หลังพัฒนาขึ้นสู่ประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าลำดับต้น ๆ ของโลกทั้งด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมบันเทิง ประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเกาหลีใต้ก็ทวีความสนใจ และน่าติดตาม

ซึ่งความสำเร็จแบบก้าวกระโดดช่วงไม่ถึงหนึ่งอายุคนเช่นนี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากประชาชนไม่เป็นฟันเฟืองช่วยผลักดันและขับเคลื่อน

นี่จึงทำให้เมื่อมองผ่านเลนส์ด้านทรัพยากรมนุษย์แล้ว เกาหลีใต้ เป็นประเทศประชากรเปี่ยมคุณภาพ เต็มไปด้วยการทุ่มเท และเป็นองค์ประกอบสำคัญในการยกระดับประเทศ

บัน คู-มูน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติชาวเกาหลีใต้ 

พร้อมกันนี้ยังได้รับความไว้วางใจในองค์กรสำคัญระดับโลก อย่างสหประชาชาติ และตำรวจสากล ที่ก็เคยมีเลขาธิการและผู้อำนวยการเป็นชาวเกาหลีใต้

รวมไปถึงการที่ โซ ซุง-ฮวาน ซีอีโอของ Hyundai Mobic ได้รับเลือกให้เป็นประธานองค์การมาตรฐานคุณภาพสากล (ISO) คนต่อไป และจะไปเริ่มงานในปี 2024 นี้

ทว่าในขณะเดียวกัน ลึกลงไปเกาหลีใต้กลับมีปัญหามากมายด้านประชากรในทุกช่วงวัย จนกลายเป็นประเด็นระดับชาติที่รัฐบาลหลายยุคหลายสมัยยังแก้กันไม่ตก และกระทบสืบเนื่องให้เกิดปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจ

เริ่มตั้งแต่วัยเด็ก โดยเมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา เกาหลีใต้มีเด็กเกิดใหม่เพียง 249,000 คน ลดลง 4.4% จากปี 2021 และอัตราการให้กำเนิดบุตร ในปี 2022 อยู่ที่ เด็ก 78 คนต่อสตรี 100 คน ลดลงจากเด็ก 81 คนต่อสตรี 100 คนของปี 2021

อย่างไรก็ตาม เด็กเกิดใหม่เหล่านี้ก็ได้รับการเอาใจใส่ดูแลอย่างมาก ยืนยันได้จากตลาดแฟชั่นเด็กเกาหลีใต้ที่โตสวนกระแสเศรษฐกิจ

ขยับมาที่วัยรุ่น โดยสำนักบริการสถิติแห่งชาติเกาหลีใต้ (KOSIS) ระบุว่า เมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประชากรอายุระหว่าง 15-29 ปี หรือวัยรุ่นไปจนถึงวัยทำงาน 497,000 คน ไม่มีความกระตือรือร้นทางเศรษฐกิจ และขอพักจากทำงานหรือหางาน

นี่ถือเป็นตัวเลขที่สูงสุดในรอบ 20 ปี และยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จาก 389,000 คนในปี 2019 และ 449,000 คนในปี 2021 อีกด้วย ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ก็เพิ่งสะท้อนให้เห็นกันผ่านซีรีส์เรื่อง Summer Strike

และในภาพใหญ่ยังแสดงให้เห็นว่า วัยรุ่นหรือคน Gen Z ในเกาหลีใต้ก็ไม่ต่างจากคนวัยเดียวกันทั่วโลก ที่เครียดจากวิกฤตซ้อนวิกฤต หรือ Permacrisis อีกด้วย

การหมดไฟของวัยรุ่นเกาหลีใต้มาจากความเครียดจากการแข่งขันด้านการเรียนและการทำงาน ซึ่งมากขึ้นอีกหลายเท่าในยุคนี้ที่คนทั่วโลกต่างก็กำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจและปัญหาข้าวยากหมากแพง ซึ่งเฉพาะในเกาหลีใต้กระทบมาถึง กิมจิและผักเครื่องเคียงตามร้านอาหารแล้ว

ปัญหาด้านประชากรของเกาหลีใต้ยังลามมาถึงวัยทำงาน และการแต่งงาน โดย KOSIS ระบุว่า เมื่อปี 2020 มีคนวัย 30 ปีขึ้นไป 42.5% ที่ขอครองตัวเป็นโสด (Bihon) เพิ่มขึ้นจาก 13.3% ของปี 2010

