ไก่ทอง – ลูกไก่ทอง – ปังชา เคสเดียวดังได้ 3 แบรนด์แบบไม่อยากให้โลกจำ
ไก่ทอง ออริจินัล-ลูกไก่ทอง-ปังชา คาเฟ่ สามแบรนด์นี้เกี่ยว หรือไม่เกี่ยวข้องกันอย่างไร แบบดังขึ้นมาพร้อมกัน ๆ โดยไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก
หลังร้าน “ลูกไก่ทอง” ออกประกาศผ่านเฟซบุ๊กถึงการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่กี่วัน ก็มีการเปิดเผยออกมาว่า ร้านขายขนมและเครื่องดื่มจำนวนสองร้าน มีร้านที่ใช้ชื่อว่า “ปังชา” ถูกทนายความส่งโนติสเรียกค่าเสียหาย 102 ล้านบาท ขณะที่อีกเจ้าถูกเรียก 7 แสนบาท และให้จ่ายภายใน 7 วัน
เมื่อข่าวนี้ถูกเผยเเพร่ออกไป เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง จนขึ้นเทรนด์ Twitter เพราะปังชา ถือเป็นเมนูฮิตที่คนรู้จัก เเละทำขายกันทั่วไป ทำไมร้านดังจึงถือสิทธิอ้างเรียกค่าเสียหายได้
ทนายความหลายท่านต่างออกมาเเสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ชื่อ “ปังชา” สามารถใช้โดยทั่วไปได้ ร้านไม่มีสิทธิฟ้องประชาชนคนอื่นที่ใช้คำว่า “ปังชา” ได้
ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ออกมายืนยันว่า ร้านทั่วไปสามารถขายเมนูนี้ หรือตั้งชื่อโดยใช้ชื่อนี้ได้ เพราะเมนูน้ำแข็งไสราดชาไทยมีขายมานานแล้ว จึงไม่มีใครสามารถจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในเมนูนี้ได้ เพียงเเต่ต้องไม่มีการดัดแปลงเครื่องหมายการค้าหรือโลโก้แบรนด์ เพื่อสร้างความสับสน เข้าใจผิดเพื่อมุ่งหวังประโยชน์ทางการค้า
ในกรณีนี้ การจดทะเบียนของร้านดัง จดเฉพาะโลโก้เท่านั้น หากมีผู้เอาไปใช้ทั้งโลโก้ชื่อร้านครบถ้วน จึงจะเป็นการละเมิด เเต่หากมีเพียงคำว่า “ปังชา” อยู่ในโลโก้ที่ต่างไป ไม่เข้าข่ายละเมิดเครื่องหมายการค้า
มารู้จักร้านลูกไก่ทอง-ปังชาคาเฟ่ ดังขนาดไหน รายได้เท่าไร
หากจะพูดถึง “ร้านลูกไก่ทอง” ต้องกล่าวมาตั้งเเต่เริ่ม “ร้านไก่ทอง” เพราะเป็นร้านต้นตำรับ ต่อยอดการเกิดร้านลูกไก่ทอง
ร้านไก่ทองเป็นแบรนด์ร้านอาหารไทยต้นตำรับ ที่เปิดตัวเมื่อ 25 ปีก่อน ก่อตั้งโดย “อรุณี มนตรีวัต” เป็นร้านอาหารเล็ก ๆ ในเมืองทองธานี ที่ปัจจุบันเปลี่ยนมือสู่ทายาทรุ่นสอง คือลูกสาว แสงอรุณ มนตรีวัต
ซึ่งคุณแสงอรุณก็ได้รีแบรนด์ร้านไก่ทอง สู่ “ไก่ทอง ออริจินัล”
ส่วน แสงณรงค์ มนตรีวัต ลูกชายของคุณอรุณี มนตรีวัต ผู้ก่อตั้งไก่ทอง ออริจินัล ได้แยกออกมาเปิด ร้าน “ลูกไก่ทอง” เมื่อปี 2552 มีสัญลักษณ์รูปไก่ที่มาจากปีเกิดของคุณพ่อ
เปิดสาขาแรกที่ทองหล่อ โดยจะขายอาหารที่ต่างจากร้านต้นตำรับของ ไก่ทอง ออรินัล เน้นเป็นสูตรอาหารจีนที่ส่งต่อจากรุ่นคุณแม่
