เกือบ 10 ปีที่ผ่านมา เทรนด์ธุรกิจใหญ่ในโลกธุรกิจคือ บริษัทใหม่ที่เพิ่งตั้งต้น (Start-up) พร้อมแนวคิดปฏิวัติวงการ และทำให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ ตามมามากมาย โดยในจำนวนกลุ่ม Start-up ชื่อดังมี WeWork บริษัทให้ปล่อยเช่าและบริหารพื้นที่สำนักงานแบบใช้ร่วมกัน (Co-working Space) แห่งแรก ๆ รวมอยู่ด้วย
WeWork ก่อตั้งเมื่อปี 2010 โดย Miguel McKelvey สถาปนิกชาวอเมริกัน กับ Adam Neumann ชาวอิสราเอลที่เข้ามาสหรัฐฯ เพื่อเป็นผู้จัดการส่วนตัวให้น้องสาวผู้มาประกวดนางงาม และกำลังหาช่องทางทำธุรกิจ
ความสัมพันธ์ของทั้งคู่เริ่มจาก Adam Neumann ขอให้ Miguel McKelvey มาออกแบบตึกในนครนิวยอร์กที่อยากปล่อยเช่า แต่ที่สุดก็ลงเอยด้วยการจับมือกันตั้งบริษัท WeWork ขึ้นมา ซึ่งใส่แนวคิดด้านการบริหารจัดการ ความสะดวกสบายรวมไปถึงมีโซนปาร์ตี้หลังเลิกงานเอาใจบริษัทที่มาเช่าลงไป
ไอเดียดังกล่าวได้รับกระแสตอบรับที่ดีและแปรเป็นผลกำไรอย่างงามให้ทั้งคู่ จนเกิดเป็นธุรกิจ Co-working Space ขึ้นมา และโดนใจ Gen Y คนวัยทำงานรุ่นใหม่อย่างมาก พาให้ WeWork เวิร์กสมชื่ออีกด้วย
ปี 2015 ก็ WeWork กลายเป็นบริษัทดัง โดยได้ขยายสาขาไปยัง 50 ประเทศทั่วโลก และมียักษ์น้ำอัดลมอย่าง Pepsi เป็นหนึ่งในลูกค้ารายใหญ่ อีกสองปีต่อมา WeWork ก็ขึ้นสู่จุดสูงสุดด้วยมูลค่าบริษัทเพิ่มเป็น 47,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.6 ล้านล้านบาท)
ขณะที่ WeWork กำลังรุ่ง และคาดกันคงจะทำ IPO ในไม่ช้า วงการธุรกิจต่างก็สั่นสะเทือนกับเทรนด์ใหม่ ๆ คำใหม่ ๆ ทั้ง Disruption, Gig Economy, Ride hailing และ Plant-based meat รวมไปถึง Co-working Space ที่แน่นอนว่า WeWork เป็นเบอร์ต้น ๆ
แต่ปี 2019 WeWork กำลังก็เจอกับวิกฤตใหญ่สุดประดังเข้ามามากสุดนับจากตั้งบริษัท ทั้งจากเรื่องอื้อฉาวการตกแต่งบัญชีเกินจริง ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนของ Adam Neumann ผู้ร่วมก่อตั้งที่นั่งเก้าอี้ CEO ฉุดให้มูลค่าบริษัทร่วงลงไปอยู่ที่ 10,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 350,000 ล้านบาท)
วิกฤตครั้งนี้ยังส่งผลต่อเนื่องให้ต้องปลดพนักงานไปถึง 1 ใน 3 ตามด้วย CEO ต้องพ้นตำแหน่ง และที่สุดต้องเลื่อนแผนทำ IPO ออกไป
WeWork ดีขึ้นหลังได้ Sandeep Matharani ผู้บริหารฝีมือดีชาวอินเดียจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในปี 2020 ซึ่งยังเป็นการย้ำความไว้วางใจที่บริษัทอเมริกันมีให้กับ CEO ชาวอินเดียอีกด้วย และในยุคของ Sandeep Matharani นี่เอง ที่มาพาทำ IPO ได้สำเร็จในปี 2021
