เกมการแข่งขันด้วยการนำคลื่นมาเป็นจุดขายในการสื่อสาร สร้างภาพลักษณ์ ที่พร้อมกับการตลาดต่อยอดไปยังแพคเก็จที่นำเสนอ เพื่อดึงดูดลูกค้าใหม่เข้ามาในระบบ และรักษาลูกค้าเก่าให้เปลี่ยนใจอัพไซส์แพคเก็จ

ได้กลายเป็นกลยุทธ์ที่ เอไอเอส ดีแทค ได้นำเป็นกลยุทธ์เรียกลูกค้าในช่วงเวลาเดียวกัน

โดยเอไอเอส ผ่าน Next G ชื่อบริการเน็ตเวิร์คที่ของเอไอเอส ที่ผสมผสานระหว่างเทคโนโลยี 4G และ Wifi เข้าด้วยกัน เพื่อให้ความเร็วในการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายเอไอเอส ได้สูงถึง 1Gbps

และดีแทค ผ่าน Dtac – Turbo ชื่อบริการบนคลื่น 2300 MHz ที่ดีแทคได้จากการเช่าคลื่นที่มีอยู่เดิมของ ทีโอที มาให้บริการ ในระยะเวลา 8 ปี

การที่ ทั้ง 2 โอเปอเรเตอร์นำคลื่นเป็นจุดขายในการแข่งขัน มาจากการมองเห็นเทรนด์การใช้งานดาต้าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของคนไทย

โดยปัจจุบันคนไทยใช้งานดาต้าผ่านมือถือโดยเฉลี่ย 8.4GB ต่อเดือน และส่วนใหญ่จะใช้ในการดาวน์โหลดดาต้ามากกว่าอัพโหลด เช่นการดูยูทูป และคลิปต่างๆ

เมื่อวัดจากการใช้งานดาต้าของคนไทย ส่วนใหญ่จะใช้ไปกับโซเชียลมีเดีย ซึ่งอัตราการใช้งานโซเชียลมีเดียของคนไทยที่ใช้งานเป็นประจำทุกวันสามารถแจกแจงได้ดังนี้

Facebook 75% Youtube 72% Line 68% Facebook Messenger 55% Instagram 50% Google 45% Twitter 38% Skype 22% LinkedIn 18% Pinterest 17% WhatsApp 17% Wechat 17% ที่มา : ดีแทค, 2561

 

เมื่อคนไทยพร้อมใช้ดาต้ามากขนาดนี้ เรามาดูกันว่า ทั้ง 2 โอเปอเรเตอร์ แข่งขันกันอย่างไร

 

ดีแทค งานนี้เรามีนาย 2300

เชื่อว่า การได้เช่าคลื่น 2300 MHz จำนวนความจุ 60 MHz จาก TOT ถือเป็นหนึ่งในเกมที่ช่วยให้ดีแทค สามารถพลิกสถานการณ์ด้านเครือข่ายให้กลับมาได้ในไม่ช้า

เพราะหลังจากการเซ็นสัญญาเช่าคลื่นจบสิ้น ดีแทคก็เปิดเกม ขยายเครือข่าย 2300MHz ด้วยเทคโนโลยีใหม่อย่างทันที

โดยในวันเปิดตัวเครือข่าย 2300MHz ดีแทค ได้ขยายเสาสัญญาณได้มากถึง 400-500 สถานีฐาน ในกรุงเทพบางพื้นที่ ก่อนที่จะขยายให้ครบ 37 จังหวัด ตามพื้นที่ที่มีการใช้งานหนาแน่นเป็นหลัก ภายในสิ้นปี

การขยายเครือข่าย 2300 MHz ของดีแทค มากับกลยุทธ์การขยายการใช้งานดาต้าให้เพิ่มสูงขึ้น ผ่านแพคเก็จหลักและแพคเสริม โดยมี นาย ณภัทร เสียงสมบุญ เป็นพรีเซ็นเตอร์ ด้วยงบการตลาด500 ล้านบาท

ซึ่งการได้นายเป็นพรีเซ็นเตอร์คลื่น 2300 MHz ปัญญา เวชบรรยงรัตน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานพาณิชย์ คาดหวังว่าจะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของดีแทค ให้เป็นคนเมืองรุ่นใหม่ ที่มีไลฟ์สไตล์ดิจิทัล เพราะคลื่น 2300 MHz ในปัจจุบันยังให้บริการในปีนี้ยังคงกระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือสูง

ซึ่งต่างจากยุคที่ดีแทคใช้อั้ม พัชราภา เป็นพรีเซ็นเตอร์สื่อถึงความลื่นไหลของคลื่นดีแทคทั่วประเทศ จากภาพลักษณ์อั้ม พัชราภา มีความเป็นแมส ที่มีแฟนคลับจำนวนมากทุกรุ่นทุกวัยตั้งแต่เด็กถึงผู้สูงวัย โดยเฉพาะแฟนคลับต่างจังหวัด

