กวาดตามองไปบนถนนทั่วโลกทุกวันนี้ Toyota ยังคงเป็นแบรนด์รถที่ได้รับความนิยม ยิ่งในเอเชียนี่ถือเป็นแบรนด์เบอร์ต้น ๆ ที่ครองตลาดมานาน ร่วมกับรถญี่ปุ่นแบรนด์อื่น ๆ แต่มองให้ละเอียดอีกสักหน่อยจะเห็นได้ว่า ในบรรดารถที่วิ่งขวักไขว่นั้นมีรถ EV แทรกเข้ามาอย่างมีนัยสำคัญ
แต่กลับแทบไม่มีโลโก้ Toyota กับแบรนด์รถร่วมชาติอยู่บนรถ EV เหล่านั้นเลย ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ มาจากค่ายรถญี่ปุ่นยังเห็นว่า ตลาดยานยนต์ยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน จึงยึดติดอยู่กับเน้นความหลากหลาย มีรถใช้พลังงานแบบต่าง ๆ ออกมา ทั้งรถน้ำมัน พลังงานลูกผสม (Hybrid) และ EV ออกมา ให้ผู้บริโภคเลือก
นี่ทำให้อันดับแบรนด์รถญี่ปุ่นในตลาดรถ EV ร่วงอย่างมาก โดยผลการจัดอันดับปีนี้ ปรากฏว่า Toyota อยู่อันดับ 10 บริษัทยานยนต์ที่พร้อมก้าวไปสู่อนาคต ร่วงจากอันดับ 2 ต่างจาก BYD ของจีนที่เลื่อนจากอันดับ 5 ขึ้นมา 2
และ Tesla ของสหรัฐฯ ยังรั้งอันดับ 1 ไว้ได้ต่อเนื่องมา 3 ปีติด ย้ำชัยชนะหลังแซง Toyota ขึ้นเป็นบริษัทรถยนต์มูลค่ามากสุดในโลกเมื่อปี 2020
ความล้าหลังของค่ายรถญี่ปุ่น เป็นไปในลักษณะเดียวกับแบรนด์ญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมอื่น ๆ บนเวทีโลก และความถดถอยด้านนวัตกรรม
ยืนยันได้จากความสามารถด้านนวัตกรรมของญี่ปุ่นปี 2022 ร่วงไปอยู่อันดับ 29 แล้ว ตามหลังทั้งเกาหลีใต้กับจีนซึ่งครองอันดับ 8 และ 17 ตามลำดับ
แน่นอนว่าญี่ปุ่นไม่ยอมเป็นกบในหม้อน้ำเดือดอีกต่อไป โดยเมื่อกลางมิถุนายน Toyota เพิ่งประกาศว่า จะเร่งเดินหน้าพัฒนาแบตฯ แบบ Solid State ที่เพิ่มสมรรถนะให้รถ EV อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถผลิตรถ EV ใช้แบตฯ ประเภทนี้ระดับอุตสาหกรรม ให้ผู้บริโภคได้ซื้อไปขับตามท้องถนนภายใต้ปี 2027
นักลงทุนตอบรับต่อข่าวดีดังกล่าว โดยได้พากันซื้อหุ้น Toyota จนดันราคาหุ้น Toyota ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในวันรุ่งขึ้นพุ่งขึ้นจนไปปิดที่ 164 ดอลลาร์ (ราว 5,700 บาท) ถือเป็นการปิดบวกสูงสุดนับจากปี 2009
ในเวลาไล่เลี่ยกัน Toyota ยังเผยว่าได้เงิน 850 ล้านดอลลาร์ (ราว 29,400 ล้านบาท) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีแบตฯ จากรัฐบาลญี่ปุ่น เสริมจาก 13,600 ล้านดอลลาร์ ที่ประกาศทุ่มลงไปในการพัฒนาเทคโนโลยีแบตฯ ทั้งระบบ ก่อนหน้านี้ที่มีแบตฯ แบบ Solid State รวมอยู่ด้วย
–
ด้านรถญี่ปุ่นค่ายอื่นๆ ก็กำลังเร่งเครื่องพัฒนาแบตแบบ Solid State อยู่เช่นกัน โดย Honda ใช้งบ 340 ล้านดอลลาร์ (ราว 11,800 ล้านบาท) ควบคู่ไปกับการร่วมลงทุนกับ LG สร้างโรงงานในสหรัฐ มูลค่า 4,400 ล้านดอลลาร์ (ราว 152,000 ล้านบาท) เพื่อผลิตแบตรถ EV แบบ Lithium Ion
พร้อมตั้งเป้าผลิตรถ EV แบบที่ใช้แบตแบบ Solid State ล็อตแรกออกมาในปี 2024 ส่วน Nissan ผนึกกำลังกับ Mitsubishi และ Renault พัฒนาแบตแบบ Solid State ภายใต้งบ 26,300 ล้านดอลลาร์ (ราว 914,000 ล้านบาท) เพื่อให้เป้าผลิตรถล็อตแรกออกมาจำหน่ายในปี 2028
ในบรรดารถ ทั้ง 3 ที่กำลังเร่งพัฒนาแบตแบบ Solid State อยู่นี้ Toyota น่าจับตามองมากสุด ทั้งจากการเป็นแบรนด์รถใหญ่สุดของญี่ปุ่น และการครองสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับแบตแบบ Solid State อยู่ 1,331 รายการ ซึ่งมากสุดในโลก
และในกลุ่ม 10 อันดับบริษัทที่ครองสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับแบตแบบ Solid State 6 จาก 10 ก็เป็นบริษัทญี่ปุ่นอีกด้วย
สำหรับแบตแบบ Solid State เหนือกว่าแบตแบบ Lithium Ion ในหลายด้าน ทั้งน้ำหนักเบากว่า ปลอดภัยกว่า เก็บกำลังไฟได้มากกกว่า จึงทำให้นอกจากช่วยลดน้ำหนักของตัวรถแล้ว ยังช่วยให้รถวิ่งไปได้ไกลกว่าอีกด้วย ทว่าปัจจุบันแพงกว่าแบตแบบ Lithium Ion ถึง 4 เท่า
เรื่องนี้น่าจับตามองอยากมาก เพราะเมื่อนำการแข่งขันและร่วมกันผลักดันของค่ายรถญี่ปุ่น การสนับสนุนผ่านทั้งตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลการพัฒนาเทคโนโลยีแบต และให้เงินทุน
มารวมกับความต้องการกู้ชื่อด้านยานยนต์และนวัตกรรมในเวทีโลก จะทำให้อีกไม่กี่ปีจากนี้ อุตสาหกรรมแบตแบบ Solid State และรถ EV ของญี่ปุ่นจะคักคักอย่างมาก จนอาจเป็นตัวพลิกเกมให้ค่ายรถญี่ปุ่นในตลาดโลก / nikkei, motortrend, kedglobal
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