การพัฒนาประเทศจนก้าวหน้าของเกาหลีใต้ และเมื่อเกิดสะดุดจากวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียยุค 90 ก็ปรับแผนหันไปส่งเสริมอุตสาหกรรมบันเทิงแล้วส่งออกไปเพื่อโปรโมตประเทศและจูงใจให้ต่างชาติซื้อสินค้าแบรนด์เกาหลีใต้

จนเงินไหลกลับเข้าประเทศ ผ่านหนัง ซีรีส์ และวง K-pop ไปจนถึงสินค้าเทคโนโลยีต่าง ๆ มาช่วยปลุกเศรษฐกิจ อันเป็นต้นแบบของ Soft Power ยุคใหม่ เป็นความสำเร็จที่หลายประเทศอยากเดินรอยตาม

อย่างไรก็ตาม แม้ผงาดขึ้นมาเป็นประเทศพัฒนาแล้ว แต่เกาหลีใต้ก็เผชิญวิกฤตประชากรอย่างรุนแรง เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องแก้กันทั้งระบบ

และมีประเด็นใหม่ผุดขึ้นมาเรื่อย ๆ ให้ผู้ที่สนใจเรื่องประเทศนี้และคนทั่วโลกได้ติดตามอยู่ตลอด ไล่จากประเด็นใหญ่สุดอย่าง อัตราเกิดต่ำสุดในโลก ประชากรก็อายุยืนมาก

และกลุ่ม Bihon ที่เลือกเป็นโสดเรียกร้องสิทธิกับผลประโยชน์ให้ไม่น้อยหน้าคู่เลือกแต่งงานมีครอบครัว

รวมไปถึงเรื่องย้อนแย้งในการเลี้ยงดูลูก อย่างร้านห้ามเด็กเล็กเข้าที่เพิ่มขึ้น และประเด็นเกี่ยวเนื่องระหว่างเด็กกับแวดวงการศึกษา อย่างครูประถมฆ่าตัวตายปลุกครูรวมตัวประท้วงให้รัฐบาลแก้กฎหมายคุ้มครอง เพื่อกันไม่ให้ผู้ปกครองใช้กฎหมายคุกคามเด็กเล่นงานจนต้องตกงานอีก

ล่าสุดปัญหาที่ซ่อนอยู่ในวิกฤตประชากรเกาหลีใต้ก็งอกขึ้นมาอีกประเด็นจนรัฐบาลของประธานาธิบดี ยูน ซอกยอลนิ่งเฉยไม่ได้อีกต่อไป เพราะถ้าปล่อยไว้อาจทำให้ระบบการดูแลสุขภาพของประชากรวัยฟันน้ำนมล่มได้เลยทีเดียว

ปัญหาที่ว่าคือการขาดแคลนกุมารแพทย์ โดยแพทย์สาขานี้ของเกาหลีใต้ลดลงต่อเนื่องทั้งเรื่องจำนวนและเงินเดือน

ตามข้อมูลของสมาคมการแพทย์เกาหลีใต้ระบุว่า เมื่อปี 2010 เงินเดือนของกุมารแพทย์อยู่ที่เฉลี่ยปีละ 130 ล้านวอน (ราว 3.5 ล้านบาท) ซึ่งถือว่าน้อยหากเทียบกับแพทย์สาขาอื่น โดยต่อมาในปี 2020 จำนวนแพทย์ที่ลดลงตามอัตราการเกิดฉุดให้จำนวนแพทย์สาขานี้ลดลง จนน้อยกว่าจักษุแพทย์ที่เงินเดือนเฉลี่ยต่อปีสูงสุดถึง 4 เท่า

ต่อมาในปี 2022 ท่ามกลางวิกฤตประชากรเกาหลีใต้ที่เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก หลังจำนวนเด็กเกิดใหม่ตลอดปีลดลงไปอยู่ที่เพียง 249,000 คน ปัญหาวงการกุมารแพทย์ขาดตลาดก็รุนแรงขึ้น

คลินิกกุมารแพทย์และโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านนี้ ลดลงเหลือเพียง 456 แห่งทั่วประเทศ ลงมา 12.5% จากปี 2017 สวนทางกับคลินิกและหน่วยงานการแพทย์ด้านจิตเวชที่เพิ่มขึ้นถึง 76.8% ตามกรอบเวลาเดียวกัน

มาปีนี้ (2023) ข่าวเชิงลบที่ย้ำว่าปัญหากุมารแพทย์ขาดตลาดเข้าขั้นวิกฤต ก็มีออกต่อเนื่อง โดยพฤษภาคมมีเด็กชายวัยเพียง 5 ขวบที่โรคทางเดินหายใจกำเริบ ต้องเสียชีวิตหลังเตียงโรงพยาบาลเด็กเต็มและกุมารแพทย์ขาดแคลน

ถัดมาเพียงเดือนเดียวก็มีข้อมูลตีแผ่วิกฤตกุมารแพทย์ออกมาอีก โดยสื่อเกาหลีใต้และสื่อตะวันตกที่รายงานอิงจากสื่อเกาหลีใต้อีกต่อหนึ่งรายงานว่า ค่าตรวจรักษาของกุมารแพทย์เกาหลีใต้ต่อคนไข้หนึ่งคนอยู่ที่เพียง 10 ดอลลาร์ (ราว 362 บาท)

เทียบไม่ได้เลยกับ 208 ดอลลาร์ (ราว 7,500 บาท) ต่อชั่วโมงของกุมารแพทย์ในสหรัฐฯ และ 335 ดอลลาร์ (ราว 12,100 บาท) ตามมาตรฐานของออสเตรเลีย

ส่วนพ่อแม่ชาวเกาหลีใต้ก็ต้องทำใจกับการไปนั่งรอตรวจรักษานาน ๆ ในโรงพยาบาลหากลูกป่วยขึ้นมา

ขณะที่ประธานสมาคมกุมารแพทย์เกาหลีใต้เผยว่า ค่าตรวจและเงินเดือนกุมารแพทย์เกาหลีใต้ไม่ขึ้นมาแล้ว 30 ปี ซ้ำร้ายยังมีข่าวออกมาอีกว่า มีกุมารแพทย์ใหม่ไปประจำโรงพยาบาลทั่วประเทศเพียง 33 คน ต่ำมากจาก 199 คนที่ต้องการ

สวนทางกับแพทย์ด้านผิวและความงามที่มีแต่จะเพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดศัลยกรรมเสริมความงาม

ปธน. ยุน ซอกยอล 

จากสถานการณ์ทั้งหมด รัฐบาลเกาหลีใต้จึงนิ่งเฉยไม่ได้อีกต่อไป โดยประกาศทุ่มงบช่วยเหลือโรงพยาบาลที่มีแผนกกุมารแพทย์ เพิ่มเงินเดือนให้กุมารแพทย์ และจูงใจให้นักศึกษาแพทย์ผ่านทุนเรียนเพื่อผลิตกุมารแพทย์ออกมาให้มากขึ้น

ด้านสมาคมกุมารแพทย์เกาหลีใต้แม้ยินดีกับความเคลื่อนไหวดังกล่าวจากรัฐบาล ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 3 ของปี แต่ก็ยังเรียกร้องให้ออกมาตรการช่วยเหลือต่อเนื่องและต้องยกเครื่องระบบดูแลสุขภาพเด็กให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

รมช. ปาร์ก มินซู

ฝ่าย ปาร์ก มินซู รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสุขภาพและสวัสดิการ ยอมรับว่า นี่เป็นเพียงมาตรการระยะสั้นและรับปากว่ารัฐบาลจะเดินหน้าแก้ไขปัญหากุมารแพทย์ขาดตลาดต่อไป/reuters, koreatimes, koreaherald



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online