ต้นแบบความสำเร็จยุคใหม่ของการใช้อำนาจอ่อน (Soft power) เศรษฐกิจที่พัฒนาแบบก้าวกระโดดในเวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วอายุคน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและหัวหอกอุตสาหกรรมบันเทิงเอเชียที่ปักธงในตลาดประเทศตะวันตะวันตกสำเร็จ
เหล่านี้คือคำตอบของคนทั่วโลกเมื่อถึงถามถึงเกาหลีใต้ในปัจจุบัน ทว่าเกาหลีใต้ก็ไม่ต่างจากประเทศอื่น ๆ ที่มีปัญหาแก้ไม่ตกเช่นกัน หนึ่งคือความขัดแย้งของเกาหลีใต้ที่ไม่สามารถไว้วางใจได้ ทำให้การเกณฑ์ทหารยังเป็นเรื่องจำเป็น จนกระทบไปถึงวงการ K-pop
ส่วนอีกหนึ่งคือเรื่องที่เป็นปัญหาที่เพิ่งมีมาไม่กี่ปีแต่ก็เรื้อรังและส่งผลต่อทั้งองคาพยพประเทศ จนกลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก โดยเกาหลีใต้เผชิญวิกฤตประชากรทั้งระบบ
ไม่ว่าจะเป็นประชากรอายุยืนมาก ผู้ที่เลือกอยู่เป็นโสด (ฺBihon) มีมาก ส่วนวัยรุ่นและวัยทำงานก็เครียดจัด จนขอพักจากเรื่องงานและเรื่องเรียน ดังที่ปรากฏอยู่ในซีรีส์เรื่อง Summer Strike
แต่ปัญหาเรื่องประชากรของเกาหลีใต้ที่วิกฤตมากสุดคืออัตราการเกิดต่ำ โดยเมื่อปี 2022 ประเทศต้นกำเนิดของ K-pop มีเด็กเกิดใหม่เพียง 249,000 คน ลดลง 4.4% จากปี 2021
และปี 2022 สตรีเกาหลีใต้ทุก ๆ 100 คนจะให้บุตรเพียง 78 คน ลดลงจาก 81 คนในปี 2021
แม้รัฐบาลเกาหลีใต้ชุดต่างๆ ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหานี้ ยืนยันได้จากตลอด 16 ปีที่ผ่านมาการทุ่มงบแก้ปัญหาไปกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 7 ล้านล้านบาท)
และมีแผนเพิ่มเงินช่วยเหลือเลี้ยงดูบุตรให้คู่แต่งงานใหม่เป็น 770 ดอลลาร์ (ราว 26,000 บาท) ต่อเดือน แต่สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น ซ้ำร้ายยังมีประเด็นใหม่แตกออกมาให้ปวดหัวซึ่งเกี่ยวพันไปถึงเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย
เรื่องที่ว่าคือ ร้านกาแฟ ร้านอาหารและแหล่งท่องเที่ยวห้ามเด็กเข้า (No Kids Zone) ทั่วเกาหลีใต้ปัจจุบันที่เพิ่มขึ้นเป็นหลายร้อยแห่ง เฉพาะเกาะเชจู เมืองเกาะท่องเที่ยวยอดฮิตเมืองเดียวก็มีเกือบร้อยแห่ง
การติดป้าย No Kids Zone ในเกาหลีใต้ เริ่มขึ้นเมื่อปี 2012 หลังข่าวดังที่เด็กเล็กถูกบริกรในร้านทำน้ำซุปหกใส่ลวกหน้า แต่ไม่นานเรื่องพลิกกลายเป็นว่า พ่อแม่คุมเด็กที่ซนมากคนนี้ไม่ได้จนไปวิ่งชนกับพนักงานที่กำลังถือน้ำซุปร้อน ๆ เข้า
2 ปีถัดมาจำนวนร้านแบบ No Kids Zone ก็เพิ่มขึ้น ขณะที่ลูกค้าและสังคมก็ยอมรับได้มากขึ้น ทำให้ร้านอาหารในเกาหลีใต้มีป้ายห้ามแปะอยู่หน้าร้านมากมาย ทั้งห้ามสูบบุหรี่ ห้ามนำสัตว์เลี้ยงเข้ามา และห้ามนำอาหารเข้ามา ซึ่งล่าสุดคือป้ายห้ามนำเด็กเล็กเข้ามานั่นเอง
ปี 2021 ร้านที่ห้ามไม่ให้เด็กเข้าก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป โดยมีผลสำรวจว่าผู้ใหญ่ 7 จาก 10 รับได้กับข้อห้ามนี้ และมี 2 จาก 10 คนเท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย
ท่ามกลางการวิเคราะห์ว่า ส่วนหนึ่งมาจากคนเกาหลีใต้ต่างก็เห็นว่า พ่อแม่ต้องรับผิดชอบดูแลลูก ๆ ให้ดีเมื่อไปยังที่สาธารณะ
เพื่อไม่ให้ไปรบกวนผู้อื่นและการทำธุรกิจของร้านค้าต่าง ๆ ประกอบเกาหลีใต้เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจ และมีธรรมเนียมปฏิบัติเรื่องพื้นที่ส่วนตัว กับระเบียบวินัยอันเข้มงวด โดยใครที่ฝ่าฝืนจะไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม
ทว่าการเพิ่มขึ้นของร้านที่ขึ้นป้าย No Kids Zone กลายเป็นเรื่องย้อนแย้ง เพราะยิ่งไปสร้างความเครียดให้ครอบครัวมีลูกเล็ก ๆ บีบให้ต้องอยู่แต่กับบ้านจนกล่าวได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการไม่อยากแต่งงานหรือถ้าแต่งแล้วก็ไม่อยากมีลูก
การปรับทุกข์ในหมู่พ่อแม่ชาวเกาหลีใต้ด้วยกันและผ่านสื่อโซเชียลเรื่องความลำบากในการพาลูกไปเข้าร้านอาหารหรือร้านค้าจากผลการขึ้นป้าย No Kids Zone กำลังมีเพิ่มขึ้น จนนำไปสู่ประชาชนและนักการเมือง ผลักดันกฎหมายห้ามไม่ให้ร้านค้า ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว ขึ้นป้าย No Kids Zone
แต่เรื่องนี้ต้องติดตามกันต่อไปว่าจะนำไปสู่การบังคับใช้ได้แค่ไหน เพราะรัฐบาลยังไม่ได้แก้ไขเรื่องนี้อย่างจริงจัง ขณะเดียวกันหากสั่งห้ามไม่ให้มี No Kids Zone ก็อาจต้องไปห้ามลูกค้าประเภทอื่น ๆ
เช่น Youtuber กลุ่มชายวัยกลางคน แรปเปอร์ หรืออาจารย์ ด้วยเพราะเจ้าของร้านและสถานที่บางแห่งก็เห็นว่าคนเหล่านี้สร้างความรำคาญและขัดขวางการทำธุรกิจเช่นกัน
ขณะที่ชาวเกาหลีใต้ก็คงต้องปรับทัศนคติเกี่ยวกับเด็ก ๆ และให้อภัยเด็ก ๆ บ้าง หรือมองสมาชิกอายุน้อยสุดของสังคมด้วยสายตาเอ็นดูมากขึ้น เพราะจะเป็นปัจจัยหนุนให้การแต่งงานและมีบุตรเพิ่มขึ้นมา จนที่สุดปัญหาเกิดต่ำลดลงได้/cnn
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