DAAT คาดการณ์ว่ามูลค่าโฆษณาออนไลน์ปีนี้เติบโต 13% ด้วยมูลค่า 28,999 ล้านบาท
จากครึ่งปีแรก 2023 โฆษณาออนไลน์มี 13,210 ล้านบาท
ในงาน DAAT Day 2023 ราชศักดิ์ อัศวศุภชัย, พัชรี เพิ่มวงศ์อัศวะ, ชาญชัย พงศนันทน์ กรรมการสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) และ ดร.อาภาภัทร บุญรอด Managing Director, Kantar Thailand, Insights Division ให้ข้อมูลถึงความน่าสนใจของโฆษณาออนไลน์ปี 2023 ว่า
1. โฆษณาออนไลน์เติบโต บนโฆษณาทีวีที่ลดลง
ในปีนี้มูลค่าโฆษณาทีวียังคงลดลงอย่างต่อเนื่องอีกปีหนึ่ง ส่วนหนึ่งมาจากนักการตลาดหันมาทุ่มเม็ดเงินไปกับโฆษณาออนไลน์ และในปีนี้มีการเติบโตมากถึง 13% เป็นการเติบโตที่สูงกว่าปี 2022 ที่เติบโตเพียง 4% เท่านั้น
ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากครึ่งปีหลังที่แบรนด์หันมาใช้งานทำโฆษณาออนไลน์มากขึ้น เพื่อรองรับการท่องเที่ยวและอื่น ๆ
โดยเฉพาะการท่องเที่ยวกลับมา จำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวไทยสูงขึ้น 500% เกิดโอกาสทางการตลาดและขายสินค้ามากขึ้น จากนักท่องเที่ยวที่เข้ามามีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอย
ในช่วงที่ผ่านมาโฆษณาออนไลน์มีมูลค่าและการเติบโตดังนี้
2019 19,555 ล้านบาท เติบโต 16%
2020 21,058 ล้านบาท เติบโต 8%
2021 24,766 ล้านบาท เติบโต 18%
2022 25,729 ล้านบาท เติบโต 4%
2023 28,999 ล้านบาท เติบโต 13%
ส่วนปี 2024 DAAT คาดการณ์ว่ายังเติบโต และส่วนที่เข้ามาผลักดันการเติบโตคือวิดีโอ และพฤติกรรมผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซมากขึ้น โดยช่องทางที่สามารถปิดการขายผ่านอีคอมเมิร์ซได้คือออนไลน์
2. การเติบโตของออนไลน์วิดีโอ YouTube เติบโตอย่างก้าวกระโดด และ TikTok แพลตฟอร์มที่น่าจับตามอง
แม้ปีนี้แพลตฟอร์มที่มีรายได้จากโฆษณาออนไลน์สูงสุดยังคงเป็น Meta ซึ่งประกอบด้วย Facebook และ Instagram จะมีสัดส่วนมากถึง 28% ด้วยมูลค่า 8,183 ล้านบาท
แต่รายได้จากโฆษณาของ Meta ลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา 6%
ส่วนแพลตฟอร์มที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปีนี้จะเป็นแพลตฟอร์มในรูปแบบวิดีโอ จากแบรนด์ที่ปรับการสื่อสารจากทีวีมายังออนไลน์มากขึ้น และแพลตฟอร์มในรูปแบบวิดีโอ เป็นแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์การสื่อสารในรูปแบบเดียวกับทีวี คือภาพเคลื่อนไหว
ในปีนี้ YouTube จึงเป็นแพลตฟอร์มที่มีการเติบโตโดดเด่นมากถึง 34% ด้วยมูลค่า YouTube 4,751 ล้านบาท เทียบกับปี 2022 ที่ YouTube มีการเติบโตที่ลดลง 15% เหลือมูลค่าเพียง 3,546 ล้านบาท
การเติบโตของ YouTube ปีนี้ส่วนหนึ่งมาจากการนำฟีเจอร์ใหม่ ๆ มาให้บริการเป็นเครื่องมือการตลาดให้กับแบรนด์และคนดู YouTube ไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่ม จากการดึงคนเข้ามาดูผ่านความหลากหลายของคอนเทนต์ที่มีในแพลตฟอร์ม เช่นคอนเทนต์ฮาวทู ต่าง ๆ เป็นต้น
และในมุมของพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีกับการซื้อสินค้าของแบรนด์ การดูคอนเทนต์ที่เป็นวิดีโอ จะทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อได้มากขึ้น
จนเกิดการเติบโตของเทรนด์ออนไลน์วิดีโอต่าง ๆ โดยเฉพาะวิดีโอสั้น ๆ
โดยเฉพาะ TikTok เป็นแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นที่สามารถปิดการขายสินค้าได้บนแพลตฟอร์ม ผ่าน TikTok Shop ได้
เมื่อดูที่มูลค่าโฆษณาในแพลตฟอร์มต่าง ๆ 5 แพลตฟอร์มที่มีการใช้โฆษณาสูงสุดประกอบด้วย
Meta (Facebook และ Instagram) 8,183 ล้านบาท ลดลง 6%
YouTube 4,751 ล้านบาท เติบโต 34%
