เมอร์เซเดส-เบนซ์ เปิดตัวรถยนต์ตระกูล EQ 2 รุ่นรวด EQE 350 SUV/AMG EQE 53 เผยบิสิเนสโมเดลใหม่ สะเทือนตลาดรถยนต์ลักชัวรีแบรนด์ในไทย คุมราคารถเท่ากันทุกเจ้า ผ่านสต๊อกรถคลังกลาง เทิร์นดีลเลอร์จากพ่อค้า สู่รีเทล พาร์ตเนอร์ เริ่มไตรมาส 1/2567

 รถยนต์ลักชัวรีตระกูลเมอร์เซเดส-อีคิว EQ (ไฟฟ้า 100%) ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ที่ทำตลาดอยู่ในไทย ตามเป้าให้มีสัดส่วนรถยนต์ EQ ถึง 50% ภายใน 5 ปีหลังจากนี้

เปิดตัวแล้วมีอยู่ 2 รุ่น

EQS 500 4MATIC AMG Premium (ประกอบในไทย 100%)

EQB 250 AMG Line (นำเข้า CBU)

มร. มาร์ทิน ชเวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า วันนี้ (26 ก.ย. 66) บริษัทเปิดตัวรถยนต์ตระกูล EQ เพิ่ม 2 รุ่น EQE 350 4MATIC SUV AMG Dynamic ซีดานเอสยูวี ราคาเริ่มต้น 5.65 ลบ.

 

EQE 350 4MATIC SUV

ขุมกำลัง แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน 89 kWh วิ่งไกลสุด 558 กม. ต่อการชาร์จเต็มหนึ่งครั้ง ตามมาตรฐาน WLTP ชาร์จเร็ว (DC Charge) สูงสุด 170 kWh จาก 10-80% ใน 31 นาที และชาร์จธรรมดา (AC Charge) สูงสุด 11 kWh จาก 0-100% ใน 9.30 ชม.

ขับเคลื่อน 4 ล้อ All-Wheel Drive ไฟฟ้า 100% จากมอเตอร์ไฟฟ้าคู่ แรงม้ารวมสูงสุด 292 แรงม้า อัตราเร่งจาก 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ภายใน 6.6 วินาที ความเร็วสูงสุด 210 กิโลเมตร/ชั่วโมง

Mercedes-AMG EQE 53 4MATIC+ ซีดานสมรรถนะสูง ภายใต้แบรนด์เมอร์เซเดส-เอเอ็มจี ครั้งแรกในไทย ราคาเริ่มต้น 5.95 ลบ.

 

AMG EQE 53 4MATIC+

ขุมกำลัง แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน (Li-Ion) 90.6 kWh วิ่งไกลสุด 526 กม. ต่อการชาร์จเต็มหนึ่งครั้ง ตามมาตรฐาน WLTP ชาร์จเร็ว (DC Charge) สูงสุด 170 kWh จาก 0-80% ใน 32 นาที และชาร์จธรรมดา สูงสุด 22 kWh จาก 0-100% ใน 4.45 ชม.

ขับเคลื่อน AMG Performance 4MATIC+ แบบ all-wheel drive ปรับการส่งกำลังของมอเตอร์คู่ได้ตามต้องการ กำลังสูงสุด 625 แรงม้า อัตราเร่งจาก 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ภายใน 3.5 วินาที ความเร็วสูงสุด 220 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ทั้ง 2 รุ่นเปิดตัวใหม่ นำเข้า CBU พร้อมให้จองตั้งแต่วันนี้ และเริ่มส่งมอบรถได้ภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า

ภายในงานบริษัทยังได้เปิดตัวบิสิเนสใหม่ Retail of the Future ชูโมเดล D2C สร้างความโปร่งใสของราคาและข้อเสนอจากดีลเลอร์แก่ผู้บริโภค ที่ต้องเท่าเทียมกันทุกแห่ง ภายใต้มาตรฐานของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย

 

มร. มาร์ทิน

ส่วนของดีลเลอร์ก็จะได้ผลประโยชน์ตรงที่ไม่ต้องแบกรับภาระด้านการจัดการคลังสินค้าและสต๊อกรถยนต์ เพราะรถจะถูกนำส่งมาจากคลังสินค้ากลางของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย และดีลเลอร์จะได้ค่าคอมมิชชั่น รวมถึงโบนัสตามยอดขายที่ทำได้เช่นเดิม

โดยดีลเลอร์จะเปลี่ยนจากพ่อค้าคนกลางมาเป็นรีเทลพาร์ตเนอร์ซึ่งมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในขั้นตอนเซอร์วิสลูกค้า ที่ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งเสริมเครือข่ายการค้าปลีกของแบรนด์ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ได้อย่างไร้รอยต่อ

ส่วนการทำงานเพื่อให้บิสิเนสโมเดลดังกล่าวเกิดขึ้นได้จริง มร. มาร์ทิน กล่าวว่า Retail of the Future เป็นโมเดลที่บริษัทแม่ประสบความสำเร็จในการทำตลาดมาแล้วในหลายภูมิภาค อาทิ เยอรมนี (บริษัทแม่), สหราชอาณาจักร, ออสเตรเลีย, อินเดีย, แอฟริกาใต้, มาเลเซีย

ตลอดจนการที่โมเดลนี้เกิดประโยชน์กับทั้ง ผู้บริโภค ดีลเลอร์ และบริษัทซึ่งคาดว่าจะมีการรับรู้ยอดขายโดยตรงเพิ่มขึ้น เชื่อว่าหลังจากเริ่มทำความเข้าใจและปรับรูปแบบการทำงานกับดีลเลอร์ให้อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกัน อาทิ ราคาขาย แคมเปญการตลาด และปรับการทำงานที่จะจัดระเบียบข้อมูลผ่านระบบไอทีทั้งหมด ตลอดช่วงเวลาที่เหลือของปี 2566 ก่อนเริ่มใช้บิสิเนสโมเดลนี้ได้อย่างราบรื่นตั้งแต่ไตรมาส 1/2567

อนึ่ง ปัจจุบันบริษัทมีดีลเลอร์และศูนย์บริการหลังการขายทั่วไทย กว่า 30 แห่ง ตอนนี้อยู่ระหว่างเจรจา และเปลี่ยนถ่ายการดำเนินงานตามแผน Retail of the Future

น่าสนใจว่าโมเดลดังกล่าวจากแบรนด์ระดับทอปรายนี้จะส่งผลกระทบต่อตลาดรถยนต์ลักชัวรีแบรนด์ในไทยหลังจากนี้อย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online