Gordon Ramsay เมื่อเชฟคนดังใน Masterchef กำลังจะเปิดร้านอาหารที่ไทย สาขาเเรกที่ ดิ เอ็มสเฟียร์ สุขุมวิท

Gordon Ramsay เชฟคนดังฝีปากกล้า ที่พรั่งพรูคำวิจารณ์อันเต็มไปด้วยคำสบถ กับท่าทางฉุนเฉียว จริงจัง ที่ทำผู้เข้าแข่งขันในรายการ Masterchef ถึงกับไปไม่เป็น

แน่นอนว่า เขาไม่ได้มีดีเเค่เป็นเชฟเซเลบ แต่เป็น King of Restaurant กว่า 58 ร้านทั่วโลก มิชลินสตาร์ 17 ดวง และเคยทำอาหารรับรองบุคคลสำคัญของโลกมานับไม่ถ้วน ทั้งเนลสัน แมนเดลา, วลาดิมีร์ ปูติน ตลอดจนโทนี่ แบลร์ และล่าสุดร้านอาหารของเชฟคนดังกำลังจะแลนดิ้งที่ไทยแลนด์

ชายผู้นี้ถือครองหมวกหลายใบ ทั้งเชฟ เจ้าของภัตตาคาร พิธีกรรายการโทรทัศน์ ผู้ดำเนินรายการสารคดี เซเลบริตี้คนดัง ทำให้ตัวเขาถูกประเมินมูลค่าทรัพย์สินสุทธิประมาณ 80 ล้านดอลลาร์

เป็นที่รู้จักในด้านความมุ่งมั่น แน่วแน่ เป็นเลิศทางด้านการรังสรรค์เมนูอาหารที่มีกลิ่นอายระดับโลก หนึ่งในผู้กำหนดเข็มทิศของวงการนักสร้างจานเด็ดครัวโลก

กอร์ดอน แรมซีย์ หนุ่มชาวสกอต ที่มีความทรงจำเฉียดใกล้คำว่าเชฟ ก็ตอนวัยเด็กที่ต้องช่วยเตรียมอาหารสำหรับการพบปะกับครอบครัวในวันหยุด ทำให้เขาเริ่มมีความสนใจในอาหารสกอตและฝรั่งเศสดั้งเดิม  แต่ไม่ได้มุ่งสู่การเป็นพ่อครัวตั้งแต่ต้น

ความฝันแรกของแรมซีย์คือการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ เมื่อยังเด็กเเรมซีย์เล่นฟุตบอลสมาคมให้กับทีมเยาวชนของออกซ์ฟอร์ด ยูไนเต็ด อายุ 15 ปี ก็ได้รับการติดต่อจากกลาสโกว์ เรนเจอร์ส ในพรีเมียร์ลีกสกอต แลนด์ เเต่เมื่อตัวเขาได้รับบาดเจ็บ ความฝันก็ต้องจบลง เบนเข็มสู่เส้นทางอาชีพใหม่

แรมซีย์กลับไปเรียนวิทยาลัยหลักสูตรการจัดการโรงแรม  หลังจากได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพ เขาก็ย้ายไปลอนดอนและเริ่มฝึกฝนทักษะทำอาหาร โดยได้ครูเป็นเชฟระดับปรมาจารย์ของโลกทั้ง Albert Roux, Marco Pierre White, Guy Savoy และ Joël Robuchon

ปี 1993 แรมซีย์กลับมาเป็นหัวหน้าเชฟของ Aubergine ที่ลอนดอน  ภายในสามปีเท่านั้น ก็พาร้านคว้าสองดาว Michelin Guide

ก่อนที่ปี 1998 แรมซีย์จะออกมาเปิดร้านอาหารของตัวเอง ในชื่อร้าน “Gordon Ramsay” ซึ่งภายในสามปีก็ได้ดาวมิชลินมาอีก และเป็นร้านอาหารที่เปิดดำเนินการมายาวนานที่สุดในลอนดอนที่ได้สามดาวมิชลิน อีกทั้งถูกจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในร้านอาหารที่ดีที่สุดในโลก

ถัดจากนั้นเพียงหนึ่งปีก็ลุยเปิดร้านใหม่ชื่อ “Pétrus” เเละได้ดาวมิชลินภายใน 7 เดือน

ปี 2001 เปิดร้าน Gordon Ramsay ที่ร้าน Claridge’s (ปิดในปี 2013) ก็กวาดรางวัลดาวมิชลินอีก ร้านอื่น ๆ ของเเรมซีย์ก็ไม่ว่างเว้นจากดาวมิชลินเช่นกัน เช่น Savoy Grill, Boxwood Café (ปิดปี 2010), Maze และ La Noisette (ปิดปี 2008)

ปี 2001 แรมซีย์เปิดร้านอาหารนานาชาติแห่งแรกชื่อ “Verre” ในดูไบ ก่อนจะเลิกกิจการไปปี 2011

และปี 2008 Gordon Ramsay au Trianon เริ่มให้บริการในญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และแอฟริกาใต้ เเละร้านอีกกว่า 50 แห่ง

นอกเหนือจากร้านอาหารที่ทำเงินหลายล้านดอลลาร์แล้ว แรมซีย์ยังเป็นผู้มีชื่อเสียงในวงการโทรทัศน์ ปี 2004 เขาปรากฏตัวในซีรีส์อังกฤษ “Kitchen Nightmares 