จนทำให้บริษัทต่าง ๆ ต้องให้สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ ใกล้เคียงกับพนักงานกลุ่มที่ประกาศแต่งงานไปมีครอบครัว เพื่อรั้งตัวไว้อยู่กับองค์กรต่อไป เพราะ Bihon กลุ่มนี้ทำงานมาได้พักใหญ่ และขึ้นเป็นผู้บริหารระดับกลางหรือหัวหน้าแล้ว

สถานการณ์ของกลุ่ม Bihon ส่งผลให้ตลาดแรงงานเกาหลีใต้ตึงตัว เพราะพนักงานรุ่นพี่ไม่อยากไปหางานใหม่ หลังได้สวัสดิการดี ซึ่งหากมองอีกมุมหนึ่งก็ไม่ต่างจากการถูกเอาอกเอาใจ และเป็นการลดโอกาสคนวัยเริ่มต้นทำงาน (First jobber) ในการได้งาน

ขณะเดียวกันการเพิ่มขึ้นของกลุ่ม Bihon ยังทำให้ปัญหาการแต่งงานช้ามีมากขึ้น และปัญหาการขาดแคลนประชากรเกิดใหม่ ที่จะเป็นอนาคตของตลาดแรงงานในประเทศ ทวีความรุนแรงขึ้นอีกด้วย

ปัญหาประชากรของเกาหลีใต้ยังไม่หมดแค่นั้น โดยเกาหลีใต้ เป็นประเทศที่ประชากรวัยเกษียณอยู่มากถึง 18% ของประชากร ในจำนวนนี้ 3.7 ล้านคนอยู่ในกรุงโซล และพวกเขาก็ขึ้นรถไฟฟรี

การขึ้นรถไฟฟรีของคนชราเกาหลีใต้ในกรุงโซลไม่ใช่เพื่อเดินทางเท่านั้น แต่แสดงให้เห็นว่าสามารถพึ่งพาตนเอง และไปไหนมาไหนได้ด้วยความกระฉับกระเฉง

และมีจำนวนไม่น้อยที่ใช้สวัสดิการนี้ ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยอดีตประธานาธิบดี ชุน ดู-วาน เมื่อกว่า 40 ปีก่อน เพื่อไปส่งของและดอกไม้ จนเมื่อปี 2022 รถไฟใต้ดินกรุงโซลขาดรายได้ถึง 250 ล้านดอลลาร์ (ราว 8,600 ล้านบาท)

และกำลังพยายามหาทางแก้ไขผ่านการขึ้นค่าโดยสาร หรือขยับเกณฑ์อายุใช้บริการฟรี จาก 65 ปีเป็น 70 ปี

ปัญหาประชากรในเกาหลีใต้ที่เริ่มตั้งแต่อัตราการเกิดต่ำ วัยรุ่นหมดไฟ คนโสดมาก และคนสูงวัยมีแต่เพิ่มขึ้น สุมประดังรวมกันจนกลายเป็นวิกฤตที่รัฐบาลหลายชุดพยายามหาทางแก้ไข โดยเฉพาะการกระตุ้นให้แต่งงานและมีบุตรก็ใช้งบไปแล้วมหาศาลตลอดหลายปีที่ผ่านมา

และงบในส่วนนี้ก็กำลังเพิ่มขึ้น โดยปี 2024 เงินช่วยเหลือการเลี้ยงดูบุตรที่คู่แต่งงานได้รับจะเพิ่มเป็น 770 ดอลลาร์ (ราว 26,000 บาท) ต่อเดือน

จากนี้คงต้องติดตามว่ารัฐบาลเกาหลีใต้ชุดนี้หรือชุดต่อ ๆ ไป จะใช้วิธีการใดในการคลายวิกฤตประชากร ท่ามกลางการอุดช่องโหว่ด้วยการเปิดรับชาวต่างชาติให้เข้ามาทำงานมากขึ้น ผ่านการออกวีซ่าง่ายขึ้น

และคาดการณ์ว่าเกาหลีใต้จะเป็นประเทศที่ตลาดหุ่นยนต์ เพื่อทดแทนแรงงานคนในงานบริการโตมากสุดในโลก โดยเมื่อถึง 2027 มูลค่าตลาดในธุรกิจนี้จะอยู่ที่ 140,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 4.9 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจาก 35,240 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.2 ล้านล้านบาท) ของเมื่อปี 2021/ koreatimes

 

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online