติบโตด้านรายได้จากธุรกิจตัดแว่นและคอนแทคเลนส์

และรวมร้านแว่นที่เป็นร้านเดี่ยว ๆ ที่มีอยู่ทั่วประเทศ ในประเทศไทยจะมีร้านแว่นตามากถึง 5,000 สาขา ซึ่งถือว่ามีสาขาจำนวนมาก จนเราไปไหนก็เห็นร้านแว่นตาอยู่เต็มไปหมดทั้งในรูปแบบสแตนด์อโลนและในศูนย์การค้า

ตลาดร้านแว่นตาในประเทศไทยจะมีเชนหลักที่มีสาขามากที่สุดอยู่ 3 เชน ได้แก่ ท็อปเจริญ เคที ออพติค และหอแว่น ซึ่งทั้งสามเชนนี้ต่างมีสาขาที่ครอบคลุมพร้อมรายได้ที่น่าสนใจ

ท็อปเจริญมีสาขา 1,750 สาขา

และเมื่อมองย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2561 จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แว่นท็อปเจริญ มีรายได้

2561    รายได้รวม 4,555.60 ล้านบาท กำไร 169.83 ล้านบาท

2562    รายได้รวม 5,041.72 ล้านบาท กำไร 134.09 ล้านบาท

2563    รายได้รวม 4,432.24 ล้านบาท กำไร 133.35 ล้านบาท

2564    รายได้รวม 4,273.37 ล้านบาท กำไร 284.59 ล้านบาท

2565    รายได้รวม 5,414.10 ล้านบาท กำไร 626.91 ล้านบาท

 

KT OPTIC มีสาขา 160 สาขา มีรายได้รวมย้อนหลังดังนี้

2561    รายได้รวม 89.57 ล้านบาท กำไร 1.21 ล้านบาท

2562    รายได้รวม 784.37 ล้านบาท กำไร 16.67 ล้านบาท

2563    รายได้รวม 644.43 ล้านบาท กำไร 2.42 ล้านบาท

2564    รายได้รวม 678.66 ล้านบาท กำไร 0.21 ล้านบาท

2565    รายได้รวม 924.86 ล้านบาท กำไร 18.30 ล้านบาท

 

หอแว่นมีสาขา 110 สาขา

2561    รายได้รวม 901.58 ล้านบาท กำไร 31.34 ล้านบาท

2562    รายได้รวม 925.24 ล้านบาท กำไร 25.33 ล้านบาท

2563    รายได้รวม 781.85 ล้านบาท กำไร 19.00 ล้านบาท

2564    รายได้รวม 741.83 ล้านบาท ขาดทุน 114.28 ล้านบาท

2565    รายได้รวม 975.10 ล้านบาท กำไร 54.98 ล้านบาท

 

รายได้ที่ลดลงของร้านแว่นทั้ง 3 เชน ในช่วงปี 2563-2564 ส่วนหนึ่งมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ที่ทำให้ศูนย์การค้าปิดชั่วคราวเพื่อเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งร้านแว่นทั้ง 3 เชนส่วนใหญ่มีสาขาตั้งอยู่ในศูนย์การค้า

รวมถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มมีเงินในกระเป๋าที่ลดลงจนเกิดการชะลอซื้อแว่นใหม่ หรือเลือกตัดแว่นในราคาประหยัดลงมา เป็นต้น

ส่วนในปี 2565 เป็นต้นไป เชื่อว่าตลาดร้านแว่นจะกลับมาเติบโตอีกครั้งจากกำลังซื้อเริ่มกลับมา และคนออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น และแว่น หรือคอนแทคเลนส์เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเสริมบุคลิก เสริมความชัดเจนในการมองให้มีความมั่นใจในชีวิตประจำวันและการพบปะบุคคลอื่น ๆ นอกบ้านมากขึ้น

เพราะในวันนี้คนไทยมองชัดเจนน้อยลง จนต้องหาคนมาตัดแว่นให้หน่อย



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online