สถานการณ์ด้านประชากรของเกาหลีใต้ยังมีประเด็นให้จับตามอง โดยล่าสุดบริษัทในประเทศเริ่มปรับตัวต่อวิกฤตแล้ว หลังยอมรับว่าคงต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ในการแก้ปัญหา
จำนวนบริษัทในเกาหลีใต้ที่หันมาให้ความสำคัญกับ Bihon (บิฮอน) หรือคนที่ครองตัวเป็นโสดโดยสมัครใจมีมากขึ้น ยืนยันได้จากการให้สวัสดิการแบบเดียวกับพนักงานที่กำลังจะแต่งงาน
เมื่อปี 2020 บริษัทที่ปรึกษาการลงทุน NH Investment and Securities เป็นบริษัทแรกของประเทศที่ให้โบนัส 1 เดือนเต็มพร้อมวันหยุดกับพนักงานที่ยังครองตัวเป็นโสดแม้อายุมากแล้ว แบบเดียวกับที่พนักงานที่ประกาศแต่งงานจะได้
จากนั้นก็มีหลายบริษัทที่ทำตาม แม้มีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันอยู่บ้าง โดยมาปีนี้ค่ายโทรคมนาคม LG Uplus ก็เป็นอีกบริษัทที่ใช้แนวทางนี้
ส่วน Lotte ห้างสรรพสินค้าใหญ่ในประเทศก็ให้ไม้ประดับมงคลในบ้านกับกลุ่ม Bihon ใกล้เคียงกับการให้ช่อดอกไม้เพื่อแสดงความยินดีกับพนักงานที่ประกาศแต่งงาน
ความเคลื่อนไหวเหล่านี้มีขึ้นหลังกลุ่ม Bihon รวมตัวกันเรียกร้องขอสวัสดิการท่ามกลางจำนวนคนวัยทำงานที่ยังโสดซึ่งมีแต่จะเพิ่มขึ้น ๆ
ยืนยันได้จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลีใต้เมื่อปี 2020 ที่ว่า คนโสดวัย 30 ปีขึ้นไปเพิ่มมาเป็น 42.5% ของสัดส่วนประชากร ขึ้นมา 13.3% จากปี 2010
และแน่นอนว่าในจำนวนนี้มีผู้บริหารระดับกลางและระดับสูงที่อยู่ในวัย 30 ถึง 40 ปีขึ้นไปที่สำคัญต่อบริษัทรวมอยู่ด้วย ซึ่งคนกลุ่มนี้ยิ่งทวีความจำเป็น เพราะปัจจุบันเกาหลีใต้กำลังเผชิญวิกฤตประชากร อัตราการเกิดต่ำสุดในโลก
จำนวนเด็กเกิดใหม่ปี 2022 อยู่ที่เพียงราว 249,000 คน สวนทางกับจำนวนคนวัยเกษียณต่อสัดส่วนประชากรที่สูงมากและมีแต่จะยิ่งเพิ่มขึ้น จนกลายเป็นปัญหาระดับชาติที่รัฐบาลยังแก้ไม่ตกมาหลายปี
นี่เป็นการแสดงให้เห็นว่า บริษัทเกาหลีใต้ไม่อาจอยู่นิ่งเฉยและไม่อาจรอให้รัฐบาลแก้ไขเรื่องนี้อยู่ฝ่ายเดียว เพราะชาวเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ต่างรู้อยู่แก่ใจว่า ค่าใช้จ่ายงานแต่งงานในยุควิกฤตเศรษฐกิจเช่นปัจจุบันนั้นสูงขึ้นเป็นเท่าตัว
การเลี้ยงดูลูกต้องใช้เงินก้อนใหญ่ขึ้น และบ้านก็ราคาแพงกว่าอดีตอย่างเทียบกันไม่ติด จนคนรุ่นใหม่เลือกที่จะอยู่เป็นโสดกันมากขึ้น
ขณะเดียวกันจำนวน Bihon ที่เพิ่มขึ้นยังมาจากผู้หญิงเกาหลีใต้ไม่อยากแบกรับความเครียดจากการเลี้ยงลูก รับมือกับครอบครัวสามี และเทรนด์ Metoo ที่ต่อต้านการคุกคามทางเพศจากผู้ชายในบริษัทอีกด้วย
ด้านนักวิชาการด้านสังคมศึกษามองว่า นโยบายเพื่อช่วยกลุ่ม Bihon ยังเป็นการย้ำว่ากลุ่ม Bihon สำคัญต่อบริษัท และอาจเป็นการช่วยกระตุ้นพนักงานที่แต่งงานและมีลูกแล้ว ให้มีลูกเพิ่มอีกได้ทางหนึ่งด้วย
ประเด็นที่ต้องติดตามต่อจากนี้ คือความพยายามของรัฐบาลเกาหลีใต้ทั้งในยุคของประธานาธิบดี Yoon Soek-yeol และประธานาธิบดีคนต่อ ๆ ไป ว่าจะคลายวิกฤตประชากร
ประธานาธิบดี Yoon Soek-yeol
และสามารถโน้มน้าวให้นำไปสู่การแต่งงานเพื่อป้อนคนวัยทำงานเข้าสู่ตลาดแรงงานได้มากน้อยแค่ไหน
โดยปีหน้ารัฐบาลจะเพิ่มเงินช่วยเหลือค่าเลี้ยงดูบุตรเป็น 770 ดอลลาร์ (ราว 26,000 บาท) ต่อเดือน แต่ถ้ายังไม่สำเร็จ ในอนาคตอันใกล้เกาหลีใต้อาจเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติได้ไปทำงานในเกาหลีใต้กันมากขึ้น
และในระยะยาวเกาหลีใต้คงจะใช้หุ่นยนต์ทำงานแทนคนมากขึ้น ซึ่งก็มีความเป็นไปได้สูง
ท่ามกลางการรายงานว่า เมื่อถึงปี 2027 มูลค่าตลาดหุ่นยนต์เพื่อใช้ในงานบริการในเกาหลีใต้จะอยู่ที่ 140,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 4.9 ล้านล้านบาท) เพิ่มจาก 35,240 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.2 ล้านล้านบาท) ในปี 2021
และบรรดาบริษัทกลุ่มยักษ์เทคในประเทศ ทั้ง Samsung และ LG รวมไปถึง Hyundai ค่ายรถอันดับ 1 ของประเทศ ต่างก็ทุ่มลงทุนพัฒนาหุ่นยนต์แล้ว
ซึ่งในจำนวนนี้ Hyundai มีแต้มต่อมากสุด เพราะซื้อ Boston Dynamics บริษัทหุ่นยนต์อเมริกันที่ดังจากคลิปวิดีโอหุ่นยนต์ตีลังกาและหุ่นยนต์เจ้าหมาสีเหลืองที่บางประเทศ เช่น สิงคโปร์ ใช้ช่วงโควิด มาไว้ใต้ชายคา ตั้งแต่ปี 2020/nikkei
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