SME Think Tank/ดร. เกษม พิพัฒน์เสรีธรรม
สังคมสูงวัย (ตามคำจำกัดความของกรมกิจการผู้สูงอายุ) คือ สังคมที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุ หรือประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวนมาก ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในระยะเวลา 2-3 ปีนี้เช่นกัน โดยมีประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปร้อยละ 10 หรือมากกว่า 7 ล้านคน และมีการคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2567 สัดส่วนจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นไปถึงร้อยละ 20-30 แสดงว่าประชากรทุก ๆ 100 คน จะพบผู้สูงอายุ 30 คน
อายุของคนไทยจะยืนยาวขึ้น ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 75 ปี แต่ในปี 2568 อายุของคนไทยโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 85 ปี ยิ่งอายุยืนขึ้นก็จะพบปัญหาต่าง ๆ เช่น
ค่าครองชีพที่แพงขึ้น ด้วยเงินเฟ้อในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 4% เงินเฟ้อทำให้ของแพงขึ้น ทำให้ค่าเงินในอนาคตลดลงด้วย
ค่ารักษาพยาบาลมีแต่แพงขึ้นปีละ 5-8% ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะเบียดเบียนเงินเก็บของผู้สูงวัยมากที่สุด
โครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลง ยิ่งครอบครัวยุคใหม่มีลูกคนเดียวมากขึ้น จำนวนประชากรวัยทำงานก็มีน้อยลง การพัฒนาประเทศก็จะช้าลง ทำให้เศรษฐกิจก็จะโตช้าลงด้วย
เงินเก็บหลังเกษียณไม่เพียงพออีกต่อไป ปัญหานี้อาจจะน่ากลัวที่สุด ลองคิดง่าย ๆ ถ้าเราอายุ 40 ปี ต้องการเงินใช้หลังเกษียณปีละ 240,000 บาทของมูลค่าเงินในปัจจุบัน หากต้องการเกษียณอายุ 60 ปี หรือ อีก 20 ปี จากเงิน 240,000 บาทที่จะต้องมี จะกลายเป็นเงิน 530,000 บาท เนื่องจากเงินเฟ้อ 4% และหากต้องการมีเงินใช้ไปจนสิ้นอายุไข 80 ปี หรือ อีก 20 ปี ทำให้อาจจะต้องมีเงินขั้นต่ำ 10 ล้านบาท
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ
เมื่อโครงสร้างประชากรเปลี่ยนไป สัดส่วนผู้สูงอายุมากขึ้น ขณะที่มีวัยทำงานเท่าเดิม หรือลดลง ส่งผลให้แรงงานขาดแคลน และส่งผลทำให้ค่าแรงสูงขึ้น ปัจจุบันหลายกิจการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานโดยใช้เครื่องมือเครื่องจักรหรือนำเทคโนโลยีเข้ามาทดแทน หรือการนำเข้าแรงงานต่างชาติมากขึ้น
การลงทุนทำธุรกิจในประเทศไทยก็จะยากขึ้น เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ตัวเลขการลงทุนต่างประเทศ Outward FDI ของบริษัทใหญ่ ๆ ในเมืองไทยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนในประเทศในอาเซียน พูดง่าย ๆ คือ จำเป็นต้องไปหากินต่างประเทศที่มีแรงงานมากและค่าจ้างเหมาะสมและสามารถแข่งขันได้
ด้านผลผลิตหรือรายได้ประชาชาติ สัดส่วนผู้สูงอายุมากขึ้น ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติลดน้อยลง และรายได้เฉลี่ยต่อบุคคลลดลง รวมถึงคุณภาพการผลิตลดลง
