ในที่สุดธุรกิจ แรบบิทไลน์เพย์ ได้กลับมาเป็นของไลน์ ประเทศไทย และไลน์แมน วงใน บริษัทในเครือ หลังจากที่เข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท แรบบิท-ไลน์ เพย์ จำกัด จากเอไอเอส และวีจีไอ ผู้ถือหุ้นเดิมเมื่อ 31 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา
จากเดิมที่ไลน์ ประเทศไทย ถือหุ้นในบริษัท แรบบิท-ไลน์ เพย์ จำกัด ในสัดส่วน 33.33% ผ่านบริษัท ไลน์ บิซ พลัส จำกัด
เอไอเอส ถือหุ้น 33.33% ผ่านบริษัท แอดวานซ์ เอ็มเปย์ จำกัด
วีจีไอ ถือหุ้น 33% ผ่านบริษัท แรบบิทเพย์ ซิสเทม จำกัด
ด้วยเหตุผล ต้องการเชื่อมโยงบริการแรบบิท ไลน์ เพย์ เข้ากับอีโคซิสเต็มส์ของไลน์ ประเทศไทย และไลน์แมน วงใน ได้แก่ บริการแอปไลน์, ไลน์แมน, บริการไลน์ช้อปปิ้ง และเครือข่ายร้านค้าบนแพลตฟอร์มวงใน สร้างประสบการณ์การใช้งานแบบไร้รอยต่อมากขึ้น
และการซื้อหุ้นทั้งหมดครั้งนี้แม้ผู้ถือหุ้นจะเปลี่ยนไปแต่ยังให้บริการเชื่อมต่อกับตั๋วรถไฟฟ้าบีทีเอส และชำระค่าบริการเอไอเอสได้เช่นเดิม
แต่ความท้าทายของการซื้อหุ้นบริษัท แรบบิท-ไลน์ เพย์ จำกัด เข้ามาเป็นของไลน์ ประเทศไทย และไลน์แมน วงในทั้งหมด
คือผลประกอบการที่ขาดทุนต่อเนื่องบนการแข่งขันของตลาด e-Wallet ที่มีทรูมันนี่เป็นคู่แข่งรายสำคัญ ที่มีฐานผู้ใช้ 27 ล้านคน อ้างอิงเดือนพฤษภาคม 2566 และมีช่องทางชำระเงินทรงพลังอย่างเซเว่น อีเลฟเว่น
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัท แรบบิท-ไลน์ เพย์ จำกัด มีผลประกอบการ ดังนี้
2561 รายได้รวม 214.92 ล้านบาท ขาดทุน 366.55 ล้านบาท
2562 รายได้รวม 154.45 ล้านบาท ขาดทุน 353.78 ล้านบาท
2563 รายได้รวม 148.39 ล้านบาท ขาดทุน 185.75 ล้านบาท
2564 รายได้รวม 255.36 ล้านบาท ขาดทุน 184.60 ล้านบาท
2565 รายได้รวม 319.63 ล้านบาท ขาดทุน 156.65 ล้านบาท
การขาดทุนนี้มีความน่าสนใจคือ การขาดทุนที่ลดลงต่อเนื่องทุกปี
บนจำนวนของผู้ใช้ แรบบิทไลน์ เพย์ จะเติบโตต่อเนื่องในทุกปีเช่นกัน
ในปี 2561 แรบบิทไลน์ เพย์ มีผู้ใช้ 5.1 ล้านคน
2562 7.0 ล้านคน
2563 8.0 ล้านคน
2564 9.3 ล้านคน
2565 10.2 ล้านคน
มิถุนายน 2566 10.6 ล้านคน
ถ้ามองย้อนกลับไปในอดีต การซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท แรบบิท-ไลน์ เพย์ จำกัด กลับมาเป็นเหมือนการนำธุรกิจตัวเองกลับมาบริหารอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง ในวันที่ธุรกิจนี้เติบโตด้านยอดผู้ใช้และช่องทางในการชำระเงินที่หลากหลาย
เพราะในอดีตไลน์ ประเทศไทย เคยมีบริการ ไลน์เพย์ เป็นแพลตฟอร์มชำระเงินของไลน์ จดทะเบียนภายใต้ บริษัท ไลน์ บิซ พลัส จำกัด เปิดให้บริการในปี 2558
