ท่ามกลางข่าวร้อน เมื่อกลุ่มผู้ก่อตั้งบริษัทอมรินทร์ขายหุ้นเกลี้ยงพอร์ต และลาออกจากทุกตำแหน่งในบริษัท เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา

Marketeer มีโอกาสได้สัมภาษณ์ เจรมัย พิทักษ์วงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ AMARIN  Media & Event Business (AME)

AME  เป็นกลุ่มธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงตัวเองมาโดยตลอด และตอนนี้ถือว่าเป็นภาคล่าสุดของ “ห้างหุ้นส่วนจำกัดวารสารบ้านและสวน” ที่ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2519

“ผมใจหายเหมือนกับทุกคน” พอถึงประโยคนี้ น้ำเสียงของเจรมัยเริ่มสะดุด หยุดชะงักไปครู่หนึ่ง ก่อนจะพูดต่อด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า

“ทุกอย่างต้องเดินหน้าต่อ เรายังมีพนักงานอีกมากมายที่ต้องรับผิดชอบ ผมบอกพวกเขาว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ปัญหาแต่เป็นโอกาส”

หลังประกาศข่าวที่น่าตกใจนี้ผู้บริหารกลุ่มหนึ่งได้รับการชี้แจงจากเมตตา อุทกะพันธุ์ และระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์  2 อดีตผู้บริหารระดับสูงว่า

“ไม่ต้องกังวล  บางครั้งนโยบายของผู้ก่อตั้งและผู้ถือหุ้นใหญ่อาจจะไม่ตรงกัน การถอยออกมาเพื่อให้มีเอกภาพในการทำงานน่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า ขอให้ทุกคนเต็มที่กับการทำงานต่อไป”

แน่นอน การขายหุ้นทั้งหมดและการลาออกของกลุ่มครอบครัวผู้ก่อตั้งซึ่งเป็นทีมผู้บริหารหลักไม่ได้เป็นเพราะการบริหารงานผิดพลาดแน่นอน

เพราะในปี 2565 ที่ผ่านมา บมจ. อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด สร้างรายได้และกำไรสูงสุดตั้งแต่ตั้งบริษัทมา 47 ปี คือรายได้รวม 4,274 ล้านบาท กำไร 474.ล้านบาท

รายได้หลักมาจากสื่อใหม่ คือ อมรินทร์ ทีวี ที่ค่อย ๆ ไต่ระดับทำเรตติ้งดีต่อเนื่อง จนมีรายได้ในปี 2565 ถึง 1,816 ล้านบาท กำไร 348 ล้านบาท สูงเป็นอันดับ 6 ในกลุ่มทีวีดิจิทัล

ในส่วนของรายได้ด้านสื่อสิ่งพิมพ์ ถ้ามองกันแค่มิติเดียว เร็ว ๆ หลายคนอาจจะมองว่าเป็นธุรกิจที่ถูกกระทบอย่างหนักจากดิจิทัลดิสรัปชัน

แต่ความจริงก็คือ กลุ่มธุรกิจนี้ได้ดิสรัปต์ตัวเองมานานหลายปีแล้ว และปัจจุบันคือ AMARIN Media & Event Business (AME) ที่สามารถสร้างรายได้ปีละประมาณ 700-800 ล้านบาทต่อปี

เจรมัยอธิบายกับ Marketeer ว่า

“สาเหตุที่ผมใช้ชื่อ AME ไม่ใช้บ้านและสวนกรุ๊ปเพราะอยากให้คนเห็นภาพชัดเจนขึ้น ถ้ายังใช้ชื่อเดิม คนก็จะเห็นแต่ภาพของนิตยสารและต้องคิดว่าวันนี้เราต้องลำบากกันแน่ ๆ เลย”

ย้อนกลับไปดูจุดเปลี่ยนสำคัญของค่ายอมรินทร์ในปี 2543 ได้มีการขยายงานจากนิตยสารไปเป็นงานแฟร์ “บ้านและสวน” เป็นครั้งแรก เพื่อให้ผู้อ่านและผู้ลงโฆษณาสินค้าในนิตยสารมาเจอกัน ไม่มีใครเคยคิดว่าธุรกิจนี้จะเป็นรายได้หลักที่สำคัญที่สุดขององค์กรในเวลาต่อมา

“คือช่วงนั้นธุรกิจที่ทำให้อมรินทร์มั่งคั่งคือการทำนิตยสารที่ขายดีโฆษณาเต็มเล่ม ถ้าอยากมีรายได้เพิ่มก็แค่ขยายหัวเพิ่มไปเรื่อย ๆ แต่เขากลับคิดนอกกรอบ  มาจัดงานแฟร์แล้วก็เห็นโอกาสใหม่ ๆ ว่างานนี้สามารถทำรายได้ได้ดีด้วย”

