ไขมันทรานส์ กลายเป็นผู้ร้ายที่สังคมกำลังจับตามองหลังจากกระทรวงสาธารณสุขประกาศห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย เนื่องจากเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยให้บังคับใช้หลัง 180 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจนุเบกษาเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 61 ที่ผ่านมานั้น

เจ้าตัวร้ายนี้เป็นไขมันชนิดหนึ่งที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหาร ช่วยให้อาหารอร่อย เก็บได้นานขึ้นโดยไม่มีกลิ่นหืนของน้ำมัน มักจะพบได้ในกลุ่มของขนมและเบเกอรี่

ข้อมูลจาก บ.เซ็นทรัล เรสเตอรอง กรุ๊ป (ปี 2560)

เรื่องนี้อาจจะเป็น “ปัญหา” สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย แต่สำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่บางรายกลายเป็น “นาทีทอง” ที่จะสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคเพิ่มขึ้น แต่รายใดถ้าปรับตัวได้ช้าก็จะสร้างผลเสียกับองค์กรในระยะยาวเช่นกัน

ในช่วง 4-5 วันที่ผ่านมา แบรนด์ด้านธุรกิจฟาสต์ฟู้ด เบเกอรี่ และค้าปลีก เริ่มทยอยส่งข่าว PR ไปตามสื่อต่างๆอย่างต่อเนื่องเพื่อยืนยันว่าสินค้าของตัวเองปราศจากไขมันทรานส์

เอส แอนด์ พี ได้โอกาสตอกย้ำแบรนด์

เอส แอนด์ พี เจ้าของร้านอาหาร เบเกอรี่และขนมชื่อดัง ที่มีรายได้ในปีที่ผ่านมาประมาณ 8 พันล้านบาท โดย 50 % ของรายได้มาจากขนมเค้กและเบเกอรี่  ลูกค้าส่วนใหญ่คือกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางถึงสูง ซึ่งให้ความสำคัญและใส่ใจในเรื่องสุขภาพมากกว่าลูกค้ากลุ่มอื่นๆ ทำให้มีคำถามที่ส่งเข้ามาในช่องทางโซเชียลของบริษัท และถามผ่านพนักงานหน้าร้านสาขาต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้บริหารตัดสินใจแถลงข่าวเมื่อเช้าวันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมาแทนที่จะเป็นวันจันทร์ที่ 23 ก.ค. ตามกำหนดเดิม

กำธร ศิลาอ่อน กรรมการผู้จัดการใหญ่สายการผลิตและการเงิน บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในช่วงประมาณ 5-6 วันที่ผ่านมา ยอดขายขนมปังและเบเกอรี่ของบริษัทไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่การชี้แจงครั้งนี้จะทำให้ลูกค้าและพนักงานทั้ง 4 พันคนของบริษัทได้เข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน

เอส แอนด์ พี ได้ตื่นตัวในเรื่องนี้มานานเกือบ 10 ปี ตั้งแต่องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้กำหนดให้ไขมันทรานส์นั้น ต้องติดอยู่ในฉลากที่แสดงโภชนาการที่คนทั่วไปสามารถเห็นได้  และมีการตรวจสอบเข้มข้นมากตั้งแต่เมื่อ 5 ปีก่อน โดยเฉพาะในปีที่ผ่านมา เพราะรู้ดีว่าเรื่องสุขภาพเป็นเทรนด์ที่มาแรงมาก

สิ่งที่เอส แอนด์ พี ทำคือมีการตัดวัตถุดิบที่มีความเสี่ยงออกไป รวมทั้งได้ขอความร่วมมือกับคู่ค้าขอให้เลิกใช้ไขมันทรานส์ในวัตถุดิบแต่ละชนิด และมีหลักฐานยืนยันจากคู่ค้าทุกราย และยังส่งไปวิเคราะห์ซ้ำเพื่อให้มั่นใจได้ว่า ไขมันทรานส์ เป็น 0 กรัมต่อ 1 เสิร์ฟ

นั่นหมายถึงผลิตภัณฑ์ของเอส แอนด์ พี ทุกรายการ “ไม่มีส่วนประกอบของน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญของไขมันทรานส์”