ก่อนที่จะจับมือกับบริษัท แรบบิท เพย์ ซิสเทม จำกัด ผู้ทำ บัตรแรบบิท ในเดือนเมษายน ปี 2559 เปิดบริการ แรบบิท ไลน์ เพย์ เข้ามาแทนไลน์ เพย์ เดิม และจัดตั้งบริษัท แรบบิท-ไลน์ เพย์ จำกัด
ซึ่งในต้นปี 2559 บริษัท แรบบิท เพย์ ซิสเทม จำกัด เป็นบริษัทภายใต้ บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ก่อนที่จะโอนธุรกิจให้ วีจีไอ โกลบอล มีเดีย หรือวีจีไอ หลังบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ปรับโครงสร้างธุรกิจในปลายปี 2559
ความร่วมมือในตอนนั้นสามารถพาไลน์เพย์ที่มีลูกค้าใช้งานเพียง 1.5 ล้านคน ขยายฐานลูกค้าไปยังผู้ใช้งานบัตรแรบบิท ที่มีกลุ่มเป้าหมายหลักคือ ผู้ใช้บริการบีทีเอส เพื่อพร้อมสร้างพฤติกรรมการชำระเงินผ่านแพลตฟอร์มและการรับรู้เรื่องแบรนด์ได้อย่างน่าสนใจ
โดยแรบบิทไลน์เพย์ เป็นแพลตฟอร์ม e-Wallet ในรูปแบบออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์มไลน์
ส่วนบัตรแรบบิท เป็น e-Wallet ในรูปแบบออฟไลน์ผ่านบัตรแรบบิท
พร้อมกับต่อยอดบริการชำระเงินไปยังจุดชำระเงินอื่น ๆ สร้างอีโคซิสเต็มส์ด้านการชำระเงินผ่านแรบบิท ไลน์เพย์ ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อหวังผล เชื่อมโยงบริการชำระเงินที่ครอบคลุมการใช้จ่ายออนไลน์และออฟไลน์ ทุกไลฟ์สไตล์การชำระเงินของลูกค้า สร้างความถี่ ความหลากหลายของบริการ เพื่อต่อยอดไปยังบริการ การใช้งานอื่น ๆ ที่จะเกิดในอนาคต
จนในปี 2561 เอไอเอส เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในแรบบิท ไลน์ เพย์ เพื่ออุดช่องว่างในการให้บริการ mPay บริการแพลตฟอร์ม e-Wallet ของเอไอเอส ที่ในเวลานั้นกลุ่มผู้ใช้งานหลักเป็นกลุ่ม B2B (Business to Business) ไปยังผู้บริโภคทั่วไปมากขึ้น
และการเข้ามาถือหุ้นของเอไอเอส ทำให้แรบบิท ไลน์ เพย์ สามารถขยายฐานลูกค้าของเอไอเอส พร้อมกับให้บริการชำระเงินค่าบริการของเอไอเอสผ่านแรบบิท ไลน์ เพย์ได้
อย่างไรก็ดี การที่ไลน์ ประเทศไทย และไลน์แมน วงใน เข้ามาถือหุ้นทั้งหมดของแรบบิท ไลน์ เพย์ เป็นที่เรียบร้อย อาจจะเป็นหนึ่งเกมสร้างพลังในการให้บริการ แข่งขันในธุรกิจ e-Wallet ในแบบฉบับของไลน์ ที่ในวันนี้ได้เติบโตผ่านขาธุรกิจที่หลากหลาย โดยเฉพาะธุรกิจอาหาร หลังจากที่ควบรวมกับวงใน และเกิดความเคลื่อนไหวผ่านการซื้อกิจการต่าง ๆ เช่นการเข้าซื้อบริษัท FoodStory ผู้พัฒนาระบบ POS (Point of Sale System) และ Merchant App ในร้านอาหาร ที่สามารถนำมาเชื่อมโยงกับการชำระเงินผ่านแรบบิทไลน์เพย์ได้เป็นอย่างดี
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