ด้านการลงทุนและการออม เมื่อวัยสูงอายุหรือวัยเกษียณขาดรายได้หรือมีรายได้น้อยลงทำให้มีการออมลดลง ในขณะที่วัยทำงานต้องรับภาระมากขึ้นทำให้มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจึงส่งผลให้มีเงินออมน้อยลง และเงินลงทุนลดลง สำหรับภาครัฐบาลจำเป็นต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการมากขึ้นเพื่อบริการสังคม ด้านสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ ต้องเพิ่มงบประมาณรายจ่ายเพื่อสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ยากไร้และการเก็บภาษีรายได้น้อยลง
หากจะพูดถึงผลกระทบของสังคมสูงวัยคงมีอีกหลายด้าน และทำให้ผู้อ่านที่เป็น สว. (สูงวัย) ทำหน้าเหมือนเบื่อโลก เข้าทำนองว่า แก่แล้วไม่มีอะไรดีสักอย่าง
ในเมื่อหนีความจริงไม่พ้นก็จำเป็นต้องรับสภาพและปรับตัวเอง ซึ่งตัวช่วยที่สำคัญในเรื่องนี้ คือ เทคโนโลยีอาจจะไม่ต้องเป็นไฮเทคโนโลยี แต่ขอให้เป็นเทคโนโลยีที่ผู้สูงวัยใช้ได้เหมาะสมและสามารถทำให้มีชีวิตที่สุขสบายขึ้น
ปัจจุบันโทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องมือพื้นฐานในการเข้าถึงและใช้เทคโนโลยีราคาก็ไม่แพงมากเกินความสามารถของผู้สูงวัยที่จะเข้าถึง
สำหรับผู้สูงวัยที่ปฏิเสธเทคโนโลยีนอกจากจะตามโลกไม่ทัน และยังทำให้ไม่ได้สัมผัสประโยชน์ต่าง ๆ ที่เทคโนโลยีช่วยท่านได้ เช่น ทำให้ชีวิตประจำวันสะดวกสบายขึ้น
ปัจจุบันโทรศัพท์มือถือที่เป็น Smartphone มีแอปพลิเคชันมากมายที่ผู้สูงวัยสามารถหัดใช้ให้เป็นประโยชน์ ทั้งการสั่งงานเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ การดูแลสุขภาพ การออกกำลังกาย การติดต่อแพทย์ผ่านระบบทางไกลแบบ Tele Medical หรือแม้กระทั่งการซื้อยา (ตามคำสั่งแพทย์) ผ่านโทรศัพท์มือถือ
ความสะดวกสบายทางการเงิน สามารถฝากถอน โอนเงิน จ่ายค่าสาธารณูปโภค ผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือซื้อสินค้าจ่ายค่าบริการต่าง ๆ แต่ข้อนี้จำเป็นต้องระมัดระวังในการใช้ เพราะพวกมิจฉาชีพมักใช้เป็นช่องทางโจมตีผู้สูงวัย (และไม่สูงวัย) หลอกโกงเงิน เป็นคดีความให้เห็นกันอยู่เสมอ
ช่วยให้ผู้สูงวัยสามารถติดต่อสื่อสารกับครอบครัวมิตรสหายได้สะดวก ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปมาหาสู่กัน ช่วยให้สภาพจิตใจดีไม่รู้สึกเหงาแม้จำเป็นต้องอยู่คนเดียว
ช่วยให้สามารถหาความรู้ความบันเทิง ดูภาพยนตร์ ฟังเพลง เล่นเกมต่าง ๆ ได้ง่ายตามใจต้องการ ไม่ทำให้มีเวลาว่างมากเกินไปจนทำให้มีโอกาสคิดวุ่นวาย
ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น ค่าใช้จ่ายเดินทาง การบริการต่าง ๆ เพราะหลายเรื่องเหล่านี้สามารถทำได้ด้วยตนเองผ่านเครื่องมือและเทคโนโลยีง่าย ๆ
ช่วยทำให้รู้ว่าตนเองยังมีคุณค่า ไม่ตกสมัย ไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ซึ่งเรื่องนี้สำคัญที่สุดที่ทำให้ผู้สูงวัยอยากมีชีวิตอยู่อย่างยืนยาวและเป็นประโยชน์กับตนเองและสังคมรอบข้าง
