ลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกที่เคยเปรียบเสมือนลิขสิทธิ์ “ทองคำ”ณ เวลานี้ได้เสื่อมมนต์ขลังลงไปอย่างน่าใจหาย จากในอดีตที่ใครๆ ต่างก็สู้ยิบตาเพื่อให้ได้ครอบครอง

แต่ตอนนี้ ไม่มีทีวีดิจิทัลช่องไหนกล้าหยิบมาทำธุรกิจ รวมไปถึงบริษัทเงินหนาอย่าง ทศภาค บริษัทในเครือของ “เสี่ยเจริญ” เองก็เลือกที่จะหมางเมินแต่ก็เฝ้ารอดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

เพราะค่าลิขสิทธิ์บอลโลก 2018 ที่จะถ่ายทอดสดช่วงวันที่ 14 มิ.ย.-15 ก.ค.2018  ณ ประเทศรัสเซียถูกบริษัท อินฟรอนท์สปอร์ต เจ้าของลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดในภูมิภาคเอเชีย ตั้งค่าสินสอดอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท

เหตุผลหลักๆ มีอยู่ 2 ข้อ ที่กลุ่มทีวีดิจิทัลเบือนหน้าหนี

  1. กฎ MUST HAVE ของ กสทช.ที่บังคับให้ฟุตบอลโลกเป็น 1 ใน 7 รายการที่ต้องออกอากาศทางฟรีทีวี ซึ่งนั่นหมายความว่า ใครที่คว้าลิขสิทธิ์ไปกับเงินลงทุน 1,000 ล้านบาทจะหารายได้จากค่าโฆษณาเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถเรียกเก็บเงินจากผู้ชมได้เลย
  2. ค่าสิขสิทธิ์ที่อัพราคาสูงขึ้นจากในอดีตอยู่ที่หลักร้อยล้าน แต่สำหรับฟุตบอลโลก 2018 คือ 1,000 ล้านบาท (ยังไม่รวมภาษี 15% และค่าใช้จ่ายอื่นๆ) คาดว่าถ้าใครได้ไปต้นทุนประมาณ 1,500 ล้านบาท

บอลโลก 2018

ราคาที่ทำธุรกิจไม่ได้

ใครๆ ก็ไม่เอา

หากดูค่าลิขสิทธิ์เฉลี่ยต่อนัด ฟุตบอลโลก 2018 ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าราคาถูกอัพให้แพงขึ้นต่อ 1 แมตซ์การแข่งขันอยู่ที่ 15 ล้านบาทเลยทีเดียวหากเทียบกับฟุตบอลโลก 2014

เป็นราคาที่ใครๆ ก็มองว่าจำนวนเงินที่ต้องควักกระเป๋าตังค์จ่ายเป็น “ราคาทางตัน” ไม่สามารถนำไปต่อยอดทำกำไรได้เลย อีกทั้งยังต้องระแวงว่าเมื่อซื้อลิขสิทธิ์ราคาแสนแพงนี้ “เรตติ้ง” ในการรับชมถ่ายทอดสดจะมีมากน้อยแค่ไหน

เพราะยุคนี้ผู้ชมมีทางเลือกมากมายทั้งดูย้อนหลังในออนไลน์ หรือแม้แต่จะดูถ่ายทอดสดทั้งแบบถูกกฏหมายจนไปถึงรับชมแบบละเมิดลิขสิทธิ์​

จึงทำให้เห็น อาร์เอส อดีตเจ้าของลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกในไทย หันหลังให้อย่างไม่แยแส อีกทั้งช่อง 3 เองแม้จะเคยเสนอราคาซื้อลิขสิทธิ์จาก บริษัท อินฟรอนท์สปอร์ต เจ้าของลิขสิทธิ์ในเอเชีย แต่ก็ถูกปฎิเสธอย่างไม่ใยดี พร้อมกับบอกว่าราคาที่เสนอมาถูกเกินความเป็นจริง

ถึงจะมีกระแสให้ยกเลิกกฎ Must Have เพื่อเปิดโอกาสให้ช่องไหนหรือบริษัทเอกชนรายใด เข้ามาลงทุนด้วยการทำให้ฟุตบอลโลกอยู่ในระบบ Pay TV ให้ผู้ชมจ่ายค่าสมาชิก และก็ยังขายโฆษณาได้อีก เพราะถึงอย่างไร ฟีฟ่า ก็บังคับอยู่แล้วว่าใน 64 แมตซ์การแข่งขันผู้ที่ได้รับสิทธิ์จะต้องถ่ายทอดสดฟรีทีวี 22 คู่

แต่นั่นก็ยังไม่ได้ทำให้ อาร์เอส, ช่อง 3, ทศภาค และบริษัทอื่นๆ มองเห็นเม็ดเงินกำไรจากดีลฟุตบอลโลก 2018 แม้ครั้งนี้จะแข่งขันกันที่รัสเซียซึ่งถือเป็นเวลาไพร์มไทม์ในบ้านเรา ที่คนจะเกาะหน้าจอทีวีสร้างเรตติ้งสูง ซึ่งจะทำให้แบรนด์สินค้ายอมควักเงินซื้อโฆษณาได้ง่ายกว่าช่วงเวลาอื่นๆ อีกทั้งช่วงเวลานี้ยังสามารถจัด Event ได้หลายรูปแบบเพื่อให้คนออกมาเชียร์บอลนอกบ้าน

บอลโลก 2018

สุดท้ายมูลค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2018 ที่ถูกตั้งไว้ 1,000 ล้านบาทจะมองเหลี่ยมไหน จะระดมจัดกิจกรรมการตลาดแบบเต็มสตรีม ก็ยังเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่จะหา “จุดคุ้มทุน” ทำให้สุดท้ายไม่มีใครกล้า “เสี่ยง” แม้ก่อนหน้านี้มีข่าวว่า “ทีวีพูล” จะเป็นผู้รับผิดชอบการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก แต่แล้วก็ยังไม่ชัดเจน

จนมาถึงความคืบหน้าล่าสุดคือหาก “ทีวีพูล” ไม่เล่นในเกมนี้ก็จะต้องเป็น กสทช.เป็นเจ้าภาพซื้อลิขสิทธิ์ให้คนไทยได้รับชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก

หากเป็นอย่างนั้นจริง คงต้องถึงเกมที่ กสทช.ต้องมานั่งคิดแล้วว่าจะยื่นข้อเสนอให้แก่กลุ่มฟรีทีวีอย่างไร ในการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2018 ? เพื่อให้ตัวเองเจ็บตัวน้อยที่สุด

เพราะปัญหาจริงๆ ไม่ได้อยู่ที่กฎ Must Have ที่ กสทช. เคยขีดเขียนไว้ แต่อยู่ที่ค่าลิขสิทธิ์ที่ทะยานไปไกลเกินกว่าที่ใครจะหยิบมาต่อยอดสร้างกำไรได้

เพราะเป็นเกมที่ใครๆ ก็มองว่าขาดทุนตั้งแต่กรรมการยังไม่เป่านกหวีดให้เริ่ม “แข่งขัน”

บอลโลก 2018


อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online