JKN สร้างเงินจากหนังภารตะ สู่ผู้ถือสิทธิ์ Miss Universe แต่วันนี้ต้องขอฟื้นฟูกิจการ

การจัดประกวด Miss Universe ยังคงดำเนินต่อไป แม้ผู้ถือสิทธิ์อย่าง JKN จะอยู่ในสภาวะขอฟื้นฟูกิจการ จากปัญหาสภาพคล่องทางธุรกิจ ไม่สามารถชำระเงินหุ้นกู้ครั้งที่ 2/2563 รุ่น JKN239A ที่ครบกำหนดคืนเงินต้นและดอกเบี้ย 609.98 ล้านบาทตามกำหนดเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 ได้

และถ้ารวมหุ้นกู้อื่น ๆ อีก 6 รุ่น ที่มีกำหนดระยะเวลาชำระจนถึงปี 2568 ที่JKN ออกหุ้นกู้เพื่อระดมทุนขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น การเข้าซื้อหุ้น ไฮช้อปปิ้ง ในสัดส่วน 51% มูลค่า 24.90 ล้านบาท รวมถึง Miss Universe เป็นต้น

ทำให้ใน 1 ปีต่อจากนี้ JKNมียอดหุ้นกู้ที่ต้องไถ่ถอนในหนึ่งปี 3,196 ล้านบาท ไม่รวมหนี้สินอื่น ๆ

สิ่งที่เกิดขึ้นจึงสร้างความไม่เชื่อมั่นให้กับนักลงทุนจนทำให้หุ้นJKNปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยพุ่งทะยานในช่วงซื้อ Miss Universe Organization ในปีที่ผ่านมา

แม้ผลประกอบการในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 JKNยังมีรายได้ 2,359.44 ล้านบาท และยังคงมีกำไร 115.47 ล้านบาท แต่เป็นกำไรที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา

ส่วนหนึ่งมาจากการขาดทุนของการจัดการสิทธิ์ Miss Universe ที่จัดงานเป็นครั้งแรก

9 เดือนแรกปี 2566 JKN มีรายได้จากการจำหน่ายลิขสิทธิ์ให้กับประเทศต่าง ๆ เพื่อจัดประกวดหาตัวแทนเข้าร่วมประกวด Miss Universe 303.46 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายในการจัดงาน โฆษณา และบริหาร ทั้งหมด 533.11 ล้านบาท

และการขาดทุนของธุรกิจบริการโฆษณาที่ขาดทุน 60.72 ล้านบาท

จากขาธุรกิจหลัก 4 ขาธุรกิจ ได้แก่

ธุรกิจให้บริการและจัดจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์

ธุรกิจบริการโฆษณา

ธุรกิจขายผลิตภัณฑ์

ธุรกิจขายและให้บริการจัดการลิขสิทธิ์

ก่อนหน้าที่JKNจะเข้าซื้อ Miss Universe Organization มูลค่า 20 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 800 ล้านบาท ในวันที่ซื้อ พร้อมการจัดดำเนินงานประกวด ขยายสิทธิ์ไปยังธุรกิจอื่น ๆ นอกเหนือจากการประกวด พร้อมกับการลงทุนอื่น ๆ จนขาดสภาพคล่อง

ในอดีตJKNเกิดจากธุรกิจจำหน่ายสินค้า เช่น DVD Box Set, เสื้อยิ้มให้พ่อ น้ำดื่มตราภัทร์ ในชื่อ บริษัท เอสทีจีซีพี จำกัด ที่ก่อตั้งในปี 2556 เพื่อรองรับธุรกิจครอบครัวที่ทำในชื่อบริษัท เอสทีจี มัลติมีเดีย จำกัด

และปรับเปลี่ยนตัวเองไปธุรกิจอื่น เช่น อสังหาริมทรัพย์ ก่อนที่จะมาลงตัวในธุรกิจรับซื้อสิทธิ์คอนเทนต์ต่าง ๆ มาทำตลาดในประเทศไทยในปี 2557 ภายใต้ชื่อบริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

โดยสิทธิ์คอนเทนต์ที่สร้างรายได้และชื่อเสียงให้กับJKNเป็นที่รู้จักและสร้างรายได้กลับมาอย่างน่าสนใจ คือคอนเทนต์ประเภทซีรีส์อินเดีย ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในเวลาต่อมา จนซีรีส์อินเดียจากJKNถูกซื้อต่อไปฉายตามช่องต่าง ๆ จำนวนมาก เช่น ช่อง 3 ช่อง 8 และไบรท์ทีวี เป็นต้น

จนJKNขยายต่อไปยังคอนเทนต์จากประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย เช่น ฟิลิปปินส์ จีน เกาหลีใต้ เข้ามาเสริมรายได้

ในปี 2560 รายได้ของJKNมาจากกลุ่มคอนเทนต์เอเชียทั้งหมดมากถึง 751.05 ล้านบาท จากรายได้ของคอนเทนต์ทั้งหมด 1,218.74 ล้านบาท

พร้อมพาตัวเองสู่บริษัทมหาชนเป็นครั้งแรกผ่านตลาด MAI (Market for Alternative Investment) ซึ่งเป็นตลาดรองเพื่อระดมทุน ในปี 2560

และเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2563 เพื่อนำเงินที่ระดมทุนได้ขยายธุรกิจไปในรูปแบบที่หลากหลาย

รวมถึงการเข้าซื้อช่อง New18 จากกลุ่มเหตระกูล 1,000 ล้านบาท เปลี่ยนชื่อช่องเป็น JKN18 ในปี 2564

เข้าซื้อกิจการของ Miss Universe Organization ในปี 2565

จนปัจจุบัน JKN มีธุรกิจจำนวนมากในมือทั้งไทยและต่างประเทศ แต่ด้วยสภาพคล่องทางการเงินที่ไม่พอทำให้ไม่มีความสามารถในการชำระเงินกู้ที่ครบวันไถ่ถอน

ทำให้JKNต้องยื่นเรื่องต่อศาลล้มละลายเพื่อขอฟื้นฟูกิจการ และศาลรับคำร้องเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 เพื่อชะลอการชำระหุ้นกู้ออกไป

แต่อย่างไรก็ดี ถึงแม้วันนี้JKNจะต้องยื่นเรื่องฟื้นฟูกิจการ บนผลประกอบการกำไรที่ลดลง และยังคงค้างหนี้หุ้นกู้อยู่จำนวนมาก แต่ถ้ามองในวันนี้JKNยังมีสินทรัพย์มากกว่าหนี้สิน จากสินทรัพย์รวม 12,437.72 ล้านบาท และหนี้สินรวม 7,625.39 ล้านบาท ที่ยังคงเป็นหลักประกันให้กับJKNได้

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online