ปีนี้เราได้เห็นความเคลื่อนไหวของ RS Music จับมือ Joint Venture อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การจับมือ GMM ทำคอนเสิร์ตร่วมกัน และล่าสุดจับมือกับ UMG หรือ Universal Music Group เปิดบริษัทใหม่ขยายช่องทางจัดจำหน่ายเพลงและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องสู่ตลาดโลก
การรุกตลาดเพลงอีกครั้งของ RS เป็นหนึ่งในทิศทางที่เฮียฮ้อ มองว่า เป็นการกลับมาใน “จังหวะที่ใช่” จากแลนด์สเคปการฟังเพลงที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคในยุคของดิจิทัล ที่เปิดโลกธุรกิจเพลงเข้าถึงผู้ฟังอย่างไร้พรมแดนผ่านการฟังเพลงในรูปแบบ Music Streaming ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงโมเดลของอุตสาหกรรมเพลง
จากข้อมูลของ IFPI หรือสมาพันธ์ผู้ผลิตสิ่งบันทึกเสียงระหว่างประเทศพบว่า ในปีที่ผ่านมา ตลาดเพลงทั่วโลกมีมูลค่า 26,200 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 914,900 ล้านบาท เติบโต 9% เมื่อเทียบกับปี 2564
มูลค่าของตลาดเพลงโลกและการเติบโตขับเคลื่อนด้วย Music Streaming เป็นหลัก ในสัดส่วนที่มากถึง 67% ของตลาดเพลงทั้งหมด
ในปีที่ผ่านมา Music Streaming บอกรับสมาชิก มีมูลค่าตลาด 12,700 ล้านดอลลาร์ หรือ 443,500 ล้านบาท เติบโต 10.3%
และถ้ารวม Music Streaming ที่ฟังฟรีมีโฆษณาเข้าไปด้วย ตลาด Music Streaming จะมีมูลค่าถึง 17,500 ล้านดอลลาร์ หรือ 611,100 ล้านบาท เติบโต 11.5%
ส่วน Music Physical มีมูลค่าเพียง 4,600 ล้านดอลลาร์ หรือ 160,600 ล้านบาท เติบโต 4%
และในอนาคต Statista คาดการณ์ว่าตลาด Music Streaming จะเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 5% นับตั้งแต่ปี 2566-2570
ส่วนตลาดเพลงในประเทศไทยจาก IFPI และ Datareportal พบว่าในปีที่ผ่านมาคนไทยฟังเพลงผ่านแพลตฟอร์ม Music Streaming มีสัดส่วนมากถึง 22% ของกิจกรรมบนอินเทอร์เน็ตทั้งหมด และใช้เวลาฟังเพลงมากถึง 1.8 ชั่วโมงต่อวัน
นอกจากนี้ เพลงยังสอดแทรกอยู่ในทุกโมเมนต์ของชีวิตในกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งการฟังเพลงผ่านแพลตฟอร์ม Music Streaming, การสร้าง Engagement กับผู้บริโภคผ่านเพลง และการใช้เพลงเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์คอนเทนต์
สิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาจึงกลายเป็นเหตุผลสำคัญที่จะสามารถสร้างการเติบโตให้กับ RS Music ได้
แต่การเติบโตของ RS Music เฮียฮ้อไม่ได้มองว่าจะต้องมีเป้าหมายเป็นเบอร์ 1 ในตลาด เพราะตลาดเพลงมีสเกลที่กว้างกว่าในอดีตจนไม่สามารถหาเบอร์ 1 ในตลาดได้ สเกลไม่ใช่สิ่งที่สำคัญในการทำธุรกิจเพลง
ส่วนสิ่งสำคัญของธุรกิจ RS Music คือการมีเป้าหมายธุรกิจอย่างชัดเจน และทำงานร่วมกับทุกค่ายเพลง แบบเพื่อน แบบพาร์ตเนอร์ ที่จับมือสร้างการเติบโตร่วมกัน เพื่อเป้าหมายการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ปลายปี 2567 ถึงต้นปี 2568
พร้อมรายได้ในปี 2568 ที่ 1,200 ล้านบาท
แต่กว่าจะไปถึงรายได้ 1,200 ล้านบาทในปี 2568 เฮียฮ้อวางกลยุทธ์การเติบโตอย่างชัดเจนผ่าน 5 ขาธุรกิจหลัก ประกอบด้วย
- Digital Monetization สร้างสรรค์เพลงใหม่ที่จะเริ่มเปิดตัวในไตรมาส 4 ของปีนี้ และรายได้ผ่านช่องทางออนไลน์
ในขาธุรกิจนี้ RS Music มีพาร์ตเนอร์ที่สำคัญอย่าง UMG ที่ Joint Venture ในสัดส่วน UMG 70% RS Music 30% เปิดบริษัทใหม่ร่วมกัน จะช่วยพาเพลงของ RS Music ไปยังตลาดไทยและต่างประเทศ จากช่องทาง และสาขาของ UMG ที่มีอยู่ทั่วโลก
