ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ซาอุฯ ในฐานะประเทศผู้ส่งออกน้ำมันอันดับ 1 ของโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจระลอกใหม่เมื่อราคาน้ำมันไม่ดีดังเดิม ผลมาจากเทรนด์การใช้รถยนต์ที่มีเครื่องยนต์สันดาปกำลังจะเปลี่ยนไป หลายประเทศกำลังหันไปใช้รถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าทดแทน ทำให้บรรดาผู้มีอำนาจในซาอุดีอาระเบียต้องทบทวนถึงเรื่องทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศใหม่ทั้งหมด และเป็นที่มาของความต้องการในการที่จะลดการพึ่งพาน้ำมันแต่เพียงอย่างเดียว ด้วยการสนับสนุนวงการกีฬาและพัฒนาด้านการท่องเที่ยวไปพร้อม ๆ กับยกระดับภาพลักษณ์ของประเทศจากประเทศมุสลิมหัวรุนแรง กดขี่สิทธิมนุษยชนของผู้หญิง ไปสู่การเปิดเสรีทางเพศและเข้าไปสู่การเป็นพลเมืองโลกมากขึ้น เรื่องนี้เป็นมาอย่างไรติดตามอ่านได้จากบทความนี้
การเมืองการปกครอง
ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศในเอเชียตะวันตกตั้งอยู่บนคาบสมุทรอาหรับ เป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง และเป็นประเทศอาหรับที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ซาอุดีอาระเบียมีประชากรราว 35.3 ล้านคน
นอกจากนี้ ซาอุฯ ยังเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มประเทศแถบตะวันออกกลาง และใหญ่เป็นอันดับ 18 ของโลก สินค้าหลักที่ทำเงินให้กับประเทศนี้แน่นอนว่าเป็น “น้ำมัน” รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเลียม โดยน้ำมันและปิโตรเลียมถือเป็นรายได้หลักของซาอุฯ ถึง 40% ของ GDP
เรามาทำความรู้จักระบบการปกครองในซาอุฯ กันก่อนที่จะไปต่อ ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์มีอำนาจเด็ดขาด โดยพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันคือ สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน บิน อับดุลอาซิซ อัล ซาอูด พระองค์ทรงขึ้นครองราชย์ในช่วงปี 2558 โดยในปัจจุบันพระองค์มีพระชนมพรรษา 86 พรรษา
ที่ซาอุฯ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ หัวหน้ารัฐบาล และผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพ ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และผู้ว่าราชการจังหวัด นอกจากนี้ พระมหากษัตริย์ยังมีพระราชอำนาจในการออกกฎหมาย ตีความกฎหมาย และยับยั้งกฎหมายใด ๆ ที่ผ่านโดยสภาที่ปรึกษา
สภาที่ปรึกษา (Majlis al-Shura) เป็นองค์กรที่มีสมาชิก 150 คนที่ได้รับการแต่งตั้งจากกษัตริย์ สภาสามารถเสนอกฎหมายได้ แต่พระมหากษัตริย์จะเป็นผู้ตัดสินว่าจะผ่านหรือไม่ สภายังมีอำนาจในการซักถามรัฐมนตรีและสอบสวนหน่วยงานของรัฐอีกด้วย
ในระดับประเทศซาอุดีอาระเบีย ไม่มีระบบพรรคการเมือง การเลือกตั้งจัดขึ้นสำหรับสภาท้องถิ่นเท่านั้น แต่การเลือกตั้งเหล่านี้ไม่สามารถแข่งขันได้ ผู้สมัครทั้งหมดเป็นผู้ได้รับการอนุมัติจากพระมหากษัตริย์
ทั้งนี้ ระบบการเมืองในซาอุดีอาระเบียกำลังมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้า ๆ พระมหากษัตริย์เองก็ได้ทรงแต่งตั้งรัฐมนตรีเป็นคนรุ่นใหม่และมีหัวก้าวหน้า เพื่อหวังที่จะก้าวทันทัดเทียมนานาอารยประเทศ
เศรษฐกิจภายในประเทศ
ซาอุดีอาระเบียมีระบบเศรษฐกิจแบบผสมผสาน โดยมีความแข็งแกร่งในภาคส่วนสำคัญ ๆ เช่น น้ำมันและก๊าซ การธนาคาร และโทรคมนาคม และภาคเอกชนที่กำลังเติบโต และรัฐบาลกำลังพยายามกระจายเศรษฐกิจให้ห่างไกลจากน้ำมัน
น้ำมันและก๊าซถือเป็นรายได้หลักของรัฐบาล มีสัดส่วนประมาณ 80% ของรายได้ของรัฐบาลและคิดเป็น 40% ของ GDP ซาอุดีอาระเบียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกด้วยปริมาณ 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อบริษัทน้ำมัน ซาอุดี อารัมโก (Saudi Aramco) ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันที่มีมูลค่าสูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก และใช่แล้วบริษัทนี้มีสัญชาติซาอุดีอาระเบีย โดยมีรัฐบาลซาอุฯ เป็นเจ้าของ
ในซาอุฯ ภาคเอกชนกำลังค่อย ๆ เติบโต แต่ก็ยังมีขนาดค่อนข้างเล็ก ทำให้รัฐบาลพยายามที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และอยากจะประสบความสำเร็จในด้านนี้ อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนยังคงเผชิญกับความท้าทายหลายประการ รวมถึงการขาดแรงงานฝีมือ สภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบที่จำกัด และการทุจริตคอร์รัปชัน
และที่กำลังเป็นที่จับตามองจากสายตาชาวโลกก็คือเรื่องที่รัฐบาลซาอุฯกำลังพยายามที่กระจายความเจริญด้านเศรษฐกิจให้ไปเติบโตที่สายอื่น ๆ นอกเหนือไปจากการพึ่งพาแต่บารมีของน้ำมันอย่างเดียวเท่านั้น
การท่องเที่ยว การผลิต และเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็น 3 เสาหลักที่รัฐบาลซาอุฯ ต้องการที่จะลงทุน และรัฐบาลเองก็กำลังให้สิ่งจูงใจด้านการเงินแก่ธุรกิจในภาคส่วนเหล่านี้ รวมถึงยังลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและทุ่มงบวิจัยและพัฒนา และศึกษาเพื่อสนับสนุนความหลากหลายด้านเศรษฐกิจ
ระบบเศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบียกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ราคาน้ำมันที่ลดลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้การเงินของรัฐบาลตึงเครียด รัฐบาลยังเผชิญกับความท้าทายทางสังคมและการเมืองหลายประการ ซึ่งอาจทำให้การปฏิรูปเศรษฐกิจทำได้ยาก
แม้จะมีความท้าทายเหล่านี้ ซาอุดีอาระเบียมีศักยภาพที่จะกลายเป็นเศรษฐกิจที่หลากหลายและมั่งคั่งมากขึ้นในอีกหลายปีข้างหน้า รัฐบาลมีทรัพยากรและความทะเยอทะยานที่จะทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้น และภาคเอกชนกำลังเติบโตและมีพลวัตมากขึ้น หากซาอุดีอาระเบียสามารถเอาชนะความท้าทายได้ ซาอุดีอาระเบียอาจกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 ก็เป็นไปได้
มหาเมกะโปรเจกต์ “Vision 2030”
ที่มา: wegotravelblog
Vision 2030 เป็นแผนยุทธศาสตร์ที่จะเปลี่ยนแปลงซาอุดีอาระเบีย จากประเทศที่เศรษฐกิจพึ่งพาน้ำมันเป็นส่วนใหญ่ ไปสู่เศรษฐกิจใหม่ที่กระจายการทำรายได้จากอุตสาหกรรมที่หลากหลาย โปรเจกต์นี้เป็นแนวความคิดของ มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มาตั้งแต่ปี 2016 โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการทำให้เศรษฐกิจของประเทศลดการพึ่งพาน้ำมัน สร้างงาน และปรับปรุงคุณภาพชีวิตของชาวซาอุดีอาระเบียทุกคน
ใน Vsion 2030 มีวัตถุประสงค์หลัก 13 ข้อ ได้แก่
- บรรลุความหลากหลายทางเศรษฐกิจ ลดการพึ่งพาน้ำมันของประเทศโดยการพัฒนาภาคส่วนใหม่ เช่น การท่องเที่ยว การผลิต และเทคโนโลยี
- สร้างงาน: สร้างงานใหม่ 1.2 ล้านตำแหน่งภายในปี 2573 โดยเน้นที่ตำแหน่งที่มีทักษะสูงและให้ผลตอบแทนสูง
- ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชน ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของชาวซาอุดีอาระเบียทุกคน โดยมอบการศึกษา การดูแลสุขภาพ และบริการทางสังคมที่ดีขึ้น
- เพื่อทำให้ซาอุดีอาระเบียเป็นศูนย์กลางระดับโลก ทำให้ซาอุดีอาระเบียเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระดับโลก
- เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม รักษาสิ่งแวดล้อมโดยการลดมลภาวะและพัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียน
- เพื่อส่งเสริมความอดกลั้น เพื่อเพิ่มความเข้าใจและลดความขัดแย้งระหว่างวัฒนธรรมและศาสนาที่แตกต่างกัน
- ให้อำนาจแก่สตรี โดยให้โอกาสมากขึ้นในด้านการศึกษา การจ้างงาน และการเมือง
- เสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ โดยการส่งเสริมวัฒนธรรมและมรดกของซาอุดีอาระเบีย
- ปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ โดยการลดระบบราชการและการทุจริต
- เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศโดยสร้างบรรยากาศการลงทุนที่น่าดึงดูดยิ่งขึ้น
- เพื่อพัฒนาทุนมนุษย์ มุ่งพัฒนาทุนมนุษย์ด้วยการลงทุนด้านการศึกษาและการฝึกอบรม
- เพื่อบรรลุความยั่งยืนทางการเงิน มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางการเงินโดยลดการใช้จ่ายของรัฐบาลและเพิ่มรายได้ที่ไม่ใช่น้ำมัน
ที่มา: Arab News
จะเห็นได้ว่าโปรเจก Vision 2030 นั้นประกอบไปด้วย 3 เสาหลักในการพัฒนาได้แก่ ด้าน เศรษฐกิจ สังคม และประชาชาติ โดยเฉพาะในตอนนี้ที่ทุกสายตาในโลกกำลังจับจ้องไปที่ ภาคการกีฬา เพราะซาอุฯ ดูจะชูเรื่องนี้มากเป็นพิเศษจะเห็นได้จากการที่กลุ่มกองทุนความมั่งคั่งของซาอุ หรือ PIF ได้ทุ่มเงิน 300 กว่าล้านในการเข้าซื้อสโมสร Newcastle United ในศึกพรีเมียร์ลีกของอังกฤษ ตามมาด้วยสโมสร Al Nassr 1 ในสโมสรที่ใหญ่ที่สุดของลีกซาอุ ได้ทุ่มเม็ดเงินมหาศาลกว่า 200 ล้านดอลลาร์ต่อปี ในการจ้าง Christiano Ronaldo นักฟุตบอลอันดับ 1 ของโลกไปเล่นที่ Saudi Professional League หรือ Saudi Pro League (SPL) หลังจากนั้นชื่อเสียงของซาอุดีอาระเบียก็เริ่มอยู่ในกระแสขึ้นมาทันที เพราะพวกเขาไม่ได้จบแค่ Christiano Ronaldo แต่ยังรวมไปถึงนักฟุตบอลระดับพรีเมียร์ลีกอีกหลายคน
PIF
PIF หรือ Public Investment Fund คือ กองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะเป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของซาอุดีอาระเบีย ก่อตั้งขึ้นในปี 1971 มีเป้าหมายเพื่อลงทุนในความมั่งคั่งด้านน้ำมันของประเทศเพื่อประโยชน์ในระยะยาวของชาวซาอุดีอาระเบีย
PIF เป็นหนึ่งในกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีสินทรัพย์มากกว่า 500,000 ล้านดอลลาร์ ลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท รวมถึงหุ้น พันธบัตร อสังหาริมทรัพย์ และโครงสร้างพื้นฐาน PIF ยังเป็นนักลงทุนรายใหญ่ในเศรษฐกิจซาอุดีอาระเบีย และมีส่วนร่วมในโครงการที่มีชื่อเสียงหลายโครงการ เช่น NEOM Megacity และ Diriyah Gate Development PIF มีเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุฯ เป็นประธาน
นอกเหนือจากการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานแล้ว PIF ยังได้กระจายการลงทุนไปยังภาคส่วนของกีฬาอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น การเข้าเทกโอเวอร์สโมสรฟุตบอลชื่อดังของอังกฤษอย่าง Newcastle United ด้วยเงิน 391 ล้านดอลลาร์ รวมถึงการทุ่มเม็ดเงินสร้างอะคาเดมีฟุตบอล การลงทุนด้านสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัยในแวดวงกีฬาฟุตบอล และการเข้าไปเป็นสปอนเซอร์ให้กับทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลชื่อดังอย่าง Spanish Super Cup และ the Africa Cup of Nations ซึ่งจะทำให้ PIF เป็นที่รู้จักในสายตาชาวโลก และทำให้ซาอุฯ กลายเป็นจุดหมายแห่งใหม่ในวงการฟุตบอล
กีฬากับซาอุ
11 สิงหาคม 2023 การแข่งขันฟุตบอลลีกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของซาอุดีอาระเบีย Saudi Pro League ฤดูกาล 2023-24 กำลังจะเริ่มขึ้น โดยปกติแล้วค่าเฉลี่ยจำนวนแฟนบอลที่เข้าชมในสนามของ SPL จะอยู่ที่ 9,300 คนเท่านั้น โดย 3 ใน 5 ฤดูกาลหลังสุด ดาวซัลโว(ผู้ทำประตูสูงสุด) ของ Saudi Pro League คือ อับเดอร์ราซัค ฮัมดัลลาห์ ซึ่งชาวโมร็อกโกที่ไม่ได้เล่นให้กับสโมสรชั้นนำของโลก สิ่งนี้แปลว่าทีมยังซาอุฯ ที่ถึงแม้จะแข็งแกร่งในทวีปเอเชีย แต่เมื่อเทียบกับยุโรปพวกเขาก็ยังห่างชั้น
สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความห่างชั้นระหว่างฟุตบอลลีกของซาอุฯ ซึ่งฟุตบอลเป็นกีฬายอดนิยมอันดับหนึ่งของชาวซาอุฯ กับลีกชั้นนำของโลกอย่าง พรีเมียร์ลีกของอังกฤษ, ลาลีก้าลีกของ สเปน, บุนเดสลีก้าของเยอรมัน, ลีกเอิง ของฝรั่งเศส และกัลโช่ซีเรียอา ของอิตาลี พวกเขาแทบจะเทียบไม่ได้เลยกับลีกของฮอลแลนด์ หรือ สกอตแลนด์ด้วยซ้ำ
ถึงแม้ว่าผู้คนในซาอุฯ จะชื่นชอบฟุตบอลมากเพียงใดแต่ก็ไม่ได้ทำให้พวกเขาอยากไปดูฟุตบอลแบบใกล้ชิดติดขอบสนาม แต่ในฤดูกาลใหม่ 2023-2024 หลายสิ่งกำลังจะเปลี่ยนไป เพราะ 4 สโมสรชั้นนำของประเทศไล่เรียงตามระดับความสำเร็จ อย่าง Al Hilal, Al Nassr, Al Ittihad, Al Ahli ต่างพากันนำเข้านักเตะระดับโลกมายัง SPL (Saudi Pro League)
อย่าง Al Ittihad เพิ่งเซ็นสัญญากับ Karim Benzema เจ้าของรางวัลบัลลงดอร์ประจำปี 2022 และเป็นผู้เล่นที่ดีที่สุดในโลกจากสโมสร Real Madrid รวมถึง N’Golo Kante กองกลางดาวรุ่งจาก Chelsea ที่หลายสโมสรในยุโรปอยากได้ตัว
Christiano Ronaldo เจ้าของรางวัลบัลลงดอร์ 5 สมัย ย้ายไปจาก Manchester United ไป Al Nassr
