เมื่อเกาหลีใต้เอาจริงเอาจังกับการขับเคลื่อนประเทศด้วยซอฟต์พาวเวอร์ที่แข็งแกร่ง สนับสนุนทุกภาคส่วนโดยเฉพาะอุตสาหกรรมบันเทิง ซึ่งเปรียบเสมือนท่อลำเลียง K-Culture ออกสู่สายตาประชากรโลก

จากที่เคยมีการรายงานว่า มีซีรีส์เกาหลีมากกว่า 80 เรื่องที่ยังรอคิวออกฉาย เเต่เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเป็น 100 เรื่อง

 

Moving คือซีรีส์จากเว็บตูน แนวโรแมนติก-แฟนตาซี เกี่ยวกับซูเปอร์ฮีโร่ ที่กำลังโด่งดังอย่างมากในขณะนี้ นำแสดงโดยนักแสดงแถวหน้า Han Hyo-joo, Zo In-sung and Ryu Seung-ryong กลายเป็นซีรีส์เกาหลีที่ถูกพูดถึงในแง่ของโปรดักชัน ที่จัดว่ายกระดับการถ่ายทำของซีรีส์ไปสู่ตลาดการแข่งขันระดับ worldwide อย่างแท้จริง

เมื่อเปิดดูงบลงทุนสร้างซีรีส์เรื่องนี้ได้เงินลงทุนไปมากถึง 50,000 ล้านวอน หรือราว 1,325 ล้านบาท นับเป็นจำนวนการลงทุนที่สูงที่สุดของซีรีส์โทรทัศน์

ที่ผ่านมา The Glory, Squid game ซีรีส์ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ต่างก็มีงบลงทุนสร้างมหาศาลเช่นกัน

หนึ่งในการสนับสนุนทุนระดับสูงนั้น คือการที่ Netflix บริษัทสตรีมมิ่งยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ เข้าลงทุน 2.5 พันล้านดอลลาร์ ในเกาหลีใต้ เพื่อผลิตซีรีส์โทรทัศน์ ภาพยนตร์ และรายการที่มีสคริปต์ของเกาหลี ซึ่งเป็นงบลงทุนที่มากที่สุดที่เคยมีมาในอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลี  ช่วยสร้างตำแหน่งงาน 68,000 ตำแหน่ง สนับสนุนระบบนิเวศเชิงสร้างสรรค์ เสริมขีดความสามารถของเกาหลีให้แข่งขันในระดับอุตสาหกรรมใหญ่ของโลก เทียบเท่าฮอลลีวู้ด บอลลีวู้ด

แต่ไม่ใช่ทุกเรื่องที่จะประสบความสำเร็จอย่างซีรีส์ข้างต้น และสามารถสร้างสรรค์พลอตที่แหวกไปจากขนบเดิม ๆ เพราะการผลิตครั้งหนึ่งต้องอาศัยงบสร้างจากนักลงทุน การจะทำซีรีส์ฟอร์มยักษ์ที่ไม่ใช่แนวตลาดแมส เสี่ยงต่อการของบลงทุนจากนักลงทุน หากตัวผู้กำกับหรือนักแสดง ไม่ใช่เบอร์ต้นของวงการบันเทิง

ดังนั้น ผู้ผลิตจึงต้องเริ่ม Play safe เลือกสร้างพลอตง่าย ๆ แนวตลาดเเมส หลายโปรเจกต์เน้นโรแมนติก ระทึกขวัญ ยกตัวอย่าง King the land ที่เพิ่งจบไปก็เป็นแนวโรเเมนติกคอมเมดี้ ดูง่าย ไม่ซับซ้อน และใช้นักแสดงเบอร์ใหญ่ของวงการ

เพื่อให้มั่นใจได้ว่ามีขนาดกลุ่มผู้ชมรองรับที่ใหญ่พอ หรือเลือกใช้นักแสดงนำที่มีชื่อเสียง อาศัยฐานแฟนด้อมตัวบุคคลที่ช่วยให้สำเร็จได้ส่วนหนึ่ง เม็ดเงินการลงทุนจึงไปกระจุกตัวอยู่ในซีรีส์ฟอร์มยักษ์ หรือเลือกที่มีนักแสดงดัง

เม็ดเงินลงทุนเยอะ ผลิตเยอะ ล้นตลาด

ปัจจุบันจะเห็นว่าซีรีส์เกาหลีตามแพลตฟอร์ม เช่น Netflix มีเนื้อหาที่สั้นกว่าเดิมเกือบเท่าตัว จากเดิมที่ละครเรื่องหนึ่งมี 20 หรือ 16 ตอน ช่วงหลังจะเห็นว่าหลายเรื่องที่ปล่อยมาใหม่ลดลงเหลือ 12 ตอน 10 ตอน 8 ตอน ตามลำดับ อีกทั้งเป็นคอนเทนต์ที่ปล่อยพร้อมกันหมดในคราวเดียว ไม่ต้องรอสัปดาห์ต่อสัปดาห์เช่นเดิม

ด้วยเม็ดเงินที่ไหลเข้าสู่อุตสาหกรรมคอนเทนต์ของเกาหลีที่มีมากขึ้น ทำให้ซีรีส์เพิ่มจำนวนต่อเนื่อง ทั้งเรื่องจากผู้ผลิตที่เป็นช่องโทรทัศน์ และจากแพลตฟอร์ม OTT (บริการวิดีโอออนไลน์) ที่ลงทุนเข้ามาสร้างสตูดิโอการผลิตโดยตรง ทำให้มีคอนเทนต์ออกมาไม่ขาดสาย ตอบสนองความต้องการด้านบันเทิงของผู้ชมได้ไม่สะดุด