จากการมองเห็นตลาดเพลงไทยตอนนี้ไปได้กว้างโดยเฉพาะเอเชีย
โดยบริษัทใหม่นี้จะดูแลเพลงของ RS Music ในช่องทางขายออนไลน์ทั้งหมด
- Copyright การบริหารลิขสิทธิ์จากอีเวนต์และช่องทางออฟไลน์อื่น ๆ เช่น ร้านอาหาร ผับ บาร์ คาราโอเกะ การทำมิวสิกมาร์เก็ตติ้ง ทั้งของ RS Music และบริษัทใหม่ที่ Joint Venture กับ UMG โดยในส่วนขาธุรกิจนี้ทำผ่าน บริษัท TCC ที่ RS Music ถือหุ้น 100%
- Marketing & Brand Engagement แคมเปญมิวสิกมาร์เก็ตติ้ง เพื่อสร้าง Engagement ของแบรนด์
- Showbiz & Concert กิจกรรม อีเวนต์ เฟสติวัล และคอนเสิร์ต ซึ่งการ Joint Venture กับ GMM ทำคอนเสิร์ตร่วมกันตลอดระยะเวลา 3 ปี ในสัดส่วน 50:50 เป็นหนึ่งในนั้น
- Talent Management บริหารดูแลศิลปิน
และในแต่ละปีจะมีการเติบโตด้วยอัตราเฉลี่ยต่อปี (CAGR) 30% ผ่านกลยุทธ์ที่วางไว้ในแต่ละปี ประกอบด้วย
ปี 2566
– ทรานส์ฟอร์มธุรกิจเพลงภายใต้โครงสร้างใหม่ของ RS Music พร้อมแต่งตั้งพรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร RS Music
– เน้นสร้างการลงทุนเพื่อสร้างผลงานเพลงใหม่ และคอนเสิร์ต โดยในปีนี้มีแผนเปิดตัวศิลปินใหม่ 7 ศิลปิน ที่พร้อมจะเปิดตัวสู่ตลาดเพลงในไตรมาส 4
และนำเพลงออกสู่ตลาด 150 เพลงในปีนี้
– เสริมความแข็งแกร่งให้รากฐานของธุรกิจผ่านความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ เช่น การจับมือกับ GMM, UMG และเฮียฮ้อมีแนวทางที่จะจับมือกับพาร์ตเนอร์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปัจจุบันมีพาร์ตเนอร์ที่อยู่ในขั้นตอนเจรจา
ปี 2567
– สร้างสรรค์ผลงานใหม่มากกว่า 200 เพลง
– สร้างการเติบโตรายได้ผ่านทาง Online & Offline Monetization, Marketing & Brand Engagement และ Showbiz & Concerts
– นำ RS Music เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ
ปี 2568
– ขยายสู่ตลาดต่างประเทศ ผ่านศิลปินหน้าใหม่ ๆ ที่มี Potential ผ่านการพัฒนา ทักษะในการสื่อสารในภาษาต่าง ๆ ทั้งอังกฤษ เกาหลี จีน
โดยประเทศจีนเป็นตลาดที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ
– M&A (Mergers and Acquisitions) เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ
– โปรเจกต์พิเศษผ่าน Across the Universe JV
สำหรับรายได้ของ RS Music ในปีนี้เฮียฮ้อวางเป้าหมายไว้ที่ 720 ล้านบาท
แบ่งเป็น
Online & Offline Monetization 130 ล้านบาท
Marketing & Brand Engagement 200 ล้านบาท
Showbiz & Concerts 350 ล้านบาท
Talent Management 40 ล้านบาท
และในปี 2568 RS Music มีเป้าหมายด้านรายได้ 1,200 ล้านบาท
มาจาก Online & Offline Monetization 40%
Marketing & Brand Engagement 25%
Showbiz & Concerts 25%
Talent Management 10%
Marketeer FYI
Joint Venture UMG รายได้ที่ลดแต่เพิ่ม
การจับมือ Joint Venture ระหว่าง RS กับ UMG ตั้งบริษัทใหม่ที่จะเกิดขึ้นในไตรมาส 3 ของปีนี้ ด้วยงบลงทุน 2,300 ล้านบาท ในสัดส่วน UMG 70% หรือประมาณ 1,600 ล้านบาท และ RS Music 30% หรือประมาณ 700 ล้านบาท
การร่วมทุนจัดตั้งบริษัทใหม่ รายได้จากการขายเพลงจึงต้องแบ่งให้ UMG ตามสัดส่วนที่ถือหุ้น และทำให้รายได้จากการขายเพลงของ RS Music ลดลง
แต่เฮียฮ้อเชื่อว่าการจับมือกับ UMG จะทำให้รายได้ในส่วนของ RS Music จะได้รับใหญ่ขึ้นในอนาคต จากรายได้ที่เติบโตเฉลี่ย 30-40% และมี Impression เพิ่มขึ้น 15-20% จากแพลตฟอร์ม OTT ต่าง ๆ ผ่านการบริหารของ UMG
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