เกมต่อยอดธุรกิจของไลน์บีเคเกิดขึ้นอีกครั้ง
หลังจากที่ไลน์บีเคเปิดตัวให้บริการมาตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2563 ในฐานะโซเชียลแบงกิ้งที่ให้บริการทางการเงินผ่านแพลตฟอร์มไลน์
ผ่านบัญชีเงินฝาก เงินออม บัตรเดบิต และสินเชื่อส่วนบุคคล
ซึ่งที่ผ่านมาไลน์บีเคมีการเติบโตด้านยอดผู้ใช้
กรกฎาคม 2565 มีลูกค้ารวม 4.7 ล้านราย
กุมภาพันธ์ 2566 มีลูกค้ารวม 5.3 ล้านราย
กันยายน 2566 มีลูกค้ารวม 6 ล้านราย
และมีรายได้หลักจากดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคล ที่เน้นกลุ่มเป้าหมายที่มีข้อจำกัดด้านการขอสินเชื่อจากธนาคาร หรือต้องการความรวดเร็วในการอนุมัติสินเชื่อเพื่อนำเงินมาเสริมสภาพคล่อง
ในปัจจุบันไลน์มีการอนุมัติสินเชื่อเฉลี่ย 300 ล้านบาทต่อเดือน และมีพอร์ตสินเชื่อรวม 18,000 ล้านบาท
ซึ่งรายได้หลักจากดอกเบี้ยสินเชื่อจะต้องแลกมากับความเสี่ยงของหนี้เสีย หรือ NPL (Non-performing Loan) ที่เกิดจากลูกหนี้ที่เข้ามาใช้บริการด้วยเช่นกัน
เมื่อดูที่รายได้ของไลน์บีเคย้อนหลังจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า
ในปี 2563 ไลน์บีเคมีรายได้รวม 49.15 ล้านบาท ขาดทุน 723.37 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้รวม 1,981.36 ล้านบาท ขาดทุน 1,954.82 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้รวม 4,118.92 ล้านบาท ขาดทุน 1,859.49 ล้านบาท
ซึ่งภาวะขาดทุนนี้ส่วนหนึ่งมาจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ค่าการตลาด และอื่น ๆ
แม้จะมีรายได้เติบโตแต่ความท้าทายของไลน์บีเค คือ การลดการขาดทุน และสร้างผลกำไรให้เป็นบวก ไปพร้อม ๆ กับการขยายบริการใหม่ ๆ ที่สามารถสร้างรายได้และเรียนรู้ดาต้าเบสของผู้ใช้บริการเพื่อนำมาเป็นข้อมูลวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้าด้านต่าง ๆ ให้มีมิติมากขึ้น
และเชื่อว่าเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ไลน์บีเคขยายธุรกิจตัวเองสู่โบรกเกอร์ประกัน ด้วยการจดทะเบียนในชื่อบริษัท กสิกร ไลน์ อินชัวรันส์ โบรกเกอร์ ในเดือนพฤษภาคม 2565 ทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 5 ล้านบาท
พร้อมกับจับมือกับเมืองไทยประกันชีวิต เป็นพาร์ตเนอร์รายแรกที่ให้บริการซื้อประกันผ่านไลน์บีเค แถลงข่าวเปิดตัวอย่างเป็นทางการ 26 กันยายน 2566
ประกันที่ไลน์บีเคร่วมกับเมืองไทยประกันชีวิต เริ่มต้นเป็นประกันในรูปแบบประกันสุขภาพ 5 ผลิตภัณฑ์ที่ดีไซน์แพ็กเกจขึ้นมาใหม่จากดาต้าเบสที่มีอยู่ของไลน์บีเคให้มีขนาดกรมธรรม์ที่เล็กลง และเข้าใจง่าย เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าไลน์บีเค ที่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อไม่สูงมาก
