การศึกษาไม่ได้ให้แค่ความรู้เท่านั้นแต่ยังให้โอกาส ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและการเลื่อนขั้นทางสังคมอีกด้วย ทว่าทั้งหมดจะไม่เกิดขึ้นเลยหากไม่สามารถเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยได้
และถ้ายิ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ ทั้งโอกาส ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและการเลื่อนขั้นทางสังคมย่อมมากขึ้นตามไปด้วย นี่ทำให้การสอบเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยสำคัญต่อชีวิตนักเรียนทั่วโลก รวมไปถึงผู้ปกครองที่อยากให้บุตรหลานไปได้ไกลกว่าตน
หนึ่งในประเทศที่จริงจังเรื่องการสอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกคือ เกาหลีใต้ เพราะมีหลักฐานมากมายยืนยัน เช่น การทุ่มเงินไม่อั้นให้กับการศึกษาของลูก จนเงินในส่วนนี้มากพอ ๆ กับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของบางประเทศ
และในวันสอบที่จัดพร้อมกันหมดทั้งประเทศก็แทบหยุดนิ่งเพื่อหลีกทางให้กับวันเปลี่ยนชีวิตของบุตรหลาน แต่ก็มีด้านมืด เพราะสร้างความเครียดให้เยาวชน จนกลายเป็นปัญหาสังคมมาอย่างยาวนาน
ความมุ่งมั่นจนอาจเรียกได้ว่าหมกมุ่นทางการศึกษาของเกาหลีใต้ สืบย้อนไปได้ไกลถึงยุคที่ยังปกครองโดยราชวงศ์โครยอและต่อเนื่องมาถึงราชวงศ์โชซอน ซึ่งได้อิทธิพลมาจากลัทธิขงจื๊อของจีนทำให้มีจัดสอบเป็นขุนนางเพื่อเลื่อนขั้นทางสังคมหรือกวาเกียวขึ้น
หลังสิ้นสงครามเกาหลีที่แยกเกาหลีออกเป็นเหนือและใต้ ประเทศหลังก็พัฒนาขึ้นตามลำดับ และการสอบเลื่อนที่สืบเนื่องมาจากกวาเกียวก็ยังมีอยู่ โดยในแวดวงการศึกษาได้มีการจัดสอบเข้ามหาวิทยาลัยพร้อมกันทั่วประเทศหรือ ซูนึงขึ้นครั้งแรกในปี 1993
ยุค 90 เกาหลีใต้ยังถือว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนา และอยู่นอกสายตาในเวทีโลก แต่หลังเจอวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียปลายยุค 90 ก็มีการปรับองคาพยพของประเทศครั้งใหญ่ โดยเน้นไปที่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมบันเทิงต่าง ๆ
ปรากฏว่าแนวทางดังกล่าวที่ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อการแผ่อิทธิพลผ่านอำนาจอ่อน (Soft power) เพื่อผลักดันการส่งออก โปรโมตประเทศและกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นได้ผล ช่วยเศรษฐกิจเกาหลีใต้ขยายตัว และเปลี่ยนเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นด้วย
เมื่อชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นครอบครัวชาวเกาหลีใต้ก็พร้อมทุ่มให้การศึกษาของลูกมากขึ้น โดยในปี 2011 โรงเรียนกวดวิชาหลังเลิกเรียนโตขึ้นอย่างมาก
และการไปเรียนเสริมหลังเลิกเรียนจนดึกดื่นก็กลายเป็นกิจวัตรของนักเรียนประเทศนี้ ซึ่งหากสืบย้อนไปสาเหตุหลักก็เพื่อเตรียมพร้อมให้บุตรหลานสู่การสอบซูนึงนั่นเอง
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้ที่ขณะนั้นนำโดยประธานาธิบดี ลี เมียงบัก ต้องสั่งจำกัดเวลาเรียนเสริมหลังเลิกเรียนให้เหลือแค่ 4 ทุ่ม พร้อมจัดระเบียบโรงเรียนกวดวิชาทั้งระบบ
การสอบซูนึงในเกาหลีใต้หลังจากนั้นก็ยังคงแข่งขันกันสูง โดยเฉพาะการแย่งเข้าไปเรียนใน 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำ คือ โซล ยอนเซ และโคเรีย ที่เรียกรวมผ่านตัวย่อแรกในภาษาอังกฤษว่า SKY
