เพียงไม่ถึงหนึ่งชั่วอายุคนเกาหลีใต้ก็พัฒนาขึ้นมาเป็นประเทศชั้นนำของเอเชีย และมีความสำเร็จในการขยายอิทธิพลผ่านอำนาจอ่อน (Soft power) จนเป็นต้นแบบของโลก ณ ปัจจุบัน แต่เกาหลีใต้ก็ยังมีปัญหาต้องแก้ไข
หนึ่งเรื่องที่เห็นชัดจนเป็นข่าวไปทั่วโลกคือ อัตราการเกิดที่ต่ำสุดในโลก โดยปี 2022 มีเด็กเกิดใหม่เพียง 249,000 คน ลดลง 4.4% จากปี 2021 พร้อมกันนี้คนโสดและประชากรสูงวัยก็มีมาก
ในส่วนครอบครัวเกาหลีใต้ในกลุ่มที่เลือกมีลูกก็ยังเจอปัญหาอีก เช่น ร้านอาหารห้ามเด็กเข้า (No kids zone) ที่เพิ่มขึ้น จนกลายเป็นความย้อนแย้ง เพราะทั้งที่มีลูกน้อยแต่สถานที่ที่สามารถพาลูกไปได้กลับลดลง
อีกเรื่องที่เป็นปัญหาของสังคมเกาหลีใต้และคนที่สนใจเรื่องเกาหลีใต้ก็ทราบจากซีรีส์คือ การทุ่มเทด้านการศึกษา โดยพ่อแม่เกาหลีใต้ต่างพร้อมทุ่มไม่อั้น เพื่อผลักดันให้ลูกๆ สอบติดมหาวิทยาลัยชั้นนำ
ท่ามกลางรายงานว่า ปี 2022 พ่อแม่เกาหลีใต้ทั้งประเทศ ทุ่มเงินถึง 20,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 720,000 ล้านบาท) จ่ายค่าเรียนในโรงเรียนกวดวิชา
มาปีนี้เรื่องราวในแวดวงการศึกษาเกาหลีใต้เป็นข่าวใหญ่เขย่าประเทศอีกครั้ง โดยในช่วงกรกฎาคม ครูประถมวัย 23 ปี ฆ่าตัวตาย หลังสืบเรื่องราวไปก็พบว่าเกิดจากความเครียดกลัวจะถูกพ่อแม่เด็กฟ้องร้องเอาผิดตามกฎหมายคุ้มครองเด็กจนต้องตกงาน
ไม่กี่วันต่อมาก็มีข่าวครูอีกคนฆ่าตัวตายจากเหตุผลเดียวกัน โดยสองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นติด ๆ กันนี้ ทำให้ปัญหาครูโดนผู้ปกครองคุกคามโดยอ้างกฎหมายคุ้มครองเด็กถูกนำมากล่าวถึงในวงกว้างอีกครั้ง
แน่นอนว่าบรรดาครูที่อึดอัดกับปัญหาหรือเคยตกเป็นเหยื่อ ก็เริ่มออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อโซเชียล เพราะครูที่เสียชีวิตสองคนนี้ทำให้จำนวนครูที่เครียดจัดจนฆ่าตัวตายตั้งแต่ปี 2018 ทะลุ 100 คนไปแล้ว
การฆ่าตัวตายของครูประถมสองครั้งล่าสุดยังได้ปลุกให้ครูเกาหลีใต้นับแสนคนหยุดสอนและไปรวมตัวประท้วงกดดันให้กระทรวงศึกษาธิการในรัฐบาลของประธานาธิบดี ยุน ซอกยอล แก้กฎหมายที่เกี่ยวกับครู
ประธานาธิบดี ยุน ซอกยอล
ต้นเหตุของปัญหาครูฆ่าตัวตายจากความเครียด เพราะถูกพ่อแม่ใช้กฎหมายคุ้มครองเด็กเล่นงาน ต้องย้อนไปเมื่อปี 2014 ในยุคอดีตประธานาธิบดี ปาร์ก กึนเฮ ที่มีการออกหมายคุ้มครองเด็ก เพื่อป้องกันการล่วงละเมิด
อดีตประธานาธิบดี ปาร์ก กึนเฮ
ทว่ากฎหมายฉบับนี้มีผลตามมา โดยครูแทบจะลงโทษหรือดุด่าว่ากล่าวเด็กไม่ได้ และหากพ่อแม่ไม่พอใจก็สามารถใช้กฎหมายฉบับนี้ฟ้องร้องครูได้ ปีเดียวกันกับที่ออกกฎหมายนั่นเองก็เริ่มมีครูถูกไล่ออก
