คิวเฟรชของ บมจ. ไทยยูเนี่ยน ทำยอดขาย 630 ล้านบาท กลับมารุกตลาดวัยรุ่น ดึง “แบงค์ ธิติ” เป็นพรีเซนเตอร์คนใหม่ ตั้งเป้าขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งภายในสามปี

การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ประกอบกับพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่เน้นความสะดวกสบาย รวดเร็ว ส่งผลต่อความต้องการอาหารทะเลแช่เเข็ง มีแนวโน้มเติบโตขึ้น แต่ตลาดอาหารทะเลแช่แข็งไทยปี 2022 ตัวเลขลดลงจากปีก่อนหน้า 4.6% มูลค่าอยู่ที่ราว 2,000 ล้านบาท (รวมหมวดหมู่ Meat fried, Seafood Raw materials (กุ้ง, หอย, ปู, ปลา) และอื่น ๆ (Plant based, อาหารกล่อง)

แต่เฉพาะกลุ่ม Meat fried มีการเติบโตประมาณ 10.2% จากการลุยทำการตลาดของแบรนด์ใหญ่ ช่วยขับเคลื่อนภาพรวมของเซกเมนต์นี้ได้อย่างดี  ขณะที่ Seafood raw materials ตัวเลขตกหนักสุดในทุกเซกเมนต์ -12.6% จากการที่คนออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน  ส่วนกลุ่ม Plant based ติดลบไป 7.7% เนื่องจากเทรนด์ที่เริ่มซาลง

ในตลาดอาหารทะเลระดับโลก บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) คือหนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ของโลก ซึ่งมียอดขายมากกว่า 90% มาจากการส่งออก

สำหรับ “คิวเฟรช” (Q fresh) เป็นแบรนด์อาหารทะเลแบรนด์แรกของ ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป  

ธนโชติ บุญมีโชติ กรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจกุ้ง บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจคิวเฟรชครึ่งแรกของปี 2566 สินค้าที่เป็นรายได้หลักยังคงมาจากกุ้ง สูงถึง 42% ขณะที่ครึ่งหลังของปี มีแนวโน้มเติบโตดีกว่าครึ่งปีแรกเนื่องจากแบรนด์มีแผนลอนช์สินค้าใหม่ในกลุ่ม Value added ตอบโจทย์ลูกค้าในกลุ่ม B2C และธุรกิจบริการร้านอาหาร (Food Service)

ด้วยยอดขายส่วนใหญ่มาจากรายการกุ้ง ซึ่งบริษัทเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ ขณะที่ส่วนอื่น 58% คือปลาและซีฟู้ดประเภทอื่น ๆ (ล็อบสเตอร์นำเข้า ทาโกะวาซาบิ) บริษัทพยายาม diversify ขยายพอร์ตไปสินค้าตัวอื่นเพิ่มขึ้น เช่น ปลากะพง ที่บริษัทจำหน่ายเป็นเบอร์ต้นของประเทศไทย และสินค้าอื่น ๆ รวมถึงสินค้านำเข้า เพื่อให้บริการแบบ One stop Service ตอบโจทย์ลูกค้าได้ครอบคลุมมากกว่าเดิม

ทั้งนี้ คิวเฟรชลงตลาดซีฟู้ดพร้อมรับประทานพร้อมปรุงเมื่อปี 2017 แต่ในปี 2019 ได้รีแบรนด์ ปรับภาพลักษณ์ให้ดูสดใส เพื่อรุกตลาดผู้บริโภคยุคใหม่ ออกเมนูใหม่ดึงกลุ่มลูกค้าวัย 30 – 50 ปี หรือแม่บ้านที่ซื้อผลิตภัณฑ์ไปปรุงอาหารสำหรับรับประทานในครอบครัว โดยมีช่วงอายุระหว่าง 30-50 ปี  (Home Cook) ที่ผ่านมามีการใช้พรีเซนเตอร์ “มอส ปฏิภาณ”

เมื่อตลาดซีฟู้ดพร้อมรับประทานในปัจจุบันยังมีอัตราเติบโตต่อเนื่อง  บริษัทจึงตั้งเป้าขยายฐานลูกค้า สื่อสารไปยังกลุ่มที่เด็กลง (25-30 ปี) ผ่านกลยุทธ์ Fandom สร้างการรับรู้ต่อสินค้าคิวเฟรช  ดึง “แบงก์ ธิติ มหาโยธารักษ์” ดาราวัยรุ่นขวัญใจคนรุ่นใหม่นั่งเก้าอี้พรีเซนเตอร์คนล่าสุดของคิวเฟรช เป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบการทำกิจกรรมและสังสรรค์

จากการเติบโตของเซกเมนต์ Meat fried บริษัทจึงเปิดตัวสินค้ากลุ่ม pre-fried shrimp (breaded) คือ กุ้งชุบแป้งทอด 4 ซีรีส์ใหม่ล่าสุด คือ กุ้งไส้เชดดาร์และครีมชีส, กุ้งเทมปุระ สไตล์ญี่ปุ่น พร้อมน้ำจิ้มเทมปุระ, ทอดมันกุ้ง พร้อมน้ำจิ้มบ๊วย และ กุ้งกรอบพร้อมซอสทาร์ทาร์ จำหน่ายราคาแพ็กละ 145 บาท

ปัจจุบันคิวเฟรชมีสินค้ารวม  80 SKUs ลอนช์สินค้าใหม่เพิ่มขึ้นปีละไม่น้อยกว่า 5%

ทว่า จากกระเเสข่าวญี่ปุ่นปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลงทะเล ซึ่งเป็นผลให้จีนประกาศสั่งแบนอาหารทะเลจากญี่ปุ่น ในประเด็นเดียวกันนี้ บริษัทมองว่า

“บริษัทติดตามประเด็นนี้อย่างจริงจัง บริษัทมองในเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก เน้นผู้บริโภคมาก่อนเสมอ หลังจากนี้หากบริษัทจะนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่น ต้องมีเอกสารยืนยันจากทางซัปพลายเออร์การันตีความปลอดภัย ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทยังคงมีสต๊อกสินค้าที่นำเข้าจากญี่ปุ่นถึงสิ้นปี” ธนโชติกล่าว

ด้านยอดขายแบ่งออกเป็นสองช่องทาง จากช่องทางออฟไลน์ 96% ช่องทางหลักในโมเดิร์นเทรด และออนไลน์ 4% ขณะที่ยอดการใช้จ่ายต่อบิลผ่านอีคอมเมิร์ซอยู่ที่ 1,000-1,500 บาท/บิล และโมเดิร์นเทรด  200-300 บาท/บิล ตั้งเป้าดันยอดใช้จ่ายต่อบิลเพิ่ม 10% ภายในสองปี

ผลการดำเนินงานของคิวเฟรชปี 2566 เฉพาะแบรนด์คิวเฟรชที่จำหน่ายในช่องทางโมเดิร์นเทรดยอดขาย 230 ล้านบาท ขณะที่ช่องทางอยู่ที่ 400 ล้านบาท รวม 630 ล้านบาท เติบโตจากช่วงเดียวกันปีก่อน 5-10%   ตั้งเป้าภายในสามปีขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในช่องทางที่เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตรีเทล

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online