ปีถัดมาแม้สถานการณ์กระเตื้องขึ้นอีก จากเทรนด์ ทำงานแบบผสมผสาน บ้านสลับกับเข้าออฟฟิศหลังวิกฤตโควิดพ้นไป แต่มรสุมเมื่อปี 2019 ก็ยังมาหลอกหลอนผ่าน WeCrashed ซีรีส์เล่าถึงขาขึ้น-ขาลงของบริษัท ทำให้บริษัทยังไม่ได้รับความไว้วางใจเท่าที่ควร และยังมีปัญหาหนี้สะสมอยู่
ปีนี้ (2023) WeWork ต้องกลับมาเวิร์กกันหนักอีกครั้ง เพื่อพาบริษัทให้เวิร์กได้ต่อ และไม่ให้ต้องปิดฉาก โดยช่วงพฤษภาคม Sandeep Matharani ลาออกแล้วย้ายไปหาความท้าทายใหม่กับบริหารกองทุน ทำให้ David Tolley ประธานบอร์ดฯ ต้องมารับหน้าที่ CEO รักษาการ
อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์กันว่า อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ Sandeep Matharani ออกไป คือคงมองแล้วว่าหากอยู่กับ WeWork ต่ออาจมีเรื่องให้ตามแก้และต้องเหนื่อยอีกพักใหญ่ ซึ่งคาดการณ์ดังกล่าวก็เป็นความจริง
8 สิงหาคมที่ผ่านมา WeWork แจ้งกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์สหรัฐฯ (SEC) ว่ากำลังพยายามอย่างเต็มที่ในการหาเงินก้อนใหญ่มาแก้ไขปัญหาสภาพคล่อง และไตรมาส 2 ปี 2023 ขาดทุน 397 ล้านดอลลาร์ (ราว 14,000 ล้านบาท)
แม้ลดลงจากไตรมาส 2 ปี 2022 มาครึ่งหนึ่ง แต่ก็การหาเงินเข้าบริษัทจากดำเนินธุรกิจก็ไม่ได้ง่ายเหมือนสมัยขาขึ้น เพราะต้องพยายามรั้งลูกค้าปัจจุบันเอาไว้ และลดยอดเลิกใช้บริการ
ดังนั้น การไปหาเงินก้อนใหญ่จากที่อื่น ๆ จึงจำเป็นอย่างยิ่งและหากทำไม่ได้ บริษัทอาจไปไม่รอดในปี 1 ปีนับจากนี้
The Guardian สื่อเก่าแก่สัญชาติอังกฤษ วิเคราะห์ผ่านทัศนะของอดีตผู้บริหารบริษัทอสังหาริมทรัพย์ว่า WeWork ยังไม่สามารถปฏิวัติตัวเองให้เป็นคำตอบของคนวัยทำงานยุคใหม่ที่อยากได้ Co-working space ดี ๆ ทั้งที่เป็นเบอร์แรก ๆ ในวงการ
ขณะที่ CEO รักษาการ WeWork เองยอมรับว่า การแข่งขันในตลาด Co-working space ยุค Hybrid work space รุนแรง นอกจากนี้ วิกฤตเศรษฐกิจก็ทำให้ทั้งบริษัทและพนักงานต้องกังวลเรื่องการใช้จ่าย
อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ต้องแก้ไข WeWork ยังมีปัญหาสะสม ไปพร้อมกับทยอยสร้างชื่อเสียงขึ้นมาใหม่ และอาจต้องปรับตัวรับเทรนด์ Hybrid work space ให้ดีกว่านี้ เพราะ IWG คู่แข่งในยุโรป กลับไปได้สวย
ครึ่งแรก ปี 2023 IWG มีผลประกอบการอยู่ที่ 2,100 ล้านดอลลาร์ (ราว 73,600 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นมา 14% จากครึ่งแรกปี 2022 ส่วนกำไรทำได้ 119 ดอลลาร์ (ราว 4,176 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นมากว่า 1 เท่าจากกรอบเวลาดังกล่าวของปี 2022/cnn, theguardain, wikepedia, straisttimes, reuters
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