งานบ้านและสวน ปีแรกมีเพียง 250 บูธ พื้นที่ประมาณ 6,000 ตร.ม. เท่านั้น

ปัจจุบันกลายเป็นงานแฟร์บ้านและสวนใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็น  Cash Cow สำคัญขององค์กร ครั้งล่าสุด (27 ตุลาคม-5 พฤศจิกายน 2566  อิมแพ็ค เมืองทองธานี) มีพื้นที่แสดงสินค้ากว่า 48,000 ตร.ม. จำนวน 2,600 บูธ

ปี 2547 เจรมัย ซึ่งเป็นสถาปนิกอยู่ที่ Aedis Architects San Jose แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ได้เดินทางกลับมาเมืองไทยและมีโอกาสได้เข้าร่วมงานกับกองบรรณาธิการบ้านและสวน

เพียงแค่ 2 ปี ก็ได้รับโอกาสเป็นบรรณาธิการบริหาร กองบรรณาธิการบ้านและสวน คนที่ 3  ต่อจากชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ผู้ก่อตั้ง และ “พี่ป้อง” ประพันธ์ ประภาสะวัต” ที่ขยับขึ้นไปเป็น บรรณาธิการอำนวยการ

“ผมเป็นสถาปนิก ที่ก้าวเข้าสู่เส้นทางสายสถาปัตยกรรม โดยในช่วงวัยเด็กมีหนังสือบ้านและสวน เป็นแรงบันดาลใจสำคัญ ผมชอบดูแปลนบ้าน วาดตาม ชอบถามพ่อเวลาผ่านตึกสูง ๆ ว่าตึกนี้ใครทำ แต่ไม่เคยคิดว่าวันหนึ่งจะมาเป็นเป็น บก. บ้านและสวนนะครับ (หัวเราะ)”

บรรณาธิการ บ้านและสวน  ที่ต้องเข้ามารับผิดชอบงานแฟร์ เปิดโอกาสให้เขาได้เพิ่มเติมในส่วนของนิทรรศการที่ให้ความรู้กับผู้คน พร้อม ๆ กับเพิ่มจำนวนครั้งเป็น 3 ครั้งต่อปี

“ในช่วงทรานส์ฟอร์มองค์กร ต้องไม่ยึดติดกับวิธีคิดเดิม ๆ ผมไม่ได้เรียนวารสาร ไม่ได้จบอักษร ผมเป็นสถาปนิก แต่ทั้งคุณแพรและพี่ป้องไม่เคยห้ามในสิ่งที่ผมมั่นใจว่าทำแล้วดี เป็นการคิดนอกกรอบของคนที่มาใหม่ และได้รับการยอมรับ จนสามารถแตกธุรกิจไปได้มากมาย”

บ้านและสวนเป็นเหมือน Sandbox ที่ทำให้เจรมัยและทีมงานเข้าไปทดลองอะไรใหม่  ๆ เรื่อย

จะว่าไปแล้วหลายธุรกิจใหม่ของอมรินทร์เริ่มต้นที่บ้านและสวน

เช่น นิตยสารเล่มแรกของค่ายอมรินทร์ คือ บ้านและสวน งานแฟร์แรก คือ งานบ้านและสวน ธุรกิจทีวีแรกของอมรินทร์ คือ รายการบ้านและสวน ที่เคยออกทางช่อง 9 สำนักพิมพ์แรก ๆ ก็คือสำนักพิมพ์ บ้านและสวน เช่น เดียวกับเว็บไซต์แรก คือ บ้านและสวนดอทคอม

บ้านและสวนชื่อนี้ไม่มีวันร่วงโรย

นิตยสารบ้านและสวน และงานแฟร์ ทำรายได้ดีต่อเนื่องอยู่หลายปี จนกระทั่งประมาณปี 2553 ดิจิทัลก็เข้ามาดิสรัปต์

“พอมาช่วงหนึ่งคนก็เสพออนไลน์กับโซเชียลเป็นหลัก ในหนังสือ ผมก็ตัดคอลัมน์ที่เป็นข่าวเล็กข่าวน้อยออก เอาไปพูดในโซเชียลอย่างเดียว และทั้งเล่มมีธีมที่น่าสนใจธีมเดียว นิตยสารบ้านและสวนเลยกลายเป็นบุ๊กกาซีน ไม่ใช่แมกาซีนแบบเดิม”