Online VDO วิดีโออื่น ๆ ที่ไม่ใช่แพลตฟอร์มหลัก เช่น YouTube TikTok 2,254 ล้านบาท เติบโต 4%
Creative 2,151 ล้านบาท เติบโต 32%
TikTok 2,048 ล้านบาท เติบโต 95%
3.เครื่องสำอาง – ร้านค้าปลีก – สกินแคร์เติบโตสูง เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์กลุ่มเดียวที่ติดลบ
การเติบโตของเครื่องสำอาง และสกินแคร์มาจากผู้บริโภคออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านและเกิดการดูแลตัวเองด้านภาพลักษณ์ภายนอกมากขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีการแต่งตัวแต่งหน้าออกจากบ้านเสริมความมั่นใจ
ประกอบกับนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย และนิยมซื้อสกินแคร์กลับไป จากความนิยมสกินแคร์ที่จำหน่ายในประเทศไทย อ้างอิงได้จากปีที่ผ่านมาสกินแคร์สามารถสร้างมูลค่าการส่งออกได้มากถึง 80,000 ล้านบาท
จากการเติบโตด้านความต้องการบนการแข่งขันที่สูง แบรนด์ต่าง ๆ จึงทำโฆษณาเพื่อสร้างการรับรู้ถึงแบรนด์ และแบรนด์มีการออกสินค้าเฉพาะกลุ่มมากขึ้น เช่น กลุ่มผู้ชาย น้ำหอมกลุ่มทอม เป็นต้น
สำหรับในส่วนร้านค้าปลีกหรือรีเทลรวมถึงอีคอมเมิร์ซต่าง ๆ มีการใช้จ่ายมากขึ้น จากการเปิดประเทศตั้งแต่ปีที่ผ่านมา และร้านค้าปลีกมีการทำตลาดในรูปแบบออมนิชาแนล ซึ่งเป็นคีย์เวิร์ดที่สำคัญของร้านค้าปลีกในปีนี้
โดยเฉพาะรีเทลรายใหญ่ อย่างเครือเซ็นทรัล และเดอะมอลล์ มีการนำออมนิชาแนลมาใช้สร้างประสบการณ์ใหม่ในออนไลน์และออฟไลน์ให้กับผู้บริโภค
และโอกาสของการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จนเกิดการจับจ่ายในประเทศ ทำให้รีเทลใช้เป็นช่องทางในการสื่อสาร ผ่านอีคอมเมิร์ซ และไลฟ์คอมเมิร์ซ ไปถึงต่างชาติมากขึ้น เพื่อให้พวกเขาเข้ามาซื้อสินค้าในแบรนด์หรือร้านค้าของตัวเอง
ในปีนี้กลุ่มที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
สกินแคร์ 3,268 ล้านบาท
อุตสาหกรรมยานยนต์ 2,520 ล้านบาท
เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 2,228 ล้านบาท
ธุรกิจการสื่อสาร 2,190 ล้านบาท
ร้านค้าปลีก 1,682 ล้านบาท จากเดิมที่ยังไม่ได้ติดอันดับ Top5
และ
5 Category ใช้เม็ดเงินเติบโตสูงสุดประกอบด้วย
เครื่องสำอาง เติบโต 139%
ร้านค้าปลีก เติบโต 41%
สกินแคร์ เติบโต 32%
อินชัวรันส์ เติบโต 21%
ธุรกิจการสื่อสาร 9%
4. เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์รายได้ติดลบกลุ่มเดียว
Top10 ของกลุ่มที่ใช้เม็ดเงินสูงสุดในปีนี้ เป็นการใช้เม็ดเงินเติบโตขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาแทบทุกกลุ่ม
ยกเว้นเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ที่มีการติดลบ 12%
เหตุผลที่เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ติดลบมาจากก่อนช่วงโควิด-19 แพร่ระบาดสินค้ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาออนไลน์ไม่มากนัก
ก่อนที่จะมาเติบโตอย่างเห็นได้ชัดในช่วงโควิดเพื่อโปรโมตเข้าถึงผู้บริโภคที่ไม่สามารถออกนอกบ้านทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้
จนเมื่อปี 2022 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์มีการติดลบ และต่อเนื่องจนถึงปีนี้
การติดลบของเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในปีนี้ ส่วนหนึ่งมาจากแบรนด์เครื่องดื่ม โดยเฉพาะน้ำอัดลมลดใช้เงินในโฆษณาออนไลน์และออฟไลน์ในสื่อต่าง ๆ และลงน้ำหนักไปยังการตลาดออนกราวด์ การทำอีเวนต์ มิวสิกมาร์เก็ตติ้ง และใช้เงินตรงไปกับอินฟลูเอนเซอร์ นักรีวิวสายกิน ทำให้ไม่สามารถเก็บมูลค่าในส่วนนี้ได้
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