นิตยสารที่ขึ้นชื่อว่าผสมผสานภาพถ่ายกับงานศิลป์ได้ดีที่สุดในศตวรรษ “National Geographic” กำลังจะหายไปจากชั้นวางหนังสือในไม่ช้า

เเม้เเต่สื่อสิ่งพิมพ์ระดับตำนาน ก็ยังไม่รอดพ้นจากปัญหาทางการเงิน National Geographic เป็นที่รู้จักดีที่สุดในด้านการถ่ายภาพจากทุกมุมทั่วโลก ตามรายงานของ Washington Post นักเขียนและทีมงาน ถูกเลิกจ้างไปเมื่อสัปดาห์ก่อน มีการตัดสมาชิกกองบรรณาธิการทั้งหมด 19 คน เเละจะหันไปจ้างนักเขียนฟรีแลนซ์เทน โดยที่ริษัทซึ่งอยู่ภายใต้การดูเเลของ Disney จะมุ่งเน้นไปที่สิ่งพิมพ์ดิจิทัลและการสมัครสมาชิกบนออนไลน์แทน

เป็นการดำเนินงานตามแผนของบริษัทเเม่ อย่างวอลต์ ดิสนีย์ ที่เข้าเป็นเจ้าของหนังสือตั้งแต่ปี 2019 จะลดค่าใช้จ่ายทั้งบริษัท 5.5 พันล้านดอลลาร์ ในเดือนกุมภาพันธ์

 

ย้อนประวัติศาสตร์ นิตยสารระดับตำนานของโลก ก่อนหายไปจากชั้นวาง

นิตยสารปกขอบเหลืองที่ทุกคนคุ้นเคย ก่อตั้งขึ้นในปี 1888 ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โดยสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟิก ด้วยแนวคิดง่าย ๆ ที่ว่าการเข้าใจโลกของเราสามารถช่วยเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นได้

เบื้องหลังคือกลุ่มทีมงาน National Geographic Society ประกอบไปด้วยนักภูมิศาสตร์ นักสำรวจ ครู นักกฎหมาย นักทำแผนที่ และนักการเงินที่มีความสนใจในวิทยาศาสตร์และภูมิศาสตร์ ผลงานนิตยสารจึงออกมาในแบบผสมผสานระหว่างวิทยาศาสตร์ ความบันเทิง การถ่ายภาพที่เยี่ยมยอด เเละได้กลายเป็นนิตยสารขอบสีเหลืองอันโด่งดัง

เริ่มดำเนินการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ครั้งแรกในปี 1890 นำโดย Explorer Israel Russell เพื่อสำรวจและทำแผนที่ภูมิภาค ภูเขาเซนต์เอเลียสในอเมริกาเหนือ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นการสำรวจของ National Geographic

การสำรวจและทำแผนที่ภูมิภาคภูเขาเซนต์เอเลียส

ตีพิมพ์เล่มเเรก

นิตยสารเป็นที่รู้จักในด้านการรายงานเชิงลึก และภาพถ่ายที่มีชีวิตชีวาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ มานุษยวิทยา และธรรมชาติ โดยเป็นหนึ่งในนิตยสารรายแรก ๆ ที่ใช้ภาพถ่ายสี มียอดจำหน่ายถึง 1,000,000 เล่ม

National Geographic ฉบับแรกออกวางแผงในปี 1888 ปกกระดาษสีน้ำตาล ไม่มีสี ไม่มีขอบสีเหลืองที่โดดเด่น รวมถึงไม่มีภาพถ่ายประกอบในเนื้อหาแม้แต่ภาพเดียว (เริ่มมีภาพถ่ายปี 1905) สนนราคา 50 เซ็นต์

ฉบับเเรกที่ตีพิมพ์

ในช่วงต้นทศวรรษ 1900 เริ่มลองให้นักสำรวจ นักเดินทางเก่ง ๆ เช่น Wilbur Wright, Robert E. Peary และ Roald Amundsen บรรยายข้อมูลประกอบภาพ เป็นไอเดียต่อยอดสู่ภาพยนตร์สารคดี

 

ปลายปี 1950-1960 ย้ายเข้าสู่สารคดี

ในปี 1958 ได้กำเนิดรายการสารคดีของ National Geographic มีผู้ชมให้ความสนใจจำนวนมาก  เป็นภาพยนตร์บรรยายเรื่อง “Bones of the Bounty” ออกอากาศผ่านช่อง NBC-TV เป็นภาพยนตร์จากบริษัทเรื่องเเรก เมื่อประสบความสำเร็จจึงผลิตคอนเทนต์สารคดีออกมาอย่างต่อเนื่อง

ภาพยนตร์บรรยายเรื่อง “Bones of the Bounty”

ในปี 1965  ถ่ายทอดรายการ “Americans on Everest” ผลิตโดย David L. Wolper บรรยายโดย Orson Welles ด้วยผลงานการถ่ายที่ล้ำสมัย ส่งผลให้ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ชนะการจัดเรตของ CBS ได้รับส่วนแบ่งผู้ชมมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

