แม้ไม่ใช่คอสินค้าเทคโนโลยีก็คงพอสังเกตเห็นว่า ราว 3 ปีมานี้ Smartphone แบรนด์จีน มีพัฒนาการน่าสนใจ ทั้งในเรื่องคุณภาพและภาพลักษณ์ในระดับสากล ยืนยันได้จากการที่แบรนด์ Made in China เป็นขาประจำของการจัดอันดับ Gadget ประเภทนี้ ยอดขายมากสุดในโลก 5 อันดับแรกมาหลายไตรมาส โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญของความสำเร็จครั้งนี้ คือสามารถครองตลาดอินเดียได้ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว

เป็นความสำเร็จที่ส่งสัญญาณว่าอีกไม่นานจีนคงขึ้นมาเป็นมหาอำนาจด้านสินค้าเทคโนโลยีจากเอเชียตะวันออกประเทศต่อไป ถัดจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ 

แรงสั่นสะเทือนเริ่มที่ขึ้นเมื่อปลายปี 2017  

หลายไตรมาสมาแล้วที่ Samsung กับ iPhone สลับกันครองตำแหน่ง Smartphone ยอดขายสูงสุดในโลก แต่เริ่มมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น โดยตามข้อมูลของ IDC บริษัทที่ปรึกษาและสำรวจตลาดสินค้าเทคโนโลยีสัญชาติอเมริกัน ระบุว่าไตรมาส 2 ปีนี้ แม้แบรนด์ดังเกาหลีใต้ยังคือเบอร์หนึ่ง ด้วยยอดขาย 71.5 ล้านเครื่อง พร้อมส่วนแบ่ง 20.9% แต่ก็เป็นส่วนแบ่งตลาดที่ลดลง 10.4% จากไตรมาสดังกล่าวของปีก่อน

Smartphone แบรนด์จีน Huawei

ขณะเดียวกันแบรนด์เจ้าของตำแหน่งที่ 2 ก็เปลี่ยนจาก iPhone มาเป็น Huawei ที่ครองยอดขาย 54.2 ล้านเครื่อง คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 15.8% เพิ่มขึ้น 40.9% ตามกรอบเวลาเดียวกัน

แต่หากย้อนกลับไปในไตรมาสสุดท้ายของปี 2017 ได้มีความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญ และส่งผลกระทบเกี่ยวเนื่องกันเกิดขึ้น ซึ่งตัวแปรสำคัญคือ Smartphone แบรนด์จีน 

จากข้อมูลของ IDC ชี้ว่าในไตรมาสนั้น iPhone กับ Samsung คือแบรนด์ Smartphone ยอดขายสูงสุดในโลก 2 อันดับแรก หลังขายได้ 77.3 ล้านเครื่อง และ 74.1 ล้านเครื่องตามลำดับ โดยแบรนด์หลังครองส่วนแบ่งตลาด 18% ลดลงจากไตรมาสนี้ของปี 2016 อยู่ 4.4% ซึ่งส่วนสำคัญมาจากการที่ Xiaomi คว้าอันดับที่ 4 ด้วยยอดขาย 28.1 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้นถึง 96.9% ตามกรอบเวลาเดียวกัน

Smartphone แบรนด์จีน

ตลาดที่สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในไตรมาสนั้น คืออินเดีย เพราะ Xiaomi ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ด้วยส่วนแบ่งตลาด 26.2% เบียด Samsung เจ้าของส่วนแบ่งตลาด 24.2% ลงที่ 2

และต่อมาในไตรมาสแรกปีนี้ แบรนด์จากการก่อตั้งของ หลี่ จุน ยังรั้งแชมป์ไว้ได้ ด้วยส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 30.3% ตามด้วยแบรนด์เกาหลีใต้เจ้าของส่วนแบ่งตลาด 25.1% ซึ่งหากรวมกับส่วนแบ่ง 7.4% ของ Oppo (อันดับ 3) และ 6.7% ของ Vivo (อันดับ 4) ส่วนแบ่งของ Smartphone แบรนด์จีนจะมากถึง 44.4%

Smartphone แบรนด์จีน Oppo

Made in China คว้าส่วนแบ่งมากสุดแดนภารตะ หลังเดินหน้าไม่หยุด

มีหลายเหตุผลที่ทำให้ Smartphone แบรนด์จีนโตต่อเนื่องในอินเดีย สำหรับในส่วนของ Xiaomi ได้วางแผนรุก “แดนภารตะ” ตั้งแต่ปี 2014 อย่างเป็นระบบ

เริ่มจากการสร้างโรงงานจนปัจจุบันมีมากถึง 6 แห่ง เพื่อลดต้นทุนในการผลิต ลดภาษีนำเข้า และปฏิบัติตาม Made in India ของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดิ ส่งผลให้สามารถผลักดันสินค้าที่ราคาเข้าถึงได้ออกสู่ตลาด และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อปานกลาง ซึ่งเป็น กลุ่มเป้าหมายหลักได้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังเพิ่มการรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness) และทุ่มงบประชาสัมพันธ์ผ่านหนังโฆษณาที่มี Katrina Kaif นักแสดง Bollywood ชื่อดังเป็น Brand Ambassador ไปพร้อมกับทยอยผลักดันสินค้าอื่นๆ ของ Xiaomi อย่าง Tablet, Notebook Computer และกล้องถ่ายรูปสำหรับกิจกรรมที่มีความเคลื่อนไหวสูง (Action Camera) ออกสู่ตลาด        

Smartphone แบรนด์จีน Xiaomi

ด้าน Oppo คว้าอันดับ 3 ในไตรมาสแรกปีนี้ของอินเดียด้วยการแตกแบรนด์ลูก ออกเป็น Realme เพื่อจับตลาดคนรุ่นใหม่ที่ชอบ Smartphone และ Oneplus เพื่อจับกลุ่มผู้บริโภคกำลังซื้อสูง

ความท้าทายที่รออยู่เบื้องหน้ามีมากกว่าการรั้งแชมป์

2 ไตรมาสมาแล้วที่ Xiaomi คว้าแชมป์ในอินเดีย พร้อมพา Smartphone แบรนด์จีนสู่ขาขึ้น แต่ในอนาคตต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่า Smartphone แบรนด์จีนจะยังครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของโซน Top 5 ได้ต่อหรือไม่

เพราะความท้าทายที่รออยู่ คือ การทุ่มสุดตัวของ Samsung เพื่อทวงบัลลังก์อันดับ 1 การเจาะตลาดชาวอินเดียที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งมีอยู่ราว 234 ล้านคนให้ได้ และการจูงใจให้อีก 300 ล้านคนที่ยังใช้สัญญาณ 2G เปลี่ยนมาใช้ Smartphone 3G ของแบรนด์ตน

รวมถึงการพัฒนา Mobile Device ที่รองรับระบบ 4G หรือ 5G เตรียมไว้ เพราะตลาด Smartphone อินเดียมีแนวโน้มที่จะขยายตัวอีกมาก ท่ามกลางการขยายเครือข่ายโทรคมนาคม และสงครามราคาของค่ายโทรคมนาคมที่ยิ่งทวีความดุเดือด ทั้งที่ปัจจุบันอินเดียเป็นประเทศที่มีค่าบริการ Mobile Internet ถูกมากอยู่แล้ว เพียงเดือนละ 149 รูปี หรือราว 76 บาทต่อเดือน เท่านั้นก็ตาม /nikkei, cnn, forbes, idc, wikipedia

 

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online