เขาบอกว่า ถ้านิตยสารอยู่ได้คนต้องให้แวลูเหมือนซื้อหนังสือ คำว่านิตยสารดูมีอายุ ดูเป็นวารสารที่ต้องมี Current issue  ซึ่งแน่นอนความเร็วสู้สื่อออนไลน์ไม่ได้ แต่ถ้าเป็นหนังสือจะอยู่ได้ในพีเรียดที่ยาวขึ้น

เจรมัยยอมรับว่าด้วยวิธีการนี้เขายังผลิตบ้านและสวน 12 เล่มต่อปีเหมือนเดิม ยอดขายไม่ได้ตกแต่ยอดรายได้จากโฆษณาลดลงมาก

“เพราะสิ่งพิมพ์ไม่ใช่สื่อโฆษณาที่ดีที่สุด สำหรับแอดเวอร์ไทเซอร์อีกต่อไป เราเถียงไม่ได้ เพราะหลายเรื่องที่เป็น Current issue  คนเขาก็ตามไปอ่านบนออนไลน์หมดแล้ว”

เขายกตัวอย่าง บ้านและสวน ฉบับล่าสุด Techno -Local หัวคิดทันสมัยหัวใจท้องถิ่น ที่เอาความทันสมัยกับวัสดุท้องถิ่นมาผสมกัน ข้างในก็จะเต็มไปด้วยตัวอย่างบ้าน ตัวอย่างสวน ที่เต็มไปด้วย Techno-Local

“หลายคนบอกว่าสื่อสิ่งพิมพ์โดนดิสรัปต์ แต่ภาษาแบบนี้ ชิ้นงานแบบนี้ เราทำอยู่บริษัทเดียว เรา  ยังไงก็อยู่ได้”

ในขณะที่กองบรรณาธิการจะยิ่งใหญ่กว่าเดิมเพราะไม่ได้ทำแค่นิตยสาร แต่ทำทุกอย่าง ทีวี ออนไลน์ บุ๊กกาซีน หนังสือ แล้วก็งานแฟร์

ทั้งหมดคือสิ่งที่มาจากสื่อดั้งเดิมที่ไม่มีวันตาย 

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ภายใต้ธุรกิจ AMARIN  Media & Event Business (AME) ประกอบไปด้วย

AMARIN CREATIVE & EVENT คือ งานรับจ้างจัดงานอีเวนต์ที่มีต้นทุนมาจากความสำเร็จของงานบ้านและสวนทำให้สามารถต่อยอดรับจ้างจัดงานอื่น ๆ อีกหลายงาน ทั้งในส่วนภาครัฐและเอกชน

นิตยสารแพรวก็ยังแข็งแรงคู่กับบ้านและสวน ส่วน National Geographic เป็นความใฝ่ฝันของคุณชูเกียรติที่ต้องการให้ประเทศไทยต้องมี National Geographic ฉบับภาษาไทย

“3 หัวนี้ให้ตายผมก็ไม่เลิกทำ อย่างน้อยถ้าผมยังทำงานอยู่ที่นี่ 3 หัวนี้อย่างไรก็ต้องมี เพราะมันเหมือนมรดกตกทอดที่ผู้ก่อตั้ง คือ คุณชูเกียรติและคุณเมตตาที่เริ่มมาด้วยกัน ผมมั่นใจว่าผมบริหารจัดการได้” 

room เปลี่ยนเป็นออนไลน์อย่างเดียวว่าด้วยการออกแบบที่ทันสมัย

“ชีวจิตถ้ามองว่าคอนเทนต์ดี ๆ ก็ไม่ควรจะหายไปจากเมืองไทยเหมือนกัน เลยยังเป็นนิตยสารอยู่ ตราบใดที่ยังมียอดขายยอดสมาชิกอยู่ก็สามารถจัดการได้”

แพรวสุดสัปดาห์ได้กลายร่างมาเป็น สุดสัปดาห์ ENTERTAINMENT ล่าสุด เป็นทีมจัดงาน “บ้านและสวนคอนเสิร์ตซีรีส์ X บอย โกสิยพงษ์ และธีร์ ไชยเดช ส่วนตัวเล่มจะออกเฉพาะวาระพิเศษเท่านั้น

