เวลากาแฟ/วิรัตน์ แสงทองคำ

เวลากาแฟระหว่างการเดินทาง เป็นปรากฏการณ์ ดูจะมีความสลักสำคัญยิ่งขึ้น

ขณะระหว่างบรรทัดมีบางเบื้องหลังควรขยายความ เกี่ยวกับซีรีส์เรื่องเล่าซึ่งผ่านตา ผ่านมากว่า 5 ปีด้วย

ในฐานะตีตราตนเองเป็น “คอกาแฟ” ปกติมักใช้เวลาส่วนใหญ่ที่บ้าน เป็นเช่นนี้มานานนับทศวรรษ ตามสไตล์เรียบง่าย เป็นกิจวัตร มีบ้าง นาน ๆ ครั้งแวะคาเฟ่ข้างบ้าน หรือใช้บริการ delivery ที่แตกต่างและตื่นเต้นยิ่งขึ้น คือช่วงเวลาแห่งการเดินทาง วิถีชีวิตผู้คนที่เป็นไป โดยเฉพาะเป็นธุระและภารกิจ ณ จุดหมายปลายทางเป็นสำคัญ ขณะระหว่างทางมี “เวลากาแฟ” อยู่ด้วย ประสบการณ์ใหม่ ๆ ไม่จำเจ ดูจะค่อย ๆ ยกระดับให้แตกต่างอย่างเร้าใจ อันเนื่องด้วยทางเลือกหลากหลายอย่างน่าทึ่ง ตามกระแสและแนวโน้ม คาเฟ่ระหว่างทางผุดขึ้นเรียงราย ทั้งถนนสายหลักและสายรอง แม้มี “ฟุบ” และ “แผ่ว” บ้างในบางช่วง สั้น ๆ ทว่าทิศทางหลักมุ่งพุ่งไปข้างหน้า

ตามแบบแผนเฉพาะตัวซึ่งตั้งใจ จะถือเป็นเรื่องปัจเจกอย่างแท้จริงก็ได้  มิได้จงใจกับที่หนึ่งที่ใดไว้ก่อน ไม่มีเวลาให้ติดตาม เพื่อตามรอยกระแสโซเชียล ไม่สนใจการจัดอันดับ ซึ่งดูไปแล้วเป็นเรื่องง่ายและค่อนข้างฉาบฉวย ไม่มี recommend ของผู้ใดซึ่งทรงอิทธิพล ช่วงเวลาอันกระชั้นนั้นกำกับเป็นข้อจำกัดระดับหนึ่งอีกด้วย ภาวะบรรจบเป็นการตัดสินใจแวะคาเฟ่สักที่ จึงเป็นส่วนผสมระหว่างสัญชาตญาณ รสนิยม และอารมณ์ความรู้สึก

ด้วยมีกฎเหล็กการเล่าเรื่อง ไม่ขอตั้งตนเป็นผู้รู้รสเลิศกาแฟ ไม่อาจคิดเอาเอง ว่าด้วย Top list คาเฟ่ ที่ผ่านมาทั้งมวล เรื่องและภาพซึ่งพาดพิงถึงคาเฟ่ใดคาเฟหนึ่ง จึงเป็นเพียง “ชิ้นส่วน” หรือจิ๊กซอว์เล็ก ๆ   ในความพยายามแสวงหาบางภาพในจินตนาการ

อย่างเรื่องหนึ่ง เพิ่งผ่านทางวันธรรมดา ไปยังเมืองรองแห่งหนึ่ง- สระบุรี อยู่ระหว่างทางระหว่างเมืองหลวงกับแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม ทั้งสองที่ ที่ดาษดื่นไปด้วยคาเฟ่แห่งยุคสมัย เพียง 100 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ และไปอีกราว 50 กิโลเมตรก็เข้าเขตเขาใหญ่ แทบไม่น่าเชื่อ สระบุรีมีคาเฟ่มากมายหลายแห่ง รวมทั้งคาเฟ่ใต้ต้นไม้ใหญ่ จัดพื้นที่อย่างมีสไตล์ ให้บรรยากาศ และยังดูเป็นเช่นนั้น แม้ผ่านมากว่า 6 ปี ซ่อนตัวอยู่ในซอยแคบ ห่างจากถนนสายหลักพอสมควร ทว่าวันนั้นเต็มไปด้วยผู้คนมาแวะเวียน