นอกจากการสร้างภาพลักษณ์ ปัญญายังเชื่อว่าจะสามารถผลักดันให้ลูกค้าดีแทคที่ใช้งานแพคเก็จรายเดือนที่ใช้งานแพคต่ำๆ หรือแพค Go No Limit ซึ่งเป็นแพคเก็จที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตไม่มีวันหมด แต่จะจำกัดความเร็วในการใช้งานอินเทอร์เน็ตตามแพคเก็จที่เลือก ให้หันมายอมจ่ายเงินซื้อแพคเก็จเสริม หรือเปลี่ยนแพคเก็จหลักเป็นแพคเก็จที่มีราคาสูงขึ้น เพื่อให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ลื่นไหลกว่าเดิม

เขายอมรับว่าปัญหาของดีแทคที่ผ่านมา มีลูกค้าดีแทค บางส่วนมองว่าเครือข่ายของดีแทค ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร มาจากการซื้อแพคเก็จที่มีราคาเหมาจ่ายต่อเดือนไม่สูงมาก ซึ่งเป็นแพคเก็จที่จำกัดความเร็วของอินเทอร์เน็ตต่ำจนเกินไป ทำให้ไม่สามารถดูคลิปวิดีโอในความละเอียดปานกลางหรือสูงได้

และกลยุทธ์นี้ยังรวมถึง การรักษาฐานลูกค้าพรีเพดซึ่งเป็นตลาดที่ดีแทคทำได้ไม่ดีเท่าไรนัก เนื่องจากเป็นตลาดที่มีการแข่งกันสูง บนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่สามารถเปลี่ยนเบอร์ ย้ายค่ายไปใช้บริการคู่แข่งอย่างง่ายดาย

เพราะจากการสำรวจของดีแทคพบว่า ผู้ใช้โมบายอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมีมากถึง79% เป็นลูกค้าเติมเงิน ซึ่งถ้าดีแทคไม่สามารถรักษาลูกค้าเติมเงินให้อยู่ในระบบได้ดีนัก การเติบโตด้านยอดผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตก็จะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

แต่การจะไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ ปัญหาอีกประการหนึ่งของดีแทคคือ คลื่น 2300 MHz เป็นคลื่นที่สมาร์ทโฟนบางรุ่นไม่รองรับการใช้งาน โดยมีลูกค้าดีแทคเพียง 70% เท่านั้น ที่มีสมาร์ทโฟนรองรับการให้บริการบนคลื่น 2300 MHz

ทางออกของดีแทค คือการมอบส่วนลดโปรโมชั่นออนท็อป 2,300 บาท ให้กับลูกค้าที่จะซื้อมือถือใหม่ให้รองรับคลื่น 2300 MHz 10,000 เครื่อง โดยใช้งบประมาณส่วนลดค่าเครื่องทั้งสิ้น 23 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบที่แยกออกมาจากงบการตลาดทั้งหมด

และในอนาคตยังมีการปรับแพคเก็จครั้งใหญ่ให้มีความคุ้มค่ามากขึ้น เพื่อดึงลูกค้าที่อยู่กับดีแทคระยะยาว เพราะความคุ้มค่ากว่าคู่แข่ง

แต่ Dtac Turbo จะมัดใจลูกค้าได้แต่ไหน คงต้องดูกันต่อไป เพราะในสิ้นปี 2560 ดีแทคมีลูกค้าทั้งสิ้น 22.7 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็น ลูกค้าเติมเงิน 17 ล้านเลขหมาย ลูกค้ารายเดือน 5.6 ล้านเลขหมาย โดยแบ่งเป็นลูกค้าที่ใช้งานสมาร์ทโฟน 73% และมีรายได้จากการให้บริการข้อมูล 43.6 พันล้านบาท เติบโต 67.2%

มีแพคเก็จรายเดือนที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือแพคเก็จ 599 บาท

และการเปิดตัว Dtac Turbo จะเพิ่มผู้ใช้งาน 4G จากปัจจุบัน 8.5 ล้านเลขหมาย หรือ 39% ของลูกค้าดีแทคทั้งหมด เป็น 11.9 ล้านเลขหมาย หรือ 55% ของฐานลูกค้ารวมตามที่คาดหวังในสิ้นปีได้หรือไม่ ในเมื่อคู่แข่งอย่างเอไอเอสก็ปล่อยหมัดเด็ดไม่แพ้กัน

 

เอไอเอส Next G  แบมแบม GOT7 และ คุณหลวง ผลิต ไม่พอ ต้องแอป ด้วย

นับตั้งแต่สิงหาคม 2560 ที่เอไอเอสเปิดตัวเครือข่าย Next G เครือข่ายที่ควบรวมความเร็วระหว่าง 4G และ Wifi เข้าด้วยกัน เพื่อให้บริการลูกค้า ด้วยความเร็วสูงสุด 1Gbps

เอไอเอสได้พบปัญหาคือมีสมาร์ทโฟนที่รองรับเครือข่าย Next G เพียงไม่กี่รุ่น และเป็นสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ในรุ่นไฮเอนด์เท่านั้น