นอกจากนั้นเอส แอนด์ พีได้ระบุข้อมูลโภชนาการไว้อย่างชัดเจนบนฉลากผลิตภัณฑ์เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐด้วย

เคเอฟซี ปรับตัวมาตั้งแต่ปี 2015

แววคนีย์ อัสโสรัตน์กุล ผู้จัดการทั่วไป เคเอฟซี ประเทศไทย บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ชี้แจงมาว่า ในฐานะร้านอาหารบริการด่วนที่มีสาขามากที่สุดในประเทศไทย ขอยืนยันว่า บริษัท ยัม! แบรนด์ ยกเลิกการจำหน่ายอาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันทรานส์มาตั้งแต่ปี 2015 โดยได้ทำงานร่วมกับคู่ค้าผู้จำหน่ายวัตถุดิบทุกรายในการเลิกใช้ส่วนผสมที่สามารถทำให้เกิดไขมันทรานส์ออกไป

นอกจากนี้ เคเอฟซี ประเทศไทย ยังใช้น้ำมันปาล์มซึ่งเป็นน้ำมันที่ไม่มีไขมันทรานส์ในการประกอบอาหารเมนูไก่ทอดและเมนูอื่นๆ ของร้านด้วย  

พิซซ่าฮัท ทุกเมนู ทุกหน้า ยืนยัน ปราศจากไขมันทรานส์  

ไม่ว่าจะเป็นแป้งหนานุ่ม แป้งบางกรอบ ขอบชีส หรือขอบไส้กรอกชีส  ยืนยันมาโดย อุษณา มหากิจศิริ กรรมการ บริษัท พีเอช แคปปิตอล จำกัด ว่า พิซซ่าฮัทเป็นแบรนด์ชั้นนำที่มีชื่อเสียงระดับโลก จึงมีนโยบายใช้วัตถุดิบชั้นดีมีคุณภาพสูง มีรสชาติที่ดีมานาน  

ขนมปังและ เบเกอรี่ แบรนด์เทสโก้ ปรับสูตรใหม่แล้ว

สลิลลา สีหพันธุ์  ประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เทสโก้ โลตัส ได้ร่วมทำงานเพื่อปรับและพัฒนาสูตรกับผู้ผลิตสินค้าเพื่อให้เบเกอรี่อบร้อนและขนมปังแบรนด์เทสโก้ ทั้งหมดปราศจากไขมันทรานส์ 

อย่างไรก็ตาม ถึงแบรนด์รายใหญ่จะรีบออกมาแถลงข่าวสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในเรื่องความปลอดภัยและไม่มีการปรับราคาขึ้น  แต่ภาพรวมของอุตสาหกรรมนี้ต้องได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะความกังวลของผู้บริโภค ในขณะเดียวกันกลุ่มที่ระวังเรื่องสุขภาพก็อาจเปลี่ยนไปทานอาหารอย่างอื่นแทน 

แต่ในขณะเดียวกันยังมีอยู่อีกตลาดหนึ่งที่อาจจะไม่กระทบมากนัก เช่น แบรนด์เบเกอรี่ต่างๆ ที่ขายในคอนวีเนียนสโตร์  ร้านเล็กๆ ที่เปิดเป็นคีออส ร้านขนมริมทาง ร้านที่ขายผ่านออนไลน์ เพราะผู้บริโภคอาจจะไม่ได้ให้ความสนใจกับเรื่องของสุขภาพมากเท่าที่ควร แต่ซื้อเพราะให้ความสำคัญกับเรื่องอื่นๆ มากกว่า เช่น ราคาไม่แพง หาซื้อสะดวก มีโปรโมชันกระตุ้นต่างๆ  

ซึ่งตรงจุดนี้เป็นเรื่องที่รัฐต้องเข้าไปประชาสัมพันธ์ และให้ความสำคัญในการตรวจสอบเช่นกัน เพราะนับวันอุตสาหกรรมเบเกอรี่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากพฤติกรรมของคนในเมืองที่รีบเร่ง และต้องการความสะดวกสบาย รวดเร็ว ในการรับประทานอาหาร 

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน