5 กันยายน 2566 ถือเป็นวันสุดท้ายที่หุ้นโออิชิจะอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก่อนที่ บมจ. ไทยเบฟเวอเรจ จะถอนหุ้นสามัญโออิชิออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันที่ 6 กันยายน 2566
การถอนหุ้นโออิชิทั้งหมดออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นหนึ่งในทิศทางที่ไทยเบฟฯ ต้องการปรับโครงสร้างธุรกิจกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ใหม่ เพื่อให้มีความชัดเจนและมีศักยภาพมากขึ้น พร้อมกับลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในฐานะบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ
และที่ผ่านมาหุ้นโออิชิไม่มีการซื้อหุ้นในกระดานมากนัก
ก่อนถอนหุ้นโออิชิออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ไทยเบฟฯ ได้ประกาศทำ Tender Offer คำเสนอซื้อหุ้นแก่ผู้ถือหุ้นทั่วไปที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งหมด 76,279,602 หุ้นคืน ด้วยราคาหุ้นละ 59 บาท ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน – 21 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา รวมเป็นเวลา 45 วัน มีหลักทรัพย์เกียรตินาคินภัทรเป็นตัวแทนการรับซื้อ
ที่ผ่านมาโออิชิเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2547 โดยตัน ภาสกรนที ผู้ก่อตั้งเป็นผู้นำเข้าตลาดฯ
จนในปี 2551 ตันได้ขายหุ้นทั้งหมดของโออิชิที่ถืออยู่ให้กับไทยเบฟฯ ในมูลค่ารวม 3,352 ล้านบาท
หลังที่ไทยเบฟฯ ซื้อหุ้นจากตันทั้งหมด ได้กว้านซื้อหุ้นโออิชิเพิ่มจากผู้ถือหุ้นอื่น ๆ ผ่านการทำ Tender Offer เพื่อขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในปีเดียวกัน จนเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 89.93% ของหุ้นโออิชิทั้งหมด
และไทยเบฟฯ ยังคงให้ตันเป็นผู้บริหารโออิชิต่อแม้จะไม่มีหุ้นในบริษัทแล้วก็ตาม
หลังจากที่โออิชิอยู่ในมือไทยเบฟฯ ยังคงมีธุรกิจเครื่องดื่มเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้เป็นอันดับหนึ่งให้กับบริษัทอย่างต่อเนื่อง จากการเติบโตของตลาดชาเขียวในประเทศไทย
จนเวลาผ่านไปไม่นาน ตันได้ลาออกจากโออิชิมาเปิดธุรกิจอิชิตัน ทำตลาดชาเขียวเป็นของตัวเอง ที่มาพร้อมกับการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น
และในบางช่วงเวลาอิชิตันสามารถขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดชาพร้อมดื่มได้ เช่น ปี 2558 อิชิตันมีส่วนแบ่งตลาด 43.3% โออิชิ 35.7% เป็นต้น
แต่โออิชิก็สามารถเร่งเครื่องพาตัวเองครองส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่งกลับมาได้
มองย้อนหลังกลับไป 2 ปี ในปี 2564 ตลาดชาพร้อมดื่มมูลค่า 10,861 ล้านบาท (อ้างอิงช่วงเวลา 1 ตุลาคม 2563-30 กันยายน 2564)
โออิชิ กรุ๊ป มีส่วนแบ่งตลาด 48.5%
อิชิตัน กรุ๊ป มีส่วนแบ่งตลาด 31.1%
อื่น ๆ 20.4%
ในปี 2565 ตลาดชาเขียวมูลค่า 13,230 ล้านบาท (อ้างอิงช่วงเวลา 1 ตุลาคม 2564-30 กันยายน 2565)
โออิชิ กรุ๊ป 48.0%
อิชิตัน กรุ๊ป 30.1%
อื่น ๆ 21.9%
โออิชิไม่ได้มีแค่เครื่องดื่ม อีกขาหนึ่งของธุรกิจคืออาหาร ซึ่งเป็นธุรกิจเริ่มต้นของโออิชิ
จากการที่ตันเปิดตัวร้านอาหารญี่ปุ่นบุฟเฟต์ที่สุขุมวิท 55 (ซอยทองหล่อ) ในปี 2542
ก่อนที่จะเข้ามาในธุรกิจชาเขียวปี 2546 ซึ่งในเวลานั้นมียูนีฟเป็นเจ้าตลาดชาพร้อมดื่มอยู่ก่อนหน้านั้น
สำหรับธุรกิจอาหารในปัจจุบันโออิชิมีแบรนด์ร้านอาหารประกอบด้วย โออิชิแกรนด์, โออิชิ อีทเทอเรียม, โออิชิ บุฟเฟต์, ชาบูชิ, นิกุยะ, โฮวยู, ซาคาเอะ, ชาบู บาย โออิชิ, โออิชิ ราเมน, คาคาชิ, โออิชิ บิซโทโระ, โออิชิ คิทเช่น และโออิชิ ฟู้ด ทรัค และอาหารที่เป็นแพ็กเกจฟู้ด
ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ก่อนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ โออิชิ มีผลประกอบการดังนี้
ปี 2563
รายได้รวม 11,007 ล้านบาท กำไร 1,011 ล้านบาท
มาจาก
ธุรกิจเครื่องดื่ม 6,340 ล้านบาท
ธุรกิจอาหาร 5,026 ล้านบาท
ปี 2564
รายได้รวม 9,818 ล้านบาท กำไร 545 ล้านบาท
มาจาก
ธุรกิจเครื่องดื่ม 3,568 ล้านบาท
ธุรกิจอาหาร 9,818 ล้านบาท
ปี 2565
รายได้รวม 12,696 ล้านบาท กำไร 1,199 ล้านบาท
มาจาก
ธุรกิจเครื่องดื่ม 7,292 ล้านบาท
ธุรกิจอาหาร 5,404 ล้านบาท
ตุลาคม 2565-มิถุนายน 2566
รายได้รวม 10,807 ล้านบาท กำไร 1,047 ล้านบาท
มาจาก
ธุรกิจเครื่องดื่ม 6,252 ล้านบาท
ธุรกิจอาหาร 4,555 ล้านบาท
โดยปีปฏิทินโออิชิเริ่มตุลาคมสิ้นสุดกันยายนในปีถัดไป
อย่างไรก็ดี การออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยของโออิชิจะสร้างการเติบโตด้านรายได้และกำไรภายใต้การปรับโครงสร้างใหม่ได้ดีแค่ไหน คงต้องดูกันไปยาว ๆ
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