อีกทั้งเรื่อง “The Story of the Weeping Camel”  โดยเฉพาะเรื่อง “March of the Penguins” คือสารคดีที่ได้รับความนิยมในระดับโลก

 

เทปคาสเซตส์บูมในปี 1970 และ 1980

ในปี 1975 ไม่เพียงเเต่คอนเทนต์ภาพยนตร์สารคดี National Geographic ยังเผยแพร่วิดีโอเทป โดยได้พันธมิตรอย่างพีบีเอสช่วยเหลือ ได้ M. Grosvenor (หลานชายของ Gilbert H.) ดูแลการเผยแพร่ในช่วงไพรม์ไทม์ ตั้งแต่ “Journey to the High Arctic”  (1971)  to Lost Kingdoms of the Maya (1994) ไปจนถึงเบื้องหลัง Cameramen Who Dared (1988)

 

ตำนานผู้ท้าชิงออสการ์

ภาพยนตร์สารคดีที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ ได้แก่ The Hidden World  (1966) ที่มีภาพระยะใกล้ของชีวิตแมลงเมื่อ 30 ปีก่อนที่จะมีเเนวคิด Microcosmos

The Hidden World  (1966)

ตามด้วย Journey to the Outer Limits (1974) เกี่ยวกับโรงเรียน Outward Bound ของโคโลราโด และ The Incredible Machine (1975) ที่ใช้เทคนิคการถ่ายภาพเคลื่อนไหววินิจฉัยภายในร่างกายมนุษย์

National Geographic คือผู้บุกเบิกตั้งแต่การสำรวจภาพท้องฟ้ายามค่ำคืนในซีกโลกเหนือ การปีนขึ้นเอเวอเรสต์ในอเมริกาครั้งแรก การดำน้ำสำรวจร่องลึกบาดาลมาเรียนา ฯลฯ เพื่อเผยเเพร่สิ่งมหัศจรรย์ของโลก และแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม  

 ตัวอย่างช่วงเวลาที่ National Geographic ถ่ายทอดเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ

1998 : ประกาศการค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์ในจีน ที่มีขนแตกต่างไป  เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างไดโนเสาร์กับนก

1999 : ทีมที่นำโดย Ian Baker ค้นพบน้ำตกลับของช่องเขา Tsangpo ทางตอนใต้ของทิเบต มีความสูง 115 ฟุต  คือน้ำตกที่ถูกเล่าเป็นตำนานตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 และถูกเก็บเป็นความลับโดยนักล่าชาวมอนปะเป็นเวลาหลายร้อยปี เนื่องจากความศักดิ์สิทธิ์ของพื้นที่ซึ่งเป็นสถานที่แสวงบุญ

น้ำตกลับของช่องเขา Tsangpo

1999 : นักโบราณคดี Johan Reinhard ค้นพบมัมมี่แช่แข็ง 3 ร่างและสิ่งประดิษฐ์ของชาวอินคา ในหลุมฝังศพบนยอดเขา Llullaillaco ของอาร์เจนตินา

ภาพ 6 มัมมี่แช่แข็ง 3 ร่างและสิ่งประดิษฐ์ของชาวอินคา

2000 : นักสำรวจ โรเบิร์ต บัลลาร์ด พบหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์ใต้พื้นผิวทะเลดำ 300 ฟุต ทำให้ทฤษฎี “น้ำท่วมของโนอาห์” น่าเชื่อถือ

2001: National Geographic Channel เปิดตัวทางเคเบิลทีวีและดาวเทียมในสหรัฐอเมริกา

 

ผู้นำคนสำคัญที่ผลักดันการเติบโตของนิตยสาร

Gilbert H. Grosvenor หรือชื่อเต็ม Gilbert Hovey Grosvenor เสียชีวิตไปเมื่อหกสิบปีก่อนเเล้ว เเต่เขาคือนักภูมิศาสตร์ชาวอเมริกัน นักเขียน และบรรณาธิการ ผู้คร่ำหวอดในวงการนิตยสาร National Geographic ควบตำแหน่งประธานสมาคม National Geographic Society

ในระหว่างการบริหารของเขา ได้เปลี่ยน National Geographic จากวารสารวิชาการน่าเบื่อที่มียอดจำหน่ายเพียง 900 เล่ม กลายเป็นนิตยสารที่น่าสนใจและมีภาพประกอบยอดเยี่ยม มียอดจำหน่ายมากกว่า 2,000,000 ฉบับ

เเต่ National Geographic มีการเปลี่ยนแปลงสองครั้งใหญ่ ครั้งแรกคือการขายให้กับ 20th Century Fox ในปี 2015 นิตยสารและทรัพย์สินทางโทรทัศน์ถูกขายให้ทั้งหมด โดยที่ฟ็อกซ์เข้าถือหุ้น 73 เปอร์เซ็นต์  จากนั้นในเดือนธันวาคม 2017 Disney ได้ซื้อ 21st Century Fox ซึ่งรวมถึง National Geographic เพื่อให้แข่งขันกับ Netflix และ Amazon ได้ดียิ่งขึ้น