น่าจะเป็นภาพหนึ่งซึ่งเป็นจริงเป็นจัง อยู่ในความสนใจเสมอ ว่าด้วยปรากฏการณ์คาเฟ่อิสระ รายย่อย แผ่ขยายเชิงภูมิศาสตร์อย่างไม่หยุดยั้ง จากเมืองใหญ่ เมืองรอง สู่ระดับชุมชน ในเบื้องต้น สะท้อน “เรื่องราวอันเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ แรงขับเคลื่อน โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว ในฐานะ Start-Ups บ่มเพาะความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship)…” อย่างที่เคยนำเสนอไว้เมื่อกว่า 5 ปี ภาพแรก ๆ มิติหนึ่งซึ่งกว้าง ๆ ว่าด้วยปรากฏการณ์สังคมไทย ก่อนสู่เวลาล่วงเลยมา ท่ามกลางความผันแปรต่าง ๆ รวมทั้งวิกฤตการณ์ใหญ่ COVID-19 ที่มากับ Lockdown ช่วงหนึ่ง ว่าไปแล้วกระบวนการแห่งระบบคัดเลือกอันเข้มข้นมีขึ้นอย่างไม่ละเว้น ภาวะ “ปิด” กิจการ กับ “เปิด” ใหม่ เกิดขึ้นแทบทุกวัน ในภาพใหญ่แล้วไม่ได้ส่งผลให้พลัง Start–Ups แผ่วลง ในอีกด้านกลับสะสมบทเรียนมากขึ้น เป็นประสบการณ์อันเชี่ยวกรำ เพื่อการปรับตัวให้อยู่รอดและเติบโต

อีกภาพหนึ่งซึ่งเกี่ยวกับผู้แวะเวียน “..ไม่มองแค่เปลือก หรือเป็นเพียงไลฟ์สไตล์ฉาบฉวย หากเป็นที่ที่มีเรื่องราวผู้คนกับช่วงเวลาผ่อนคลาย ครุ่นคิด สนทนา แลกเปลี่ยน-ผนึกพลัง ความรู้ และความเชื่อ” ก็ยังคงคิดอย่างนั้น อย่างที่ว่าไว้ช่วงต้น ๆ กระแสคาเฟ่ยุคสมัยในสังคมไทย  ราว ๆ ทศวรรษมานี้เอง ดูจะเร่งสปีดขึ้นอีกด้วยอิทธิพลโลกอินเทอร์เน็ต ตั้งแต่ยุค 5G ผู้คนสื่อสารและเข้าถึงกันมากกว่ายุคใด ๆ ได้หลอมรวมเป็นวัฒนธรรมร่วมสมัยระดับโลก

มีบางชิ้นส่วนในนั้น ให้ภาพวัฒนธรรมกาแฟไทยที่มีชีวิตชีวา ที่ว่า ๆ กัน “สังคมแห่งการเซลฟี่ (selfie society)” โดยสื่อยักษ์ใหญ่แห่งญี่ปุ่นเคยเสนอไว้ (Thailand’s vibrant cafe culture serves ‘selfie society’  โดย Chris Schalkx, Nikkei Asia March 31, 2021) ยังคงพอเห็น ณ คาเฟ่ ซึ่งเพิ่งไปเยือน เชื่อว่าอีกมุมเป็น “ความสดใหม่” ดัชนีคาเฟ่ซึ่งคงอยู่ ด้วยมีผู้แวะเวียนหน้าใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นไม่ขาดสาย แม้คาเฟ่ที่อยู่มาพักใหญ่ ๆ ยังคงในเรดาร์ ว่ากันว่า ได้ upgrade เพิ่มรัศมีให้กว้างขึ้น ๆ

ที่เราเรียก “คาเฟ่” (café) อาจเป็นนิยามเฉพาะ แตกต่างจากแบบแผนดั้งเดิมในโลกตะวันตก ทั้งนี้บุคลิกคงแบบฉบับร้านกาแฟ (coffee shop) ทว่า ที่นี่มีอาหารง่าย ๆ เบเกอรี่ และเครื่องดื่มชนิดอื่น ๆ อยู่ด้วย มากบ้างน้อยบ้าง ทั้งนี้มีบริการแกนกลาง ด้วยกาแฟต่างระดับ ตามความซีเรียสแต่ละคาเฟ่

เชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งในกระแสวัฒนธรรมกาแฟแห่งยุคสมัย มองผ่านร้านกาแฟขยายตัวทั่วโลก จนกลายเป็นปรากฏการณ์ (global phenomenon) เปิดฉากขึ้นเมื่อราว 2 ศตวรรษที่ผ่านมา ดูจะเข้ากับหนังสือเล่มหนึ่ง (Coffee Culture : Local Experiences, Global Connections by Catherine M Tucker, Copyright 2017) ควรขยายความในโอกาสต่อไป


วิรัตน์ แสงทองคำ คอลัมนิสต์ ธุรกิจอิสระ ด้วยวัตรปฏิบัติ 4 ทศวรรษกับผลงานนับพันชิ้น งานบางส่วนปรากฏใน https://viratts.wordpress.com/และ https://www.facebook.com/วิรัตน์-แสงทองคำ เบื้องหลังฉาก “เวลากาแฟ” ดำเนินไปเป็นกิจวัตร ด้วยเรื่องราวและความคิดที่แตกต่าง เพิ่งจะเปิดสู่วงกว้างครั้งแรก @Marketeer online



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online