ปี 2010 เขากลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างผ่านรายการฮิตของ Fox อย่าง MasterChef US ตามมาด้วย Hells Kitchen (2005) และ MasterChef Junior (2013)

นอกจากนั้น ยังมีรายการอื่น ๆ ตามมาอีกมาก ได้แก่ Hotel Hell ที่นำสูตรของ Hell’s Kitchen มาใช้กับอุตสาหกรรม Horeca, 24 hours to hell & back รวมถึงรายการในสหราชอาณาจักร ได้แก่ Gordon, GINO และ Fred: Roadtrip, Gordon Behind Bars, Gordon Ramsay: Shark Bait, The F-Word (เล่นคำว่า food และคำสบถสี่ตัวอักษรที่แรมซีย์ชอบพูด), ซีรีส์สารคดีอังกฤษ Gordon on Cocaine (2017) และ Gordon Ramsay: Uncharted รายการทีวีที่พาไปติดตามการเดินทางชิมอาหารทั่วโลกจนเมื่อปี 2016 แรมซีย์ได้เปิดบริษัทโปรดักชั่นของเขาเองชื่อ Studio Ramsay เพื่อพัฒนารายการและรูปแบบสำหรับสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และทรัพย์สินทางดิจิทัล

ไม่เพียงเเค่นั้น เเรมซีย์ยังเคยย่างกรายไปในวงการภาพยนตร์และโฆษณาหลายเรื่อง เช่น Cars 3 (2017), The Simpsons Movie (2007) และ ​​The Hunger Games (2012)

ด้านการเขียนหนังสือ แรมซีย์เขียนหนังสือหลายเล่ม และติดทอปหนังสือขายดีทั่วโลก

เริ่มที่ Passion for Flavour (1996) เป็นตำราอาหารที่ขายดีที่สุด และตีพิมพ์อัตชีวประวัติอีกสองเล่ม ได้แก่ Humble Pie (2006) และ  Roasting In Hell’s Kitchen (2006)

ตลอดจน Trattoria Cooking ของอิตาลี (2001),  India Cookbook  (2012), Every Day Gourmet: Quick And Healthy สูตรอาหารจากทั่วโลก (2015), Playing with Fire (2007), A Guide to Cooking for One Person (1996), Sunday Lunch: Recipes from Favorite Different Countries around The World (1998) Ultimate Home Cooking: Every Dish You Will Ever Need To know และอีกมากมาย

แต่แม้ว่าแรมซีย์จะเป็นที่รู้จักในฐานะเชฟ เเต่เขาก็ทำธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับวงการอาหารด้วยเช่นกัน แรมซีย์เป็นหุ้นส่วนระดับโลกกับ WWRD (Waterford, Wedgwood, Royal Doulton) ซึ่งนำเสนอผลิตภัณฑ์สำหรับบ้านและไลฟ์สไตล์ที่มีคุณภาพ รวมถึงเกมมือถือ Glu Mobile

รางวัลการันตีคุณภาพที่ต้องร่ายยาวเกินกว่าหนึ่งหน้ากระดาษ

เเรมซีย์ได้รับรางวัล James Beard Foundation Awards สองรางวัล ครั้งแรกในปี 2549 สำหรับเชฟที่ดีที่สุดในนิวยอร์กซิตี และครั้งที่สองในปี 2009 สำหรับเชฟดีเด่นดาวมิชลิน ซึ่งเป็นหนึ่งในรางวัลสูงสุดของชีวิตคนในวงการอาหาร และเป็นหนึ่งในความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเขา

รางวัลอื่น ๆ ได้แก่

– เชฟโทรทัศน์จากนิตยสาร GQ

– รางวัล Order Of The British Empire Award (2006) จากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ 2 จากการให้บริการด้านศิลปะการทำอาหาร ทำให้เขาเป็นหนึ่งในเชฟไม่กี่คนที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้

– รางวัลนักเขียนขายดี จากตำราอาหารหลายเล่มของเขา ที่ขายได้หลายล้านเล่มทั่วโลก

รวมถึงรางวัลอื่น ๆ อีกมากมายตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมา

ล่าสุด กับการประกาศเปิดร้านอาหารในไทย 14 สาขา ด้วยความร่วมมือกับ TANACHIRA Group ซึ่งจะได้เห็นร้านอาหารกอร์ดอน แรมซีย์ ปลายปีนี้ก่อน 2 แห่ง ได้เเก่ ร้าน Bread Street Kitchen & Bars ร้านอาหารสไตล์เมืองผู้ดีอังกฤษแบบคลาสสิก

และ Street Pizza ร้านพิซซ่าที่จะมาปฏิวัติวงการพิซซ่าให้เปลี่ยนหน้าไปจากเดิม ณ ใจกลางกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ใน ดิ เอ็มสเฟียร์ ย่านสุขุมวิท เร็ว ๆ นี้

ร้านอาหาร Gordon Ramsay โดดเด่นด้วยการใส่ใจรายละเอียดที่ไล่ไปตั้งแต่การจัดแสงในร้าน ดนตรีพื้นหลัง ดีไซน์ลำดับที่นั่ง รสชาติอาหารที่สม่ำเสมอ วัตถุดิบที่จะรังสรรค์ตามฤดูกาลผลิตผล ความพิเศษของค็อกเทล จบลงด้วยการบริการที่น่าประทับใจตั้งเเต่ก้าวข้ามประตู

อ้างอิง: Gordon Ramsay, Britannica, NationalGeographic, LifestyleAsia, Linkedin

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online