กล่าวโดยสรุป หากผู้สูงวัยสามารถใช้เทคโนโลยีพัฒนาตนเองได้ก็จะช่วยให้ตนเองและสังคมดีขึ้น ลดปัญหาผลกระทบที่กล่าวไปข้างต้นได้อย่างมาก
เมื่อตระหนักถึงประโยชน์แล้วทำอย่างไรให้ผู้สูงวัยเรียนรู้การใช้เทคโนโลยี
รัฐบาลและสังคมต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้พอ ๆ กับเรื่อง soft power ที่แห่ตามกระแสกันอยู่ในปัจจุบันต้องจัดให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติบ้างกระมัง
การจะสอนเทคโนโลยีให้ผู้สูงวัยควรเริ่มจาก
- ชี้ให้เห็นคุณประโยชน์ของเทคโนโลยีตามที่ผมได้กล่าวไว้ข้างต้น ที่สำคัญไม่ควรชี้ให้เห็นเทคโนโลยีหรือประโยชน์ที่ไกลตัวผู้สูงวัยเกินไป เช่น เรื่องดาวเทียม ควอนตัม อะไรทำนองนี้
- ต้องอธิบายให้เข้าใจและใช้เป็นถึงระบบความปลอดภัยของเทคโนโลยีที่ต้องการสอนให้ผู้สูงวัยใช้ เช่น ระบบ รหัสผ่าน (password) การเปิดเผยข้อมูลสำคัญ ข้อมูลส่วนตัว การแก้ไขปัญหา หรือการขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหาเหล่านี้ พูดง่าย ๆ คือต้องขจัดความกลัวเทคโนโลยีให้อยู่ในระดับที่ยอมรับและเต็มใจเปิดใจเรียนรู้
- ต้องใจเย็น อดทน ในการสอนผู้สูงวัยให้เรียนรู้การใช้เทคโนโลยี ต้องทำซ้ำ ๆ แสดงให้ดูและให้ผู้สูงวัยได้ลงมือทำด้วยตนเอง แม้จะช้า แต่ต้องพยายามให้เขาทำได้เองจนสำเร็จ เพราะจะทำให้เขาเกิดความภูมิใจ และจำได้แม่นยำกว่าการจดบันทึก หรือ การได้ดูเพียงอย่างเดียว
- ควรให้เรียนเป็นกลุ่มหรือมีเพื่อนช่วยกันเรียน เพราะทำให้ผู้สูงวัยสามารถเรียนรู้จากเพื่อนในวัยเดียวกัน ไม่อาย ไม่รู้สึกผิดคนเดียวเมื่อเรียนรู้ไม่ทัน และช่วยให้เกิดสังคมเครือข่ายออนไลน์ของเพื่อนในวัยเดียวกันอีกด้วย
- ต้องอธิบายแนวคิด แนวทางการใช้เทคโนโลยีที่สอดคล้องเหมาะสมกับวิถีการดำเนินชีวิตของผู้สูงวัย สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- แนะนำเทคโนโลยีและเครื่องมือในการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมทั้งวิธีการใช้และงบประมาณค่าใช้จ่ายของผู้สูงวัยนั้น ๆ
- แนะนำแอปพลิเคชัน หรือแหล่งข้อมูล แหล่งบริการต่าง ๆ ที่เหมาะสมและไม่มีค่าใช้จ่ายให้ผู้สูงวัยได้ใช้ให้เป็นประโยชน์ เพราะผู้สูงวัยส่วนใหญ่จะไม่มีรายได้มากและไม่สามารถหารายได้เพิ่มเติมได้ง่าย
บทความตอนนี้เขียนจากหัวใจคนสูงวัย (ที่ยังมีพาวเวอร์อยู่เต็ม) และไม่อยากให้พวกเราที่ทำประโยชน์ให้ตนเอง ครอบครัว คนรอบข้าง สังคม ประเทศชาติมานานหลายฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาว ถูกมองว่าล้าหลังหรือถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
คนเราจะสูงวัยก็อยู่ที่เราทำตนเองให้สูงวัย
ทั่วโลกก็เต็มไปด้วยคน (สูง) วัยเดียวกัน เพราะฉะนั้นต้องช่วยกันใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์กระชากวัยให้ทันคนหนุ่มสาวเป็นคนสูงวัยไม่โลว์เทคครับ
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