“เป็นทีมงานที่จัดคอนเสิร์ตเป็นครั้งแรกในชีวิต ผมคิดว่าในยุคดิสรัปชันหมายถึงใคร ๆ สามารถลองทำอะไรที่แปลกใหม่ ไม่เคยทำมาก่อน และอาจจะทำได้ดีกว่าคนที่มีประสบการณ์และจัดมาแล้วหลายครั้งก็ได้  ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นเรื่องเทคโนโลยี หรือ ดิจิทัลเท่านั้น ผมอายุจะ 50 ปีแล้ว มีอะไรหลายอย่างที่ผมทำเป็นครั้งแรกด้วยความมั่นใจว่าถ้าผมทำแบบไม่ดูตัวอย่างเลยอาจจะดีกว่าการทำแบบดูตัวอย่าง”

สรุปนิตยสารที่ยังพิมพ์วางแผงประจำตอนนี้คือ แพรว บ้านและสวน National Geographic ชีวจิต ส่วน room กับสุดสัปดาห์ออกมาในช่วงวาระพิเศษเท่านั้น

นอกจากนั้น ก็จะมีโควิดโปรเจกต์ที่ออกมาช่วงโควิด-19 เป็นออนไลน์อย่างเดียว เช่น Garden & farm บ้านและสวน pet

ส่วนสื่อออนไลน์อื่น ๆ ที่แตกออกมา เช่น กินดี อยู่ดี  Living – ASEAN (เพจของบ้านและสวนและ room ภาคภาษาอังกฤษ) EXPLORERS CLUB เกี่ยวกับการท่องเที่ยว บ้านและสวนทีวี  AMARIN ACADEMY ซึ่งเป็นคล้าย ๆ กับอีเวนต์ จัดอบรม เวิร์กช็อป สัมมนา

ทั้งหมดมีคนทำงานอยู่ประมาณ 200 คน ปี 2566 นี้ตั้งเป้าไว้ที่ 750 ล้านบาท ปีหน้าหวังรายได้ที่ 800 ล้านบาท

ปี 2567 ตามแผนบ้านและสวนแฟร์เตรียมจัดประมาณ 3+1ครั้ง Amarin Baby &Kids  4 ครั้ง สุดสัปดาห์จะมีคอนเสิร์ตที่แบบจัดเองและร่วมกับคนอื่นไม่ต่ำกว่า 6-7 ครั้งต่อปี ส่วนอีเวนต์ ที่รับจ้างจัดให้คนอื่น ตั้งเป้าไว้ที่ 60 ล้านบาทต่อปี

นอกจากรายได้จากสื่อทีวี และ AME อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ ยังมีรายได้จากธุรกิจสำนักพิมพ์ ธุรกิจสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ธุรกิจการพิมพ์ และ ธุรกิจจัดจำหน่ายสื่อสิ่งพิมพ์ รวมทั้ง 2 บริษัทที่อมรินทร์ถือหุ้นร่วม คือ บริษัทคาโดคาวะ อมรินทร์ จำกัด และบริษัทเด็กดี อินเตอร์ แอคทีฟ จำกัด

เจรมัยย้ำว่า

“สิ่งที่เกิดขึ้นผมพยายามพูดคุยกับทีมงานว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้หลาย ๆ อย่างเป็นโอกาสที่จะช่วยเอื้อธุรกิจที่กำลังทำด้วยซ้ำไป อย่างเช่นสถานที่จัดงานแฟร์ หัวใจหลักของ Media & Event Business   เพราะตระกูลสิริวัฒนภักดี เป็นเจ้าของสถานที่ในเมืองต่าง ๆ มากมาย เช่น ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ สามย่านมิตรทาวน์ และอีกหลาย ๆ ตึก”

หรืองาน “Sustainability Expo 2023 ที่มีบริษัทไทยเบฟ และ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ร่วมเป็นสปอนเซอร์หลักก็ได้ให้ทีมงานได้เข้าไปเป็นหนึ่งในออกาไนซ์ เป็นการเปิดโอกาสให้ทีมอีเวนต์ของบ้านและสวนได้แสดงฝีมือและเป็นที่รู้จักของบริษัทต่าง ๆ มากขึ้น”

“ทุกอย่างจบลงด้วยดีครับ ในทุกเดือนคุณเมตตายังเข้ามาสอนธรรมะให้กับพนักงานอมรินทร์ ไม่เปลี่ยนแปลง ประตูหลังบ้านคุณแพรกับบริษัทก็ยังเปิดถึงกันเพื่อให้คุณแพรได้เข้ามาทำความเคารพรูปปั้นของคุณชูเกียรติได้ทุกวัน”

เขาจบประโยคด้วยรอยยิ้มก่อนที่จะชวน Marketeer ไปเดินดู “การปล่อยของ” ในโซนบ้านตัวอย่าง ที่ออกแบบในธีม “Techno-Local” ในงานบ้านและสวนที่เปิดเป็นวันแรก



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online