Sadio Mane อดีตปีกชื่อดังจากสโมสร Liverpool และ Bayern Munich ย้ายไปร่วมทีม ขณะที่ Jordan Henderson กัปตันทีม Liverppol ย้ายมา Al-Ettifaq ทีมในลีกซาอุดีอาระเบียทุ่มเงินกว่า 480 ล้านดอลลาร์สำหรับการดึงตัวผู้เล่นที่ได้ชื่อว่า “ระดับโลก” ให้ย้ายมาช่วยกันสร้างความแข็งแกร่งให้กับลีกฟุตบอลอาชีพของซาอุฯ ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของมหาโปรเจก Vision 2030 ที่ซาอุฯ ต้องการยกระดับให้ลีกฟุตบอลอาชีพของซาอุฯ ติด 1 ใน 10 ลีกฟุตบอลที่ดีที่สุดในโลกให้ได้ เพื่อผลักดันด้านเศรษฐกิจหรือเป็นฮับที่ทำให้แฟนบอลจากต่างประเทศเดินทางมาท่องเที่ยว รวมถึงในอนาคตพวกเขาก็อยากจะเป็นเจ้าภาพจัดฟุตบอลโลกให้ได้สักครั้ง โดยมีการคาดเดากันว่าซาอุดีอาระเบียจะยื่นข้อเสนอเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2030
ผู้สันทัดกรณีหลายคนเชื่อว่าการเคลื่อนไหวของซาอุฯ จะนำการเปลี่ยนแปลงไม่เพียงแค่ในซาอุฯ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงวงการกีฬาระดับโลกด้วย การลงทุนและการเจรจาของซาอุฯ เกิดขึ้นในหลายภาคส่วนของวงการกีฬา ไม่ว่าจะเป็นการซื้อผู้เล่น การซื้อสโมสรต่างประเทศ การพัฒนาสโมสรในประเทศ และการซื้อหรือการพัฒนาทัวร์นาเมนต์ในประเทศและต่างประเทศ
ทำไมซาอุฯ ถึงลงทุนหนักกับกีฬา
Danyel Reiche นักวิชาการจาก Georgetown University ในกาตาร์ บอกว่าเมื่อก่อน ซาอุดีอาระเบีย ได้แต่เฝ้าดูเพื่อนบ้านในกลุ่มประเทศอาหรับอย่าง กาตาร์ ก้าวขึ้นมามีบทบาทในทัวร์นาเมนต์กีฬาระดับโลก อย่างเช่นในปี 1993 กาตาร์ได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเทนนิสชาย ATP เป็นครั้งแรก และอีกครั้งสด ๆ ร้อน ๆ ในปี 2022 ที่กาตาร์ทุ่มเงินกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ ในการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2022 ซึ่งถือเป็นทัวร์นาเมนต์กีฬาฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก
นอกจากนี้ หนึ่งในราชวงศ์ของกาตาร์ยังเป็นเจ้าของสโมสร Paris Saint Germain สโมสรฟุบอลที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในลีกเอิงฝรั่งเศส รวมไปถึง Manchester City ที่เจ้าของสโมสรคือ ชีค มันซูร์ บิน ซาเยด อัล นาห์ยาน นายกรัฐมนตรีแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และมกุฎราชกุมารแห่งราชวงศ์อาบูดาบี ปัจจุบัน Man City ได้กลายเป็นสโมสรที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในลีกอังกฤษในช่วง 5 ปีหลัง และเป็นสโมสรฟุตบอลที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก
แต่แผนการในการปั้นวงการกีฬาของซาอุฯ นั้นคิดไกลเกินกว่าแค่ผลประโยชน์สำหรับชนชั้นสูงหรือแค่เอาชนะเพื่อนบ้านในกลุ่มตะวันออกกลางเท่านั้น สาเหตุมาจากที่ราคาพลังงานและการผลิตนั้นค่อนข้างไม่ผันผวนและไม่แน่นอนตามกลไกตลาด หมายความว่าการส่งออกน้ำมันของซาอุฯ ในปี 2023 ที่อยู่ที่ 166,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 16% ของ GDP น้อยกว่าปกติที่อยู่ที่ 40% ของ GDP เมื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานไฟฟ้ากำลังใกล้เข้ามาหมายความว่าซาอุฯ ในฐานเบอร์ 1 ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันก็ต้องขยับตัวก่อนที่ภัยจะมาถึงตัว
ดังนั้น แผน “Vision 2030” จึงเล็งเป้าไปที่การกระจายเศรษฐกิจให้ห่างไกลจากน้ำมันโดยการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่และการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจมากขึ้น รวมถึงการรับผู้หญิงเข้าสู่แรงงานมากขึ้น โดยมี PIF เป็นผู้เล่นหลัก และมีการคาดการณ์ว่า PIF จะใช้เงินทุนมากกว่า 700,000 ล้านดอลลาร์ในการปรับภูมิทัศน์ใหม่ ๆ ของเศรษฐกิจ และทำการลงทุนเชิงกลยุทธ์ในแบรนด์และเทคโนโลยีมากขึ้น