สามารถซื้อได้ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ง่าย 24 ชั่วโมง ไม่ซับซ้อน
การเลือกประกันสุขภาพเป็นประกันแรกผ่านไลน์บีเค มาจากการมองว่าประกันสุขภาพเป็นประกันที่ใกล้ตัวผู้บริโภค ที่สามารถซื้อต่อยอดบริการสุขภาพพื้นฐานที่มีอยู่ได้
โดยประกันสุขภาพที่ขายเป็นประกันพ่วงกับประกันหลักในวงเงินขั้นต่ำ 50,000 บาท เนื่องจากประกันสุขภาพเป็นประกันเสริมที่ไม่สามารถขายเดี่ยวได้
การร่วมมือกันระหว่างไลน์บีเคกับเมืองไทยประกันชีวิต ในมุมของไลน์บีเค นอกเหนือจากการหารายได้ใหม่ในธุรกิจโบรกเกอร์ ในช่วงเริ่มต้นยังเป็นการเก็บดาต้าเบสของผู้ทำประกันและผู้สนใจ
ดาต้าเบสเหล่านี้จะกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ให้ไลน์บีเค รู้จักลูกค้าในมิติประกันชีวิต ที่สามารถนำมาวิเคราะห์ให้บริการในรูปแบบประกันอื่น ๆ เช่น ประกันที่มีแพ็กเกจราคาสูงขึ้น ขยายสู่ประกันภัย และร่วมมือกับบริษัทประกันอื่น ๆ
รวมถึงบริการที่นอกเหนือจากประกันได้
ในช่วงเริ่มต้นของการเป็นโบรกเกอร์ขายประกันสุขภาพจากเมืองไทยประกันชีวิต ธนา โพธิกำจร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด เจ้าของไลน์บีเคคาดหวังว่าจะมีลูกค้าเข้ามาดูแพ็กเกจกรมธรรม์ที่เสนอขาย 10% ของลูกค้าไลน์บีเคทั้งหมด
และรองลงมาคือดึงดูดลูกค้าใหม่เข้ามาเป็นลูกค้าไลน์บีเคมากขึ้นอีกทางหนึ่ง
ในส่วนของเมืองไทยประกันชีวิต เป็นการขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มลูกค้าที่ไม่มีโอกาสในการเข้าถึงประกันในรูปแบบปกติ
เพราะลูกค้าในธุรกิจประกันชีวิตจะเป็นลูกค้าระดับ Middle Income หรือชนชั้นกลางขึ้นไป
ส่วนประกันที่ขายผ่านไลน์บีเค เจาะกลุ่มฐานลูกค้าไลน์บีเคที่มีกำลังซื้อต่ำลงมา
ประกันสุขภาพที่ขายผ่านไลน์บีเคเป็นประกันราคาไม่สูง เป็นตลาดที่แทบไม่มีคู่แข่งจากต้นทุนในการให้บริการที่สูง
แต่เมืองไทยประกันชีวิตทำแพ็กเกจในรูปแบบนี้ได้ผ่านระบบดิจิทัลของไลน์บีเคที่สามารถลดต้นทุน
นอกจากนี้ ไลน์บีเคยังใช้พลังของแอปฯ ไลน์ที่มีผู้ใช้บริการ 50 ล้านรายในการสร้างการรับรู้และ Engage ผู้สนใจเข้ามาศึกษาแพ็กเกจก่อนตัดสินใจซื้อกรมธรรม์ที่ต้องการกลับไป
ทั้งนี้ สำหรับตลาดประกันชีวิตในปัจจุบันยังถือเป็นโอกาสในการเติบโตได้ เพราะในปัจจุบันประเทศไทยมีสัดส่วนกรมธรรม์เพียง 38% เมื่อเทียบกับประชากรทั้งประเทศ
และครึ่งปีแรก 2566 ที่ผ่านมาเมืองไทยประกันชีวิตมีเบี้ยประกันรับรวม 35,765.38 ล้านบาท ด้วยส่วนแบ่งตลาด 11.92 % เป็นอันดับสี่ในตลาด รองจาก เอไอเอ ที่มีส่วนแบ่งตลาด 24.03%, เอฟดับบลิวดี 15.95%, ไทยประกันชีวิต 13.12%
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