สิ่งที่ทำให้เป็นเช่นนั้นเพราะเทคโนโลยี Next G เป็นเทคโนโลยีที่นำความเร็วของ 4G และ Wifi มาบวกรวมกันเพื่อให้ความเร็วในการใช้งานที่เพิ่มสูงขึ้น เช่น 4G ในพื้นที่ที่ใช้บริการมีความเร็ว 100 Mbps และ AIS Wifi ที่ให้บริการในพื้นที่นั้นมีความเร็ว 200 Mbps ลูกค้าที่ใช้เครือข่าย Next G จะสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็ว 300 Mbps

ซึ่งบริการในรูปแบบนี้ มีเพียงเกาหลี และตุรกี ที่ให้บริการเท่านั้น ส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือว่าเอไอเอส เป็นรายแรก ทำให้เอไอเอส ต้องจับมือกับแบรนด์สมาร์ทโฟนปรับเฟิร์มแวร์ ซึ่งเป็นซอฟท์แวร์หลังบ้านร่วมกันทีละรุ่นจนสเถียร์ก่อนที่จะเปิดให้ลูกค้าเอไอเอสอัพเกรดเพื่อใช้งาน Next G

เพราะถึงแม้สมาร์ทโฟนอย่างซัมซุงในประเทศเกาหลีจะรองรับเทคโนโลยีรูปแบบนี้ แต่โรงงานที่ผลิตสมาร์ทโฟนซัมซุงที่จำหน่ายในประเทศไทย กับโรงงานที่ผลิตส่งป้อนให้ตลาดเกาหลีเป็นคนละโรงงานกัน ทำให้ เฟิร์มแวร์ ของสมาร์ทโฟนซัมซุงของทั้ง 2 โรงงานเป็นเฟิร์มแวร์คนละตัวกัน

ที่ผ่านมา การขยายตัวด้านผู้ใช้งานจึงไม่สามารถเติบโตในระดับแมสได้

เมื่อเอไอเอสมองเห็นถึงปัญหา ได้เปิดเกมด้วยการแก้ไขโดยการพัฒนาแอปพลิเคชั่น Next G เพื่อเข้าไปปรับแต่งสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์เวอร์ชั่น 7.0 ขึ้นไปที่ไม่รองรับการใช้งาน เครือข่าย Next G ที่มีอยู่มากถึง 15 ล้านเครื่องในตลาดไทยให้สามารถโหลดแอปมาติดตั้งและใช้งานเครือข่าย Next G ได้

การเปิดตัวของ AIS Next G App เอไอเอส จึงเป็นกลยุทธ์ที่เอไอเอสใช้ความเร็วของคลื่น และพรีเซ็นเตอร์อย่างแบมแบม GOT7 และเป๊ก ผลิตโชค แข่งขันกับคู่แข่งได้อย่างน่าสนใจ

เพราะนอกจากเอไอเอสสามารถสร้างการเติบโตด้านรายได้จากบริการ Next G มากขึ้น ด้วยแพคเก็จที่ครอบคลุมบริการบนเครือข่าย Next G จะเป็นแพคเก็จระดับราคา 799 บาท ขึ้นไปสำหรับผู้ใช้บริการรายเดือน และแพคเก็จเสริมราคาเริ่มต้น 89 บาท ต่อวัน

เอไอเอสยังได้ภาพลักษณ์การเป็นผู้นำตลาดในฐานผู้นำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง และเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ที่นำเสนอผ่านพรีเซ็นเตอร์รุ่นใหม่ อย่างแบมแบม GOT7 และเป๊ก ผลิตโชคซึ่งมีแฟนคลับซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่จำนวนมาก

และการที่เอไอเอส เลือกใช้แบมแบม GOT7 และเป๊ก ผลิตโชค นอกจากจะเป็นการสร้างการรับรู้ การจดจำ และ ดึงคนรุ่นใหม่จำนวนมากให้เข้ามาใช้เครือข่าย Next Gen แล้ว ยังสามารถปรับภาพลักษณ์โดยรวมให้กับเอไอเอส ให้มีความรุ่นใหม่มากขึ้น อีกด้วย

ในวันนี้ อาจจะมี เอไอเอส ดีแทค ที่ออกกลยุทธ์คลื่น ที่มีพรีเซ็นเตอร์มาแข่งขันกันอย่างชัดเจน เพียง 2 แบรนด์ แต่อย่าลืมว่าในตลาดโอเปอเรเตอร์ ยังมีทรูมูฟ เอชอีกเจ้า ที่มีจุดเด่นที่คลื่นครบทุกความถี่ และถ้าทรูมูฟ เอช ออกมาร่วมผสมโรงอีกแรง ความสนุกสนานในการแข่งขันนี้ คงเข้มข้นขึ้นกว่านี้อย่างแน่นอน

 


อ่านคอนเทนต์การตลาด อ่าน MarketeerOnline

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online