แต่เมื่อเปิดร้านมีความคิดอยากเพิ่มเมนูของหวานเข้ามาขายในร้านด้วย ซึ่งขณะนั้นมีข่าวว่าชาไทยเป็นเครื่องดื่มฮิตของโลก เลยเกิดไอเดียหยิบเอาชาไทยมาทำเป็น ปังชา จนกลายเป็นเมนูของหวานที่มีชื่อเสียงโด่งดัง และกลายเป็นซิกเนเจอร์ที่ลูกค้าทุกคนต้องตั้งใจแวะมาสั่งที่ร้านเสมอ
ปังชาถ้วยแรกเสิร์ฟที่ร้านสาขาทองหล่อ โดยทางร้านยังไม่ได้วางขายในทันที แต่ทดลองแจกให้ลูกค้าชิมก่อน ในช่วงแรกปังชาเป็นแค่ขนมปังกับน้ำแข็งไสชาไทย ก่อนปรับสูตรโดยเสริมทอปปิ้งไข่มุก 3 อย่าง คือ ไข่มุกแก้ว ไข่มุกชาไทย ไข่มุกชาดำ
ด้วยความโดดเด่นของเมนู ปังชา ก็ได้รับ Michelin Guide Thailand 5 ปีซ้อน (2561-2565)
จนร้านต่อยอดไปสู่การเปิดแบรนด์ใหม่ “ปังชา คาเฟ่” (Pang Cha cafe) เป็นร้านเมนูของหวานโดยเฉพาะเเยกออกมา
ไทม์ไลน์ร้าน ปังชา คาเฟ่ – ลูกไก่ทอง รายได้หลัก 200 ล้าน
ประวัติ ร้านลูกไก่ทอง | |||
แรกเริ่ม ต้องกล่าวย้อนไปถึงร้าน “ไก่ทอง” ที่เป็นเเรงบันดาลใจของร้าน “ลูกไก่ทอง” | |||
2541 | ร้านไก่ทอง ก่อตั้งโดย “อรุณี มนตรีวัต” สาขาแรกที่เมืองทองธานี
ปัจจุบันเปลี่ยนมือสู่ทายาทรุ่นที่สองคือลูกสาว “แสงอรุณ มนตรีวัต” เเละได้รีแบรนด์ใหม่เป็น “ไก่ทอง ออริจินัล” |
||
2552
|
ส่วน “แสงณรงค์ มนตรีวัต” ลูกชายอีกคนของ อรุณี มนตรีวัต แยกเปิดร้าน “ลูกไก่ทอง” สาขาแรกที่ทองหล่อ | ||
สัญลักษณ์รูปไก่มาจากปีเกิดของบิดา | |||
เกิดปังชา เพราะร้านลูกไก่ทองต้องการเพิ่มเมนูของหวาน จึงนำชาไทยมาทำเป็นปังชา | |||
2561-2565 | เมนูปังชาได้รับ Michelin Guide Thailand 5 ปีซ้อน | ||
ปังชาโด่งดังจนเป็นซิกเนเจอร์ของร้าน จึงแตกไลน์เปิดร้านใหม่ ในชื่อ “ปังชา คาเฟ่” (Pang Cha cafe) เน้นขายของหวานรสชาติชาไทยแท้ | |||
2566 | ดราม่าการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า | ||
ร้านลูกไก่ทองมีสาขา 4 สาขา
ร้าน Pang Cha Café มี 9 สาขา |
|||
ทั้งสองร้านอยู่ภายใต้บริษัท กาญณรงค์ กรุ๊ป จำกัด | |||
2563 | 2564 | 2565 | |
รายได้(ล้านบาท) | 97 | 94 | 290 |
กำไร (ล้านบาท) | -7 | -6 แสน | 30 |
ที่มา: กรมพัฒนาธุรกิจ
…
อ่าน: ไก่ทอง ออริจินัล ชี้แจงดราม่า ‘ปังชา’ เรื่องนี้ไม่ขอเกี่ยว
Marketeer FYI
ขอบเขตของคำว่า ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายทางการค้า
ลิขสิทธิ์
กรมทรัพย์สินทางปัญญาให้ความหมายคำว่า “ลิขสิทธิ์” ว่า คือ สิทธิเเต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ริเริ่ม โดยใช้สติปัญญา ความรู้ ความสามารถ และความวิริยะอุตสาหะของตนเองในการสร้างสรรค์ ไม่ลอกเลียนงานของผู้อื่น โดยงานที่สร้างสรรค์ต้องเป็นงานตามประเภทกฎหมายลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครอง โดยผู้สร้างสรรค์จะได้รับความคุ้มครองทันทีที่สร้างสรรค์โดยไม่ต้องจดทะเบียน