 

ปรับตัวสู่ออนไลน์

ปัจจุบันนิตยสารตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษและฉบับภาษาท้องถิ่น 40 ฉบับ นอกจากนี้ ยังมีให้บริการหนังสือดิจิทัล

เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากไลฟ์สไตล์ในปัจจุบัน แบรนด์จึงก้าวไปอยู่ในโลกดิจิทัล เพื่อให้ทันกับแนวโน้มและพฤติกรรมของผู้ชม

เเต่เมื่อกระโดดเข้าออนไลน์ National Geographic กลับทำได้ดี  นิตยสารในรูปแบบดิจิทัลมีการเข้าชมเฉลี่ยต่อเดือนที่ 13.9 ล้านคน  61% มาจากการค้นหาบน Google

สำหรับโซเชียลมีเดีย Facebook เป็นช่องทางอันดับหนึ่งที่ดึงดูดการเข้าชมเว็บไซต์ของแบรนด์ โดยมีค่าเฉลี่ย 42-45% ของปริมาณการเข้าชมทั้งหมดที่ผ่านโซเชียลมีเดีย

National Geographic อาศัยพลังมหาศาลในการเล่าเรื่องซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำในโลกดิจิทัลที่การเเข่งขันสูง นิตยสารมีความเข้าใจคุณลักษณะของแพลตฟอร์มโซเชียลเป็นอย่างดี

ทำให้คอนเทนต์ในเเต่ละเเพลตฟอร์มมีลักษณะเเตกต่างกันไป ตั้งเเต่ Facebook, Instagram, TikTok เเละ Snapchat  แบรนด์สร้างหลายบัญชี เเละใช้ธีมที่แตกต่างกัน

บน Facebook และ Twitter จะคล้ายคลึงกัน โดยใช้บทความ รูปภาพ และวิดีโอสั้น ๆ ผสมผสานเพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสังคมต่าง ๆ ขณะที่บน Instagram National Geographic จะใช้การสื่อสารผ่านรูปภาพเป็นหลัก

บัญชี Facebook จะนำเสนอคอนเทนต์เฉลี่ย 7 โพสต์/วัน  ขณะที่บัญชี Twitter โพสต์เฉลี่ย 12 โพสต์/วัน  เเต่บน Instagram เพียง 5 โพสต์

บัญชี Instagram ของ National Geographic

ตัวอย่างความสำเร็จ บัญชี Instagram ของ National Geographic ปัจจุบันมีผู้ติดตามมากกว่า 200 ล้านคน บริษัทใช้ฐานผู้ติดตามให้มีส่วนร่วมอย่างสม่ำเสมอ ยกตัวอย่าง ด้วยแคมเปญที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก เช่น Wanderlust ที่เป็นแคมเปญเชิญชวนให้ช่างภาพมือสมัครเล่นส่งภาพถ่ายการเดินทางของพวกเขา ซึ่งมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 55,000 ภาพ ตามแฮชแท็ก #wanderlustcontest

 

ความหมายหลังโลโก้สะดุดตา ทำไมต้องกรอบเหลือง?

ขอบสีเหลืองที่โดดเด่นเริ่มปรากฏในโลโก้ปี 1910 โลโก้ที่ทุกคนสามารถจดจำได้ทันทีเมื่อเห็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าตั้งใจให้คล้ายกับรูปทรงของใบประกาศเกียรติคุณ  ส่วนสีเหลือง หมายถึงดวงอาทิตย์เนื่องจากเป็นแหล่งหล่อเลี้ยงชีวิตบนโลก

ปัจจุบันผู้สมัครสมาชิกในระบบออนไลน์มีประมาณ 1.78 ล้านคน เเต่นิตยสารในวาระพิเศษจะยังคงปรากฏบนแผงหนังสือ

ตลอดระยะเวลาหนึ่งศตวรรษที่ National Geographic อยู่บนแผงหนังสือ ด้วยรูปปกที่ถ่ายทอดศิลปะภาพถ่ายดีที่สุด และเนื้อหาในเล่มที่เปิดโลกกว้างให้กับผู้คน แม้วันนี้นิตยสารหน้าปกเหลืองอาจหายไปจากชั้นวาง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่เหล่านักเขียน  ช่างภาพ  และโปรดิวเซอร์คุณภาพของ National Geographic ได้นำมาสู่ผู้คนนับพันล้านชีวิต คือการเติมเต็มมุมมองในภาพใหญ่ ที่มีต่อโลกใบเล็ก ๆ นี้@

อ้างอิง: Nationalgeographic, National Geographic Society, Smithsonian, JSTOR, britannica, HistoryChannel, Socialinsider, Logo.com, NPR, start.ca, theguardian, APNews



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online