เรื่องนี้ถูกนำมาตีแผ่ผ่านหนังสารคดี Reach for the SKY ในปี 2015 ซึ่งคำว่า SKY สื่อถึงทั้งลักษณะสูงสุดเอื้อมจึงต้องพยายามอย่างมากและชื่อเรียกของ 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำนั่นเอง
และในปีเดียวกันยังมีรายงานว่าอาชีพครูกวดวิชาถือเป็นอาชีพที่ทำเงินอย่างมากของเกาหลีใต้ โดยติวเตอร์ดัง ๆ บางคนสามารถทำเงินเป็นกอบเป็นกำจากคอร์สติวออนไลน์
นี่ทำให้ ณ เวลาดังกล่าว เกาหลีใต้มีสัดส่วนผู้เรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยสูงสุดในกลุ่มประเทศองค์กรเพื่อความร่วมมือและพัฒนา (OECD) และคะแนนประเมินนักเรียนนานาชาติ (PISA) ก็อยู่ในลำดับต้น ๆ ของโลก แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้ความเครียดในการเรียนต่อเนื่องของนักเรียนเป็นปัญหาสังคม
การเรียนต่อเนื่องของนักเรียนทำให้เรื่องเรียนคือเหตุที่ทำให้เยาวชนเกาหลีใต้เครียดมากที่สุด และโชคร้ายที่บางส่วนทนไม่ไหวจนคิดสั้น ซึ่งส่งผลสืบเนื่องให้เกาหลีใต้มีการฆ่าตัวตายสูงสุดในประเทศสมาชิก OECD
ปี 2022 ปัญหาสังคมที่สืบจากการศึกษายังฝังรากลึก และเริ่มบานปลายกลายเป็นความเหลื่อมล้ำ โดยครอบครัวชาวเกาหลีใต้ที่มีกำลังทรัพย์ทั่วประเทศทุ่มให้การศึกษาของลูกเพิ่มเป็น 20,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 700,000 ล้านบาท) ซึ่งใกล้เคียงกับ GDP ของเฮติและไอซ์แลนด์เลยทีเดียว
มาปีนี้ประเด็นดราม่าในเกาหลีใต้ที่สืบเนื่องมาจากแวดวงการศึกษาและการสอบซูนึงก็มีออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น เมื่อช่วงกรกฎาคม ที่รัฐบาลสั่งตัดคำถามเพชฌฆาตยากเกินไปออกจากข้อสอบซูนึง เพื่อลดความเครียดของนักเรียนและการที่ผู้ปกครองทุ่มเงินส่งลูกเรียนกวดวิชา
ต่อมาช่วงกันยายนครูได้รวมตัวประท้วงให้รัฐบาลออกมาตรการปกป้องจากการคุกคามของเด็กนักเรียนและผู้ปกครอง หลังมีเพื่อนร่วมอาชีพฆ่าตัวตาย อันเกิดจากมองครูเป็นลูกจ้างที่ต้องทำงานให้คุ้มค่าแรงมากมายที่จ่ายไป
ถัดมาช่วงตุลาคมก็มีรายงานว่า วัยรุ่นและวัยเริ่มต้นทำงานที่หมดอาลัยตายอยากไม่ไปเรียน หางานหรือฝึกอบรมใด ๆ (Not in Education Employment and Training – NEET) ในเกาหลีใต้ยังเพิ่มขึ้น
ล่าสุดวันนี้ (16 พฤศจิกายน) การสอบซูนึงประจำปีก็จัดขึ้นตามศูนย์สอบ 2,520 แห่งทั่วประเทศ และผู้สมัครสอบ 504,088 คน โดยยังเป็นวันที่เครื่องบินทั่วประเทศระงับการขึ้นบินลงจอดช่วงสอบฟังภาษาอังกฤษ
ตลาดหุ้นเปิดช้า ระบบขนส่งมวลชนเพิ่มรอบ และตำรวจพร้อมพานักเรียนไปส่งยังสถานที่สอบ
ขณะที่พ่อแม่ก็ไปบนบานตามศาลเจ้าเพื่อให้ลูกสอบติด และนักเรียนรุ่นน้องก็ไปรวมตัวให้กำลังใจรุ่นพี่ตามศูนย์สอบจนเรียกได้ว่าเป็นวันที่ประเทศหยุดนิ่งเพื่อทุ่มสรรพกำลังและร่วมมือกันช่วยให้นักเรียนไปเข้าสอบได้ ไม่ต่างจากทุกปีที่ผ่านมา
แต่ก็มีอย่างหนึ่งที่แย่ลง เพราะจำนวนนักเรียนที่เข้าสอบลดลงไปจากปี 2022
นี่จึงกล่าวได้ว่าหากอยากลดปัญหาสังคมที่เกิดจากวงการศึกษาที่การสอบซูนึงเป็นเหตุนั้น รัฐบาลเกาหลีใต้อาจต้องทำมากกว่าการตัดคำถามเพชฌฆาต แล้วตามด้วยนโยบายต่าง ๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยหากทำสำเร็จปัญหาสังคมมากมายก็ลดลงตามไปด้วย/ cnn, bbc, wikipedia, koreaherald
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