โดยประเภทงานที่กฎหมายลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครอง ได้เเก่
– งานวรรณกรรม (หนังสือ บทความ บทกลอน)
– นาฏกรรม
– ศิลปกรรม (ภาพวาด ภาพถ่าย)
– ดนตรีกรรม (เนื้อร้อง ทำนองเพลง)
– โสตทัศน์วัสดุ (วีซีดีคาราโอเกะ)
– ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง (เทป ซีดีเพลง)
– งานเเพร่เสียงเเพร่ภาพ (รายการวิทยุโทรทัศน์)
– หรืองานอื่นใดในแนว วรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
สิทธิบัตร
หมายถึงหนังสือสำคัญที่รัฐออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์ หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่มีลักษณะตามที่กฎหมายกำหนด เป็นสิทธิพิเศษที่ให้ผู้ประดิษฐ์คิดค้นหรือผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ มีสิทธิที่จะผลิตสินค้า จำหน่ายสินค้าแต่เพียงผู้เดียว
เครื่องหมายการค้า
ตามความหมายอย่างกว้างนั้น หมายถึงเครื่องหมาย หรือ ตราสัญลักษณ์ที่ใช้กับสินค้าหรือบริการเพื่อทำให้ผู้บริโภคสามารถแยกสินค้าและบริการหนึ่ง ๆ ออกจากสินค้าและบริการของผู้ผลิตรายอื่นได้ โดยเครื่องหมายการค้าจะทำให้สินค้าหรือบริการที่มาจากแหล่งหนึ่งมีเอกลักษณ์และแตกต่างจากสินค้าหรือบริการที่มาจากแหล่งอื่น
แต่ในความหมายอย่างแคบนั้น เครื่องหมายการค้าจะแบ่งออกเป็น 4 ประเภทย่อย ได้แก่
- เครื่องหมายการค้า คือ เครื่องหมายที่ใช้เพื่อแยกแยะหรือแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น
- เครื่องหมายบริการ คือ เครื่องหมายที่ใช้เพื่อแยกแยะหรือแสดงว่าบริการที่ใช้เครื่องหมายบริการนั้นแตกต่างกับบริการที่ใช้เครื่องหมายบริการของบุคคลอื่น
- เครื่องหมายรับรอง คือ เครื่องหมายที่เจ้าของเครื่องหมายรับรองใช้เพื่อเป็นการรับรองเกี่ยวกับแหล่งกำเนิด ส่วนประกอบ วิธีการผลิต คุณภาพ หรือ คุณลักษณะอื่นใด ของสินค้านั้น หรือเพื่อรับรองเกี่ยวกับสภาพ คุณภาพ ชนิด หรือ คุณลักษณะอื่นใดของบริการ ว่าเป็นสินค้าหรือบริการที่มีคุณสมบัติสอดคล้องและได้มาตรฐานตามที่เจ้าของเครื่องหมายรับรองนั้นกำหนดขึ้น
- เครื่องหมายร่วม คือ เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการที่ใช้โดย บริษัทหรือวิสาหกิจในกลุ่มเดียวกัน หรือโดยสมาชิกของสมาคมสหกรณ์ สหภาพ กลุ่มบุคคลหรือองค์กรของรัฐหรือเอกชน เพื่อแยกแยะสินค้าหรือบริการของกลุ่มกิจการที่ใช้เครื่องหมายร่วมนั้นออกจากสินค้าหรือบริการของบุคคลอื่น ทั้งนี้ กลุ่มกิจการดังกล่าวสามารถใช้เครื่องหมายร่วมควบคู่ไปกับเครื่องหมายการค้า หรือ เครื่องหมายบริการของตนได้ด้วยเช่นกัน
(กรมทรัพย์สินทางปัญญา, กระทรวงพาณิชย์)
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