เเต่การที่มีคอนเทนต์ออกมาเกลื่อนตลาด ขณะที่ช่องทางการถ่ายทอดทั้ง OTT หรือช่องสถานีโทรทัศน์ กลับมีเวลาให้ลงคอนเทนต์ไม่พอ  ไม่ทันต่อการถ่ายทอดซีรีส์บางเรื่องที่มีข่าวปิดกล้องไปนานแล้ว กลับยังไม่มีวี่แววได้ฉายเร็ววัน เนื่องจากผลงานก่อนหน้าที่ค้างอยู่ในสต๊อก ยังต่อคิวกันยาวเหยียดนับร้อยเรื่อง

ซึ่งการเลือกใช้ทอปสตาร์ก็ยังไม่สามารถการันตีได้ทั้งหมดว่าจะประสบความสำเร็จ ตัวอย่างเรื่อง “The King Eternal Monarch” ที่ได้นักแสดงดัง “ลีมินโฮ” มารับบทนำ ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แต่ใช้งบสร้างไปมากกว่า 780 ล้านบาท หรือเรื่องในเวลาไล่เลี่ยกัน อย่าง “Alice” นำแสดงโดยจูวอน ก็จบลงไม่ต่างกัน เพราะเนื้อหาที่ไม่ร้อยเรียง ทำอารมณ์การรับชมสะดุด ส่งผลให้เรตติ้งต่ำ ยิ่งเป็นข้อพิสูจน์ว่าการจ้างคนดังระดับทอปสตาร์ ก็ยังไม่สามารถการันตีได้ว่าจะทำกำไร นักลงทุนจึงยิ่งต้องเข้มงวดกับการพิจารณาลงทุนมากขึ้นอีก

 ตัวอย่างซีรีส์ที่รอกำหนดฉายมานานกว่า 1 ปี

กับเรื่อง ‘Blue House People’ นำแสดงโดย Cha In-pyo ที่นับได้ว่าเป็นทอปสตาร์ของเกาหลี แต่กลับยังไร้วี่แววคอนเฟิร์มตารางหรือช่องทางถ่ายทอด

‘Until the Morning Rises’ รีเมคละครอเมริกัน นำแสดงโดย Han Suk-kyu และ Jung Yu-mi

และ ‘The Mentalist’ นำแสดงโดย Park Si-hoo และ Go woo-ri

วิกฤตนี้กำลังขยายวงกว้างทั้งในและนอกอุตสาหกรรมการแพร่ภาพกระจายเสียง เนื่องจากผู้ออกอากาศที่เป็นสถานีโทรทัศน์และ OTT ลดวันถ่ายทอดละคร เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย อาทิ การตัดลอตซีรีส์ จ-อ หรือ พ-พฤ ออก หรือลดซีรีส์แนวดั้งเดิมที่เป็นซิตคอมซึ่งกินเวลานานออก

เพราะล่าสุดต้นทุนการผลิตยังเพิ่มสูงขึ้นอีก โดยเฉลี่ย 1.5 พันล้านวอนต่อ EP แต่หลายเเพลตฟอร์มประสบปัญหาทางการเงิน จึงไม่มีสิ่งใดรับประกันได้ว่าคอนเทนต์ที่สร้างจะได้ฉายหรือไม่

ผู้ออกอากาศฝั่งเกาหลีระบุว่า มีละคร 100 เรื่องที่ยังไม่สามารถรับชมบนแพลตฟอร์มสาธารณะได้ แม้ว่าการถ่ายทำหรือออดิชันจะเสร็จสิ้นไปแล้วก็ตาม

 ส่งผลให้ผู้ผลิตคาดการณ์ว่า จำนวนการผลิตซีรีส์ในปีหน้าจะลดลงเหลือ 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับปี 2023

ตามข้อมูลของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจเกาหลี ปีที่ผ่านมาเกาหลีใต้ส่งออกคอนเทนต์รวมวิดีโอเกม เพลง และการออกอากาศ  ที่สร้างรายได้เข้าประเทศมากกว่า 13,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นมูลค่าที่มากกว่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน (8.67 พันล้านดอลลาร์) แบตเตอรี่สำรอง (8.67 พันล้านดอลลาร์) ยานพาหนะไฟฟ้า (6.99 พันล้านดอลลาร์) และแผงแสดงผล (3.6 พันล้านดอลลาร์)

เป็นสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ได้แรงหนุนจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของวัฒนธรรมป๊อปเกาหลีทั่วโลก

ในปี 2022 เน็ตฟลิกซ์รายงานผลกำไรจากการดำเนินงาน 14.28 พันล้านวอน เฉพาะในเกาหลีใต้ ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับผลขาดทุนจากการดำเนินงานของแพลตฟอร์มท้องถิ่นอย่าง Tving ที่ขาดทุน 119 พันล้านวอน

อย่างไรก็ตาม เกาหลีใต้ไม่มีกฎหมายที่กำหนดให้บริการสตรีมมิ่งจากต่างประเทศ ผลิตหรือลงทุนในคอนเทนต์ท้องถิ่น ต่างจากสหภาพยุโรป หลายองค์กรของเกาหลีจึงเป็นกังวลต่อปัญหาทรัพย์สินทางปัญญา อีกทั้งเสนอให้รัฐบาลสร้างระบบที่จะมั่นใจได้ว่าผลกำไรส่วนเกินสามารถคืนให้กับผู้สร้างชาวเกาหลีใต้ได้โดยเเท้

แม้ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะส่งผลต่อผู้ผลิตในปีนี้ แต่อุตสาหกรรมคอนเทนต์จะสามารถเติบโตอย่างต่อเนื่องได้อย่างเเน่นอน

.

ที่มา : naveryonhapnews, ceicdata, statista

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online