ซาอุฯ ต้องการให้ Saudi Pro League ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและดึงดูดผู้ชมมากขึ้น โดยมีเป้าหมายที่จะต้อนรับผู้ชมกว่า 100 ล้านคนต่อปีภายในปี 2036 (ในปี 2021 ซาอุฯ มีนักท่องเที่ยว 64 ล้านคน) นอกจากนี้ รัฐบาลยังคาดหวังให้ SPL จะช่วยเพิ่มรายรับให้กับประเทศอีก 4 เท่า เป็น 480 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2036 ถึงแม้จะยังน้อยกว่า Premier League ของอังกฤษที่ทำรายได้ในปี 2022-2023 ถึง 10 เท่าก็ตาม
ผู้หลักผู้ใหญ่ในซาอุฯ คาดหวังว่ากีฬาจะช่วยส่งเสริมส่วนที่เหลือของเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งคือการสร้างแบรนด์ใหม่ในภูมิภาคที่ขึ้นชื่อเรื่องความขัดแย้งทางศาสนา ลัทธิสุดโต่ง และสงคราม
ชื่อเสียงของประเทศที่ดีขึ้นและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นจะสามารถกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวได้ ซึ่งรัฐบาลซาอุฯ หวังว่าจะทำให้ GDP โตขึ้นได้อีก จากที่โต 3% ในปี 2019 เป็น 10% ภายในปี 2030
นอกจากนี้ซาอุฯ เองยังได้มีการเปิดตัว Lionel Messi นักเตะหมายเลข 1 ของโลกที่มีผู้ติดตามบนอินสตาแกรมกว่า 482 ล้านบัญชี ในฐานะทูตการท่องเที่ยวคนใหม่เพื่อดึงดูดให้ชาวโลกได้รู้จักซาอุฯ มากขึ้น และ มองซาอุฯ เป็นอีกจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวอีกแห่งของโลก 482 ล้านคนบน Instagram
การกีฬาอาจมีประโยชน์ในฐานะเครื่องมือในการส่งเสริมกลไกการปฏิรูปสังคม ในช่วงไม่กี่ปีมานี้รัฐบาลซาอุฯ ได้เปิดรับเรื่องที่เกี่ยวกับเพศมากขึ้น รวมถึงได้ดำเนินการควบคุมตำรวจศาสนาที่ทำเกินกว่าเหตุ
อีกทั้งในปี 2018 ผู้หญิงในซาอุฯ ก็ได้รับอนุญาตให้สามารถขับรถได้ และในตอนนี้รัฐบาลซาอุฯ ก็กำลังสนับสนุนกีฬาของผู้หญิงเช่นเดียวกับผู้ชาย ทีมฟุตบอลหญิงของซาอุดีอาระเบียได้รับการจัดอันดับจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือ FIFA เป็นครั้งในประวัติศาสตร์ ทั้งหมดที่รัฐบาลซาอุฯ กำลังทำอาจทำให้ประเทศดูเป็นมิตรและดึงดูดนักท่องเที่ยวผู้หญิงมากขึ้น
การที่ซาอุฯ กระตือรือร้นด้านกีฬาเป็นพิเศษไม่เพียงแต่สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะพลิกโฉมประเทศแค่ด้านภาพลักษณ์เท่านั้น แต่มันมาจากความต้องการในการลดการพึ่งพาน้ำมัน ความทะเยอทะยานของประเทศในการสร้างสังคมที่เสรีมากขึ้น และเพื่อฟื้นฟูชื่อเสียงในด้านลบ
การเคลื่อนไหวยังสะท้อนให้เห็นถึงการมองเห็นโอกาสในการเติบโตโดยใช้กีฬาระดับโลกเป็นยานพาหนะนำทางไป เพื่อดึงดูดฐานผู้ชมและนักท่องเที่ยวที่ใหญ่ขึ้นและใหม่ขึ้น ผ่านการสร้างประเทศให้เป็น World Class Sport Tourism Hub อันเป็นมิติใหม่แห่งประเทศอาหรับที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง
อ้างอิง
https://www.economist.com/briefing/2023/08/10/saudi-arabia-is-spending-a-fortune-on-sport
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