ถัดจากนั้นปัญหาของครูชาวเกาหลีใต้จากกฎหมายปี 2014 จนเครียดและต้องจบชีวิตตัวเองก็รุนแรงขึ้นอีก เพราะทัศนคติต่อครูของพ่อแม่ชาวเกาหลีใต้เปลี่ยนไป
การที่พ่อแม่ชาวเกาหลีใต้ทุ่มเงินส่งลูกเรียนโรงเรียนกวดวิชา พวกเขาจึงมองครูทุกคนเป็นเหมือนพนักงานทำงานบริการ ที่ต้องทำงานให้เสร็จคุ้มเงินที่จ่ายไป และยังสามารถสั่งได้
ตรงข้ามกับในอดีตที่ครูได้รับความเคารพและยังสามารถว่ากล่าวตักเตือนหรือลงโทษนักเรียนเมื่อทำผิดกฎระเบียบได้
ความเครียดของครูเพราะต้องเจอกับเด็กนักเรียนที่แตะไม่ได้ ส่วนพ่อแม่ก็พร้อมใช้กฎหมายคุ้มครองเด็กเป็นเครื่องมือเล่นงานหากครูทำให้ลูกไม่สบายใจ และโรงเรียนก็เลือกรักษาชื่อเสียงแทนที่จะปกป้องครูในสังกัด ทำให้ความเครียดของครูเพิ่มขึ้น
ผลสำรวจปี 2023 ระบุว่ากลุ่มตัวอย่างครูเพียง 23% เท่านั้นที่พอใจกับหน้าที่การงาน ลดลงอย่างมากจาก 68% เมื่อปี 2007
กลับมาที่การประท้วงของครูเกาหลีใต้ ซึ่งรัฐบาลเกาหลีใต้รับรู้ได้ถึงแรงกดดัน โดยที่สุด เมื่อ 21 กันยายนที่ผ่านมา ได้มีการแก้กฎหมายครู ซึ่งรัฐสภาลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ผ่านเพื่อเปิดทางสู่การบังคับใช้ต่อไป
กฎหมายฉบับนี้จะคุ้มครองสิทธิของครู โดยครูจะไม่โดนพักงานอัตโนมัติหากถูกร้องเรียนและอยู่ระหว่างตรวจสอบกรณีคุกคามเด็กนักเรียน
พร้อมกันนี้ยังห้ามไม่ให้โรงเรียนใช้กฎหมายลงโทษครูจนกว่าเรื่องจะกระจ่าง มีกองทุนช่วยเหลือครูที่อยู่ระหว่างสู้คดี และเปิดทางให้ครูสามารถใช้มาตรการปรามพฤติกรรมเด็กได้ตามสมควรอีกด้วย
ด้านศึกษาธิการในกรุงโซลก็รับลูกด้วยการเตรียมใช้เทคโนโลยี Chatbot รับเรื่องร้องเรียน เพื่อคัดกรองการร้องเรียนจากผู้ปกครองและดำเนินการตรวจสอบเบื้องต้นก่อน
จากนี้มีแนวโน้มว่าอาจเกิดประเด็นอื่น ๆ แตกออกมาอีก เพราะเกาหลีใต้เป็นประเทศที่แข่งขันด้านการศึกษาสูงมาก จนทำให้ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาขยายตัวไม่หยุด
ขณะที่บรรดาพ่อแม่ก็พร้อมทุ่มไม่อั้น เพราะการส่งลูกเข้าเรียนมหาวิทยาลัยชั้นนำได้ ถือเป็นหนึ่งในหลักฐานยืนยันความสำเร็จของตัวเองและเกียรติประวัติครอบครัวด้วย ดังที่สะท้อนผ่านซีรีส์ Sky Castle
ด้านรัฐบาลเกาหลีใต้ชุดปัจจุบันได้เดินหน้าแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาไปบ้างแล้ว โดยเมื่อช่วงกลางปี 2023 ก่อนหน้าเกิดเหตุครูฆ่าตัวตายไม่นาน รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ลดความยากของคำถามในการสอบวัดความรู้เข้ามหาวิทยาลัย (CSAT) ลง เพื่อลดความเครียดของนักเรียน ภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัวและความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา/theguardian, cnn, oecd, wikipedia, bbc